ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อนมีเรื่องซุบซิบในแวดวง กระทรวงสาธารณสุข หลังจากมีการแชร์บทความจากสื่อออนไลน์หนึ่ง ก่อนจะนำมาโพตส์แชรฺผ่านโซเชียลเน็ทเวิร์ท ระบุว่า “ปลัดณรงค์’ โยนบึ้ม ‘ลูกจ้างชั่วคราว’ ปากคำรัฐมนตรี ‘มันจบแล้ว’
http://www.hfocus.org/content/2014/05/7188#sthash.XhOwHwiB.4sg8DEFO.dpuf
มีการอ้างว่า คำพูดนี้หลุดออกมาจากปากของ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ออกมายอมรับถึงความคืบหน้าการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการประจำอาจไม่สำเร็จ เนื่องจากความล่าช้าของข้าราชการประจำ ทั้งๆที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเพิ่มอัตราตำแหน่งข้าราชการ สธ. ตั้งแต่ปี 2556-2558 ปีละ 7,547 คน แต่กลับดำเนินการได้เพียงปี 2556 และเกิดการยุบสภาจึงหยุดชะงัก
ข้อความที่แชร์ย้ำเป็นตัวอักษรหลายคำว่า “มันจบแล้ว” โดยมีใจความตอนหนึ่ง ระบุว่า นพ.ประดิษฐ เปิดใจอธิบายมูลเหตุที่ไม่สามารถบรรจุ “ลูกจ้างชั่วคราว” เข้าสู่ตำแหน่ง “ราชการ” ได้ ซึ่งจากเอกสารและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เขานำมาแสดงเพื่ออ้างอิง อย่างน้อยก็ทำให้พอที่จะเชื่อได้สักส่วนหนึ่งว่า “เขาทำเต็มที่แล้ว”
ปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ในเฟสที่ 2 (ทั้งที่ในเฟสแรกบรรจุได้สำเร็จ 7,500 อัตรา) เนื่องจาก “ฝ่ายปฏิบัติ” ซึ่งมีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวเรือใหญ่ เพิกเฉย-ละเลย-ทอดเวลาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
“ผมก็ให้กางตัวเลขออกมาดูกัน ผมบอก ก.พ.ไปว่ายอมรับว่าปัญหานี้หมักหมมมาและสธ.เองก็ขายผ้าเอาหน้ารอดมาโดยตลอด ข้อเท็จจริงคือคนเหล่านี้ได้เข้ามาในระบบมาแล้ว ถ้าเราไม่กลืนลงไปก็คงไม่ได้ เขาเข้าปากมาแล้วจะให้ไปคายทิ้งได้อย่างไร ผมก็บอก ก.พ.ไปอย่างนี้ บอกเขาว่ายังไงก็ให้ช่วยรับเถอะ”
“ก.พ.ก็บอกว่าเอาอย่างนี้ จะรับให้ 75% ส่วนอีก 25% ที่เหลือให้สธ.กลับไปพัฒนาระบบให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีสวัสดิการอะไรที่ดีขึ้นมาเยอะ แล้วก็จะลามมาถึงลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ ผมกับก.พ.ก็ตกลงกันได้อย่างนั้น คือตั้งเป้าบรรจุเฉลี่ยปีละ 7,000 กว่าตำแหน่ง”
“เขาก็ฟังผมนะ ผมก็เอาเกียรติของผมเป็นประกัน ซึ่งตอนนี้ก็เสียเกียรตินั้นไปแล้วเพราะทำไม่สำเร็จ คือ ก.พ.บอกว่าในกระบวนการที่จะรับคนเข้ามาเป็นข้าราชการนั้นจำเป็นต้องมี “ระบบพัฒนาการใช้ทรัพยากรบุคลากร” คือไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาจะรับอย่างเดียวโดยไม่เห็นปลายทาง เพราะถ้าทำอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้คนได้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ”
“ผมก็บอกว่าผมมี Master Plan คือ เราจะเอาทุกโรงพยาบาลในแต่ละเขตมาทำงานเป็นเขตเดียวกัน เป็นการใช้คนร่วมกัน คนตรงนี้ขาดก็เอาจากตรงนี้ไปแชร์ เป็นการใช้ทรัพยากรให้ดีที่สุด มีการจัดโครงสร้างลดตำแหน่งที่ซับซ้อนไม่จำเป็นให้หมด คือเป็น Concept ซึ่ง ก.พ.ก็เข้าใจและเห็นด้วย”
“พอนำเสนอ Concept ผ่าน ก.พ.เขาก็ให้มัดจำมาก่อนหนึ่งปีตามที่ผมได้ขอไป คือ 7,500 ตำแหน่ง แต่เขาก็ไม่ได้ใจดีนะ เพราะในปีที่ 2 ที่จะมาบรรจุรอบใหม่อีก 7,500 ตำแหน่งนั้น ก.พ.ยื่นคำขาดว่า “สธ.จะทำแผนพัฒนาบุคลากร” เหล่านี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม และต้องเริ่ม action ให้เห็นภายในวันที่ 1 ต.ค.2556 คือในปีงบประมาณ 2557”
“คือเขายอมเชื่อผม 1 ปี แต่อีก 2 ปีที่เหลือต้องทำแผนและปฏิบัติให้เห็นด้วย และเขาก็ลามไปถึงแพทย์ใช้ทุนด้วย ปีหนึ่งประมาณ 2,000 กว่าคน โดย ก.พ.บอกว่าที่ผ่านมาเขาก็ต้องรับ เพราะเราบอกว่าหมอขาดหมอไม่พอ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยวางแผนเลยว่าจะกระจายอย่างไร ใช้คนอย่างไร ซึ่งตรงนี้ ก.พ.จะให้อัตรามาใหม่อีก 2,000 อัตรา ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราวนะ แต่ทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขว่าต้องมีแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งหมด”
“แต่ถ้าสธ.ไม่มีแผนให้เขา สธ.ก็ต้องเอาตำแหน่งที่จะเกษียณไปแลก เช่น เราจะมีเกษียณ 1,700 คน เราก็เอาตรงนี้ไปแลก แล้วรัฐบาลจะให้มาแค่ 800 คนเท่านั้น แต่ถ้าทำตามกติกาที่ตกลงไว้ รัฐบาลจะยอมให้เก็บ 1,700 ตำแหน่งนี้ไว้ต่างหากสำหรับรับลูกจ้างชั่วคราว ถ้าทำแบบนี้ได้มันก็จะ win-win ทั้งคู่”
“สรุปแล้ว ก.พ.ก็มีมติออกมาว่าจะต้องทำแผนดังกล่าวให้เสร็จภายใน 1 ต.ค.2556 ก็ต้องทำแผนปฏิบัติการเสนอ ถ้า กพร.อนุมัติก็เอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ ครม.รับทราบ ทุกอย่างก็เสร็จสิ้น ก็เดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ”
“รอบที่หนึ่งคือ 7,500 ตำแหน่งแรกก็ผ่านไปด้วยดี แต่ปัญหาคือรอบสองที่ต้องทำแผนให้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2556 เราก็อธิบายฝ่ายปฏิบัติชัดเจนและให้กรอบระยะเวลาทำงานไปแล้ว แต่ก็ไม่เสร็จ ซึ่งในแง่นี้มันหลุดจากผมไปแล้ว พอตุลาคมไม่เสร็จ พฤศจิกายนก็ไม่เสร็จ ธันวาคมก็ไม่ยังเสร็จ มันก็เกิดปัญหาทางการเมืองจนต้องยุบสภาอีก เมื่อมีการยุบสภาก็ยิ่งเกิดปัญหาต่อว่าการทำแผนทั้งหมดที่ต้องมีการคิดในเชิงนโยบายว่าจะลดจะเพิ่มอะไรอย่างไร มันก็หยุดไปทั้งหมด”
“ทีนี้มันเกิดคำถามจากกลุ่มข้าราชการ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่รอบรรจุรอบสองอีกกว่า 7,000 คน เขาก็ถามว่าแล้วจะบรรจุเขาหรือเปล่า มันก็บรรจุไม่ได้ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ มันอยู่ที่ว่าถึงตอนนี้แล้วเรายังนับหนึ่งกันไม่ได้เลย”
“วันนี้นับหนึ่งยังทำไม่สำเร็จเลย ไม่ต้องมาพูดถึงจะเอาเข้า กกต.หรอก นับหนึ่งเพื่อที่จะเอาเข้า คพร. (คณะกรรมการนโยบายและพัฒนากำลังคน) มันก็ยังทำไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็น Concept Paper เหมือนที่ผมพูดอยู่ มันยังไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลย ไม่มี How to ว่าจะทำแผนอย่างไร ไม่มีตัววัดผลอะไร มันคล้ายๆ กับสิ่งที่ผมนำเสนอต่อ ก.พ.เมื่อ 1 ปีก่อน ตอนปี 2555 เลย”
“ผมก็ยอมรับกับ ก.พ.ว่ามันยังไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นสิ่งที่ลูกจ้างชั่วคราวกำลังรออยู่นี้ มันไม่ใช่รอ 1-2 เดือนให้ กกต.อนุมัติ มันเป็นเรื่องที่ทางนี้ต้องทำเรื่องให้เสร็จ ซึ่งถึงจะเริ่มทำต่อตอนนี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้นลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มนี้ก็คงต้องรอเคว้งไปอีกเป็นปี มันคือระเบิดเวลา ผมก็ต้องมานั่งอธิบายว่า มันหลุดจากผมไปแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค.2556นะ เขาไม่ทำเข้ามาให้ผมเลย แล้วผมก็สั่งอะไรเขาไม่ได้”
“แล้วตอนนี้แพทย์ใช้ทุนที่จะบรรจุในวันที่ 1 เม.ย.2557 เข้ามาก็ต้องเป็นลูกจ้าง พอเป็นลูกจ้างก็เป็นหมอแบบซังกะตาย อยู่ 3 ปีก็รีบออกแล้ว เพราะมันไม่มีอนาคต จะหาคนไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ และถึงแม้เราจะเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเงินเดือนสูงขึ้นหรือมีสวัสดิการอะไร มันก็ไม่มีใครอยู่หรอก มันคือระเบิดเวลาวันที่ 1 เม.ย.นี้ มันมีตำแหน่งเก่าที่ผมลองเคลียร์ดูเหลือแค่ 300 กว่าตำแหน่ง ขณะที่เราต้องการถึง 2,000 กว่าตำแหน่ง ซึ่งมันก็จะเป็นปัญหา สธ.ก็จะทะเลาะกับ ก.พ.อีก”
“ปัญหาที่งูกินหางคือลูกจ้างชั่วคราวก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ รอบที่แล้วมีลูกจ้างชั่วคราวอยู่ 1.2 แสนคน ผมไล่บรรจุเป็นข้าราชการได้ 7,500 คน มันควรจะเหลือประมาณ 1.1 แสนคน แต่ภายใน 5 เดือน กลับงอกเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 แสนคน คือพอลูกจ้างชั่วคราวออกไปเป็นข้าราชการปุ๊บ รัฐบาลก็จ่ายเงินเดือนให้คนกลุ่มนี้แทน สถานพยาบาลก็เอาเงินที่เหลือคือเงินที่จ่ายเป็นเงินเดือนให้ลูกจ้างชั่วคราวเดิมไปจ้างคนเข้ามาเพิ่มอีก แล้วก็มาล็อกคอว่าถ้าไม่บรรจุให้หมดจะเดินขบวนนะ ก.พ.เขาก็ต่อว่าเราแบบนี้ ว่าเราใช้คนไม่มีระบบ”
“พอมันไม่มีแผนมันก็จะบวมไปเรื่อยๆ ซึ่งข้อเท็จจริงคือในแง่นโยบายมันจบไปแล้ว แต่ในระดับปฏิบัติ กลับไม่ยอมทำแผนเลย และยิ่งตอนนี้ผมอยู่ในสถานะรักษาการรัฐมนตรีก็ยิ่งไม่มีอำนาจจะตัดสินอะไร ก็ที่ผ่านมาไม่เคยเสนออะไรมาให้ผมตัดสินเลย แล้วมาถามตอนนี้มันหมดเวลาแล้ว”
นพ.ประดิษฐ ทิ้งท้ายไว้ห้วนๆ ว่า “ที่สุดแล้วผมก็ทำได้แค่เจรจากับลูกจ้างชั่วคราวต่อไป ก็ต้องแบกหน้าไปขอให้เขาเสียสละอีก ซึ่งผมทำอะไรไม่ได้จริงๆ มันเป็นระเบิดเวลา และพอถึงรอบที่ต้องบรรจุใหม่ ก็จะต้องมีคนมาโยนว่าเป็นเพราะฝ่ายการเมืองไม่สนใจ ซึ่งผมก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่องทั้งๆ ที่ผมทำเต็มที่แล้ว”
นพ.ณรงค์ ว่าอย่างไร ? ช่วยออกมาอธิบายหรือชี้แจงหน่วยว่าตัวเองใช่ “ต้นเหตุ” ที่ทำให้พี่น้องลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการหรือไม่ ?
บทความนี้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น
เรื่องนี้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกมาเคลียร์ว่า ขณะนี้ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับลูกจ้างชั่วคราวไปบ้างแล้ว โดยเดิมทีเมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวในปี 2555 ก็ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2556 เหลือปี 2557-2558 ซึ่งยุบสภาพอดี เรื่องจึงหยุด แต่ทางผู้บริหารสธ.ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะทราบดีว่าจะส่งผลกระทบแน่นอน จึงได้จัดหาอัตรากำลังที่ว่างลง 1,360 อัตรา และได้บรรจุเป็นข้าราชการเรียบร้อยไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ส่วนอัตรากำลังที่ค้างอีก 2 ปีตามมติครม.นั้น แม้จะเป็นงบประมาณผูกพัน แต่สธ.จะต้องมีผลการดำเนินการหลังจากได้อัตรากำลังไปว่า ได้มีการกระจายอัตรากำลังเหมาะสมกับภาระงานหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้จัดทำเกณฑ์ดังกล่าว ที่เรียกว่า กรอบความต้องการกำลังคน (FTE) เสร็จแล้ว โดยได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เพื่อรอเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“ปัญหาคือ ขณะนี้ไม่มีรัฐบาลจึงอาจพิจารณาไม่ได้ เรื่องนี้ลูกจ้างชั่วคราวเข้าใจดีว่าต้องรอรัฐบาลใหม่ จะเห็นได้ว่าการทำงานทั้งหมด ทางฝ่ายข้าราชการเดินเรื่องมาตลอด แต่มาติดปัญหาตรงรัฐบาลที่ยังเป็นรักษาการ” รองปลัดสธ.กล่าว และว่า จริงๆ ทางฝ่ายข้าราชการไม่ได้นิ่งเฉยมีการทำงานตลอด อย่างการพัฒนากรอบความต้องการกำลังคน(FTE) ซึ่งเป็นเกณฑ์จัดสรรอัตรากำลังในบุคลากรสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เพื่อให้เหมาะกับภาระงาน การทำงานต่างๆก็จะคุ้มค่ากับความจริงนั้น
ล่าสุดในส่วนของสธ.เองกำลังจัดทำกรอบความต้องการกำลังคนเวอร์ชั่น 2 เรียกว่า FTE 2 ซึ่งจะมีรายละเอียดในการกระจายกำลังคนมากขึ้น เช่น พื้นที่นี้ต้องมีพยาบาลกี่คนจึงจะพอเพียงกับการรองรับผู้ป่วยนอก และไม่ให้มีการจ้างเกินความเป็นจริง ซึ่งคาดว่าจะทำเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ของสธ.เอง
นอกจากนี้ สธ.ยังมีมาตรการบริหารจัดการอัตรากำลังคนระยะยาว เป็นต้น
ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงออกมาพูดแล้ว คนกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะฝ่ายวิชาชีพ ฝ่ายสนับสนุน หรือลูกจ้างรับเหมา ช้ำใจไหม