ASTVผู้จัดการรายวัน-"นวยนิ่ม"ยันไม่รื้อคดีอุ้มฆ่า "เอกยุทธ" ขึ้นมาสอบสวนใหม่ตามคำร้องขอของ "วัชระ" เพชรทอง" ชี้กระบวนการอยู่ในขั้นตอนของศาล อำนาจสอบสวนของตำรวจหมดแล้ว ระบุหากคดีไม่สมบูรณ์ อัยการจะสั่งให้มีการสอบเพิ่มเติมแน่ วงในเผยส่ออุ้มทีมสอบสวนชุด "คำรณวิทย์" ที่ได้สรุปคดีอย่างรวดเร็ว ด้าน "วัชรพล"เผยรื้อคดีได้ ถ้ามีหลักฐานใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา14.00น.วานนี้ (4มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการรอง ผบช.น. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมคดีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่ถูกอุ้มฆ่า โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง
พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า คดีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่มีกระแสข่าวออกมาเป็นจำนวนมาก ต้องขอทำความเข้าใจว่าการรื้อคดีใหม่ คือ การมโน ความรู้สึก ซึ่งวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 มีคำสั่งเด็ดขาดว่าไม่ฟ้อง ต่อมามีหลักฐานใหม่ที่สำคัญ อาจจะเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ จากการสอบสวนผู้ต้องหาบางรายรับสารภาพ แปลว่า ยังไม่รื้อคดีใหม่ ที่ผ่านมาทีมสืบสวนได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6 รายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล เบื้องต้นได้ตรวจสอบทั้งในและนอกระบบตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมมาธิการในสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทีมทนายความ และสื่อมวลชน หรือประชาชนทั่วไป ที่ให้ความสนใจกับคดีนี้ หากคดีนี้ไม่สมบูรณ์ ทางพนักงานอัยการ จะสั่งให้สอบเพิ่มเติมแน่นอน
ทั้งนี้ การเรียกมาประชุมเพื่อรื้อคดีมี 2 ข้อ คือ 1.เพื่อเตรียมการนำพยานไปเบิกความต่อศาล ซึ่งไม่สามารถจะไปสอบปากคำพยานเพิ่มเติมได้ เพราะคดีหมดอำนาจสอบสวน อยู่ในขั้นตอนของศาล 2.เกิดมีช่องทางใดที่จะสามารถจับผู้ต้องหาได้มากกว่านี้ พร้อมที่จะดำเนินการ ถ้าหากมีหลักฐานเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว พร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนทันที
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การรื้อคดีการเสียชีวิตของนายเอกยุทธขึ้นมาตรวจสอบใหม่ ทางสำนักงานกฎหมายและคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ตำรวจนครบาลไม่จำเป็นต้องขออำนาจจากตนในการรื้อคดี เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่าหากมีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดว่ามีใครยื่นหลักฐานใหม่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ขอให้รื้อคดีนี้ขึ้นมาสอบสวนอีกครั้ง จากนั้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สอบสวนคดีนี้ใหม่ แต่หากพบพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็สามารถให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนคดีนายเอกยุทธขึ้นมาใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการไม่รื้อคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธขึ้นมาสอบสวนใหม่ เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อผลการสืบสวนสอบสวนของชุดสอบสวนเดิมที่ได้ทำไว้ เพราะได้มีการสรุปคดีไปแล้ว
สำหรับคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2556 โดยญาติได้เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ว่านายเอกยุทธได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. หลังจากนั้นวันต่อมาได้โทรศัพท์ติดต่อพี่สาวให้นำเช็กเงินสดจำนวน 5 ล้านบาทไปให้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนายเอกยุทธไม่ได้มารับเอง แต่เป็นคนขับรถที่มารับ ก่อนหายตัวไปและติดต่อไม่ได้
ต่อมาญาติได้เดินทางไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดของบริษัท ย่านทาวอินทาวน์ อันเป็นบริษัทและที่พักของเอกยุทธ เพื่อตรวจสอบภาพของเอกยุทธครั้งล่าสุด แต่ระบบเซิฟเวอร์ของกล้องวงจรปิดได้ถูกถอดออกไป ญาติจึงเกรงว่าเอกยุทธอาจถูกลักพาตัว จึงเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ก่อนที่จะเดินทางมาร้องเรียนดังกล่าว เพื่อให้ช่วยติดตามตัวเอกยุทธเพิ่มอีกทางหนึ่ง
สาเหตุของการหายตัวไปในครั้งนั้น ญาติเชื่อว่า มาจากประเด็นความแย้งส่วนตัวที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งกรณีที่นายเอกยุทธ ฟ้องหมิ่นประมาทพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น กับพวกรวม 5 คน กรณีทำร้ายร่างกายกันที่ร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังมีเรื่องที่นายเอกยุทธเป็นผู้เปิดเผยว่าได้พบเห็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ว่าไปพบปะกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายคน ทั้งที่อยู่ในเวลาราชการ อันเป็นข่าวครึกโครมอื้อฉาว และในครั้งนั้นนายเอกยุทธก็ได้ถูกทำร้ายร่างกายด้วย
จากนั้น อีก 2 วันต่อมา นายสันติภาพ เพ็งด้วง ซึ่งเป็นผู้ต้องสังสัย เพราะเป็นคนขับรถของนายเอกยุทธที่อยู่ด้วยก่อนจะหายตัวไป และเป็นผู้ที่ไปรับเช็ค 5 ล้านบาทที่สนามบินสุวรรณภูมิแทนนายเอกยุทธ ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้หลังจากไปกบดานที่บ้านเกิดที่จังหวัดพัทลุง ได้กลับคำให้การจากตอนแรกที่บอกว่านายเอกยุทธได้เดินทางไปประเทศพม่า โดยแยกทางกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยอมรับสารภาพในเวลาต่อมาว่าได้เป็นผู้สังหารนายเอกยุทธเพื่อชิงทรัพย์ เพราะโกรธแค้นที่นายเอกยุทธไล่แฟนสาวออกจากที่ทำงานก่อนหน้านั้น โดยทิ้งศพไวั้ที่เขาจิงโจ้ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
หลังจากที่มีการพบศพ และมีการสืบสวนสอบสวน ท้ายที่สุด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ผบช.น. ในขณะนั้น ก็ได้แถลงสรุปปิดคดีว่าเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือนครึ่ง ก็สามารถสรุปสำนวนส่งให้อัยการส่งฟ้อง ในข้อหาฆ่าชิงทรัพย์ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คน คือ นายสันติภาพ คนขับรถ นายสุทธิพงศ์ พิมพิสาร ผู้ต้องหาที่ซ่อนตัวภายในรถตู้ของนายเอกยุทธ นายชวลิต วุ่นชุม , นายทิวากร เกื้อทอง ผู้ที่นำศพไปฝังที่สวนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง จ.ส.อ.อิทธิพล และนาง จิตอำไพ เพ็งด้วง พ่อแม่ของนายสันติภาพ ที่นำเงินสดของนายเอกยุทธไปซ่อน ท่ามกลางเสียงคัดค้าน โดยมีข้อโต้แย้ง ทั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งเสียงท้วงติงจากพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่เป็นผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกยุทธเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ในฐานะเป็นนักธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองไทย ในฐานะเจ้าของเว็บไซต์ ไทยอินไซต์เดอร์ ซึ่งนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดจนการแสดงทัศนะส่วนตัวผ่านเฟซบุ๊คและมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลทางการเมืองและข้าราชการไทย