รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน ตอบรับคำเชิญไปร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของว่าที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศที่เป็นคู่อริ และเคยทำสงครามกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947
โมห์ยุดดิน วานี เลขาธิการร่วมประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ในวันนี้ (24) ว่า “จะมีการประชุมทวิภาคีนอกรอบระหว่างนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ กับคุณโมดี... ท่านนายกรัฐมนตรีจะแวะไปเยี่ยมเยียนประธานาธิบดีแห่งอินเดียด้วย”
ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอินเดียตึงเครียดเขม็งเกลียวมาตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิดเหตุวินาศกรรมนครมุมไบ ซึ่งทางอินเดียกล่าวหาว่าเป็นฝีมือกลุ่มติดอาวุธที่ซ่องสุมอยู่ในปากีสถาน
ชารีฟ ซึ่งก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้ว ให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลภารตะ แต่ก็ถูกพวกอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงในประเทศกดดันให้ยึดถือจุดยืนแข็งกร้าว โดยเฉพาะพวกนายทหารระดับสูง
ประเด็นที่ ชารีฟ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือนโยบายส่งเสริมการค้ากับอินเดีย โดยผู้นำทหารปากีสถานยืนกรานให้อินเดียถอนกำลังออกจากดินแดนแคชเมียร์ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทเสียก่อน
ความพยายามของอดีตนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย ที่จะฟื้นฟูความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทูตกับปากีสถานก็นับว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลังมีเหตุปะทะรุนแรงเกิดขึ้นตามแนวพรมแดนแคว้นชัมมู-แคชเมียร์เมื่อปีที่แล้ว
เป็นทีทราบกันดีว่า พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ของ โมดี ถือนโยบายไม่อ่อนข้อให้ปากีสถานมานาน ซึ่งแนวคิดนี้ก็ถูกสะท้อนชัดเจนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งรัฐสภาที่พรรคบีเจพีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย หลายฝ่ายมองว่านายกรัฐมนตรี โมดี น่าจะมีจุดยืนที่แข็งกร้าวพอสมควรในด้านของความมั่นคง
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ปากีสถานกลับคาดหวังว่า โมดี น่าจะฉวยโอกาสนี้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสลามาบัด เนื่องจากนักการเมืองฮินดูชาตินิยมผู้นี้ไม่ได้เผชิญอุปสรรคจากข้อครหา “อ่อนแอ” เหมือนเช่นรัฐบาล ซิงห์
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นนโยบายหลักของ โมดี จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่ออินเดียเปิดตลาด และส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และ โมดี อาจเล็งเห็นว่า ชารีฟ ซึ่งเป็นผู้นำปากีสถานที่สนับสนุนระบบตลาดเสรีและมีท่าทีประนีประนอมกับนิวเดลีมานาน น่าจะเป็นพันธมิตรที่ควรรักษาไว้