โดย...ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โรคหอบหืด เป็นโรคทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคหอบหืดนั้นมีมากขึ้น เช่น มลภาวะและอากาศที่เป็นพิษที่มีอัตราสูงขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่แบบเมืองซึ่งแออัดทำให้มีการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อทางเดินระบบหายใจได้ง่าย และการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรที่นิยมสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มของผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
โรคหอบหืด เป็นโรคที่มีภาวะการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งมีผลทำให้เยื่อบุผนังหลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีดหรือหอยเหนื่อย เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้รับสารก่อโรคหรือสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือแม้กระทั่งอากาศที่เย็น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจหายได้เอง หรือหายโดยการใช้ยาขยายหลอดลม
ผู้ป่วยโรคหอบหืดบางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่ในบางรายอาจมีอาการเรื้อรังตลอดปี และมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาที่ใช้ในโรคนี้ก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ เช่น การใช้ยาพ่นประเภทสเตียรอยด์อย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื่อราในช่องปากได้ หรือการรับประทานสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานก็มีผลต่อการทำงานของไต รวบทั้งยับยั้งการเจริญเติบโตในผู้ป่วยเด็กได้ การใช้ยาขยายหลอดลมบ่อยๆ ก็มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วได้ เป็นต้น ดังนั้น การปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และใช้ยาสมุนไพรที่มีอยู่รอบๆ ตัว ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคนี้
ผู้ป่วยโรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ตนเองแพ้ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ โดยตัวผู้ป่วยหรือญาติอาจจะสังเกต หรือทำการทดสอบทางผิวหนังดูว่าแพ้อะไร ในระว่างมีอาการควรใช้ยาที่ถูกต้องโดยเฉพาะยาพ่น ควรหลีกเลี่ยงจากอากาศเย็น อาหารเย็น รวมทั้งน้ำเย็น เพราะความเย็นจะทำให้เสมหะจับจัวกันได้ง่าย ซึ่งเสมหะจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการจับหอบได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายได้เช่นกัน
สำหรับสมุนไพรที่มีการบันทึกในตำรายาโบราณว่าช่วยรักษาหอบหืดได้ผล เช่น “ปีบ” หรือที่ทางเหนือเรียกว่า กาซะลอง เป็นพืชตระกูลเดียวกับแค และรับประทานได้เช่นเดียวกับดอกแค ในทางยา ดอกปีบได้ถูกนำมาใช้แก้หอบหืด โดยใช้ดอกแห้งมวนด้วยใบบัวหลวงหรือใบตองนวลเป็นบุหรี่สูบแก้หอบ มีการวิจัยพบว่าในดอกปีบมีสารฮีสปีดูลิน (Hispidulin) ซึ่งระเหยได้ มีฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ดีกว่า อมิโนฟิลลีน (Aminophylline) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ช่วยรักษาโรคหอบหืด และไม่มีความเป็นพิษแต่อย่างใด ทางภาคเหนือและอีสานใช้รากปีบต้มกินแก้ไอ และยังเชื่อว่ารากปีบมีสรรพคุณบำรุงปอด นอกจากนี้แล้ว ดอกปีบยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในยาแก้ริดสีดวงจมูกอีกด้วย
“หนุมานประสานกาย” หรือสังกรณี มีสรรพคุณหลักในการแก้แพ้อากาศ แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ขยายหลอดลม หวัด เจ็บคอ ไอเรื้อรัง เป็นสมุนไพรที่น่าจับตามอง เพราะสามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคในระบบทางเดินหายใจระยะยาวได้ ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ญี่ปุ่นก็มีการใช้ในรูปแบบชาชงเพื่อบรรเทาอาการไอ แก้หลอดลมอักเสบและหอบหืด การใช้ใบหนุมานประสานกายให้ใช้ใบสดล้างให้สะอาดเคี้ยวครั้งละ 2 ใบ กลืนน้ำจนกว่ากากยาจะจืดจึงคายทิ้ง หรือกลืนลงไปเลยก็ได้ เคี้ยววันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้า และเย็น การใช้ใบแห้งให้ใช้ 1-3 ใบชงน้ำดื่มแทนชา หรือถ้าต้มใช้ประมาณ 7-8 ใบต้มกับน้ำ 4 แก้ว ปล่อยให้เดือดเบาๆ จนน้ำงวดเหลือครึ่งหนึ่ง แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น หากต้องการดื่มทั้งวัน ใช้ใบเพสลาดสดหรือแห้ง หรือรวมกันทั้งสองอย่างราว 7 ใบ ต้มกับน้ำ 7 แก้ว เพียง 10 นาที ใช้ดื่มต่างน้ำ ในบางคนอาจเกิดอาการแพ้ มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ต้องหยุดใช้ยาทันที ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากการใช้ใบสดมากกว่าใบแห้ง คนที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตต่ำหรือสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
นอกจากนี้ รางจืด และชุมเห็ดเทศ ก็เป็นสมุนไพรอีกชนิดที่มีการนำมาใช้ในโรคหอบหืด เพราะในทฤษฎีแพทย์แผนไทย เชื่อว่าการเกิดโรคหอบหืดนั้น มาจากการที่ร่างกายมีการสะสมของเสียไว้ ดังนั้น การรักษาโรคนี้ก็มุ่งไปที่การขับของเสีย ยาในกลุ่มขับพิษและยาระบายจึงถูกนำมาใช้ ซึ่งในผู้ป่วยหลายรายใช้แล้วได้ผลดี