xs
xsm
sm
md
lg

จากนายกฯ คนใหม่ (ของอินเดีย) ถึง คสช.

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในขณะที่ผมยังคิดไม่ตกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีในสถานการณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนในเฟซบุ๊กของผมก็ได้โพสต์เรื่องนายกรัฐมนตรีอินเดียคนใหม่ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งในวันพรุ่งนี้ (26 พฤษภาคม 2557)

ถ้าเรารู้จักการเรียนรู้ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนรวมทั้ง คสช.ด้วย แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่ทราบว่า คสช.จะแต่งตั้งใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้านายกฯ คนใหม่ (ของไทย) รู้จักคิดก็สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอให้เสียเวลา ให้เสียโอกาสที่มีอำนาจอยู่ในมือแล้วแต่ไม่ได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์

ในตอนท้ายผมจะเสนอว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยควรจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ขอพูดเรื่องนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดียก่อนครับ

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดียคนนี้ชื่อ นายนเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) เป็นนายกฯ คนที่ 14 หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2490 และนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เกิดหลังจากประเทศได้รับเอกราช ปัจจุบันเขาอายุ 63 ปี อ้อเขามาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดครับ

สำหรับคนทั่วไปความน่าสนใจของนายกฯ อินเดียคนใหม่นี้อาจจะอยู่ที่เขาได้เชิญนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถานเพื่อเข้าร่วมพิธีสำคัญดังกล่าว ทั้งๆ ที่ปากีสถานเป็นประเทศที่เคยทำสงครามกับอินเดียมาแล้วถึง 3 ครั้งนับจากปี 2490 เป็นต้นมา

แต่สำหรับผมแล้ว ความน่าสนใจของท่านผู้นี้อยู่ที่นโยบายพลังงานแสงอาทิตย์ของเขาครับ

สาระที่เพื่อนผมส่งมาให้มาจากบทความที่ชื่อ “โมดิต้องการที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ชาวอินเดีย 400 ล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้” บทความนี้เขียนโดย Michael Graham Richard ชาวแคนาดาซึ่งร่วมงานกับกลุ่ม Treehugger.com มาตั้งแต่ปี 2548

ผมแนบรูปมาให้ดูด้วยครับ

“เรามองว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์แบบต่อวิธีคิดในบริบทของพลังงานทั้งหมด” ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของพรรคบีเจพีซึ่งเป็นพรรคของคุณโมดิ คุณโมดิเคยเป็นผู้ริเริ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่เขาเป็นหัวหน้าผู้บริหารในรัฐคุชราต (Gujarat) ทางตะวันตกตอนเหนือของอินเดียซึ่งมีประชากรประมาณ 51 ล้านคน

ภาพข้างล่างนี้คือโครงการหนึ่งของว่าที่นายกฯ อินเดียท่านนี้ คือแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 เมกะวัตต์โดยการสร้างคร่อมฝั่งคลองแห่งหนึ่งในรัฐคุชราตเมื่อปี 2555 ข่าวรายงานว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.6 ล้านหน่วยต่อปี (ในปี 2556 คนไทยใช้ไฟฟ้า 1.7 แสนล้านหน่วย) และสามารถลดการระเหยของน้ำในคลองได้ 9 ล้านลิตร

เป้าหมายของนโยบายการใช้แผงโซลาร์เซลล์ของนายกฯ คนใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อให้บ้านทุกหลังในอินเดียสามารถมีหลอดไฟฟ้าใช้และมีโทรทัศน์ดูภายในปี 2562 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

บทความนี้ยังได้เปรียบกับความก้าวหน้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยว่า “ถ้าประเทศจีนสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ 5 หมื่นเมกะวัตต์ภายในสองสามปีนี้ แล้วอินเดียจะสามารถติดตั้งได้มากกว่า หากมีการจัดลำดับความสำคัญกันอย่างจริงจัง”

อีกบทความหนึ่งของนักเขียนคนเดิมได้ให้ข้อมูลว่า “เมื่อสิ้นปี 2556 ประเทศจีนได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วจำนวน 2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่นโยบายใหม่ของรัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าจะต้องถึง 7 หมื่น เมกะวัตต์ในปี 2560”

ผมขอหยุดเรื่องของนายกฯ อินเดียไว้เพียงแค่นี้ เรามาดูเรื่องศักยภาพของแสงแดดของประเทศต่างๆ ในโลก จากแผนที่ข้างล่างครับ ที่เขียนว่า “ไทย 5.3 หน่วย” หมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันประเทศไทยได้รับพลังงานคิดเป็นหน่วยไฟฟ้า (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ได้ 5.3 หน่วย

เนื่องจากโลกกลมและเอียง (ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย) ทำให้พลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่องมาถึงผิวโลกได้ไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศตามแนวแถบเส้นศูนย์สูตรจะได้รับพลังงานมากกว่าประเทศแถบขั้วโลก

จากแผนที่พลังงานแสงแดดนี้พบว่า ประเทศอินเดียซึ่งตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรเช่นกันได้รับพลังงานเฉลี่ยต่อวันต่อหนึ่งตารางเมตรมากกว่าประเทศไทยเล็กน้อยปัจจุบันประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 15% ดังนั้น ในหนึ่งตารางเมตรเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 0.8 หน่วย ดังนั้นบ้านใดที่ใช้ไฟฟ้า 10 หน่วยต่อวันก็ควรจะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 13 ตารางเมตร
ในขณะที่ประเทศเยอรมนีได้รับพลังงานประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยแต่ปรากฏว่าในปี 2556 เขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดได้ 29,300 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนนี้คิดเป็นประมาณ 83% ของที่บ้านเรือนคนไทยใช้ทั้งหมดทั่วประเทศ (ประมาณ 22 ล้านหลัง)

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความเป็นไปได้ของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลซึ่งผมจะขอเสนอต่อ คสช. 3 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ดังนี้

1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกนโยบายส่งเสริมการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัยจำนวน 100 เมกกะวัตต์ แต่ติดขัดที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยอมออกใบอนุญาต (ที่เรียกว่า รง.4) ทั้งๆ ที่แผงโซลาร์เซลล์ได้ไม่มีลักษณะเป็นโรงงานแต่อย่างใด เพราะไม่ส่งเสียงดัง ไม่ปล่อยควันพิษ ไม่ปล่อยน้ำเสีย และไม่กีดขวางทางจราจร

ดังนั้นขอให้ คสช. ช่วยสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยกเลิกระเบียบที่เส็งเคร็งนี้โดยทันที

2. การกำหนดโควตาไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ เป็นการคิดที่ไม่มีเหตุผล ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จมากก็เพราะการไม่จำกัดโควตานี้เอง

3. ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ทาง กกพ. กำหนดหน่วยละ 6.96 บาทนั้น ผมคิดว่าสูงเกินไป ตัวเลขคร่าวๆ ที่น่าจะเหมาะสมคือประมาณ 5 บาท ผมทราบจากนักธุรกิจบางคนว่า ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มนั้นสามารถได้ทุนคืนภายใน 4 ปี สามารถสร้างเศรษฐีใหม่ได้ในพริบตา และขณะนี้มีข่าวลือมาถึงผมว่ามีการเร่ขายในอนุญาตทำโซลาร์ฟาร์มถึงเมกะวัตต์ละ 10 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้พูดเล่นๆ นะครับ หาก คสช.มีสถานะ “นิ่ง” ทางการเมืองแล้ว กรุณาช่วยสืบสวนและสั่งการโดยเร็วนะครับ ผมคิดว่าท่านจะได้รับความนิยมจมเลย เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่นั้นผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงต่างย่อมรู้ดีว่าเกิดมาจากนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่บนความไม่รู้เท่าทันของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น