xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกรัฐบาล3ปัญหาหลัก คาดปมทูลเกล้าฯจบที่ศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อหาทางออกการกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ตามกำหนดการเดิมจะมีการหารือกัน เวลา 14.00 น. (14ก.พ.) ปรากฏว่าในช่วงเช้า ยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสถานที่หารือ โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ฝ่ายบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันก่อนที่จะมีการประชุมกกต. ว่าจะให้มีการหารือที่สำนักงาน กกต. ขณะที่รัฐบาลและทีมงาน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า ขอเป็นที่ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง จนกระทั้งเวลา 13.00 น. นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งสื่อมวลชนว่า เลื่อนการหารือออกไปเป็นวันที่ 15 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลขอเลื่อนการหารือกับกกต.มาเป็นวันนี้ ( 15 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ รร.นายเรืออากาศ ดอนเมืองว่า รัฐบาลประสานมาช่วงก่อนเที่ยงว่า เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และขอให้ กกต.เปลี่ยนสถานที่หารือ แต่กกต.ยังยืนยันว่า สถานที่ที่สำนักงานกกต. มีความเหมาะสมอยู่แล้ว และการแจ้งในระยะเวลากระชั้นชิด จะทำให้เกิดความไม่สะดวก เจ้าหน้าที่เตรียมการไม่ทัน จึงได้ยื่นข้อเสนอไป 2 ทางให้กับรัฐบาล คือ หากรัฐบาลไม่สะดวก ก็ขอให้รัฐบาลนัดหมายเวลา และสถานที่หารือใหม่ หรือให้ผู้แทนรัฐบาล มาหารือกับบางส่วนของกกต. ที่ไม่ใช่ กกต.ทั้งคณะ ซึ่งรัฐบาลได้ขอนัดเวลาหารือมาเป็นวันนี้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กกต.มีความประสงค์ที่จะให้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกกต. เพื่อให้มีการเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้มีเจตนาบิดพลิ้ว หรือยื้อระยะเวลาออกไป โดยในการประชุมหารือวันนี้ ประเด็นหารือยังคงเป็นเรื่องความชัดเจนว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ และรัฐบาลเห็นอย่างไร กับการที่กกต. ต้องการให้มีการบรรจุข้อความว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลื่อนวันเลือกตั้งไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ซึ่งกกต.ยืนยันว่า กรณีข้อความดังกล่าว มี
ความจำเป็นเพื่อที่หากเกิดปัญหามีการขัดขวาง ก็จะไม่ทำให้การเลือกตั้งเสียไป โดยกกต.ได้เหตุแยกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นไว้ 3 สาเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนถึงวันเลือกตั้งและอาจส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นเสียไป โดย สาเหตุที่ 1. จะทำให้ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป 1 สัปดาห์ สาเหตุที่ 2 ต้องเลื่อนออกไป 2 สัปดาห์ และ สาเหตุที่ 3 ต้องเลื่อนออกไป 1 เดือน แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำ
อย่างไรก็ตามพอถึงวันเลือกตั้ง และหากเกิดเหตุการณ์ขัดขวางขึ้น กกต. สามารถใช้อำนาจตาม มาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. นอกจากนี้จะมีการหารืออำนาจผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ว่าจะมีอำนาจทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้หรือไม่ โดยกรณีนี้ กกต.ได้ข้อยุติแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะไปรายงานต่อรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ตามหลังการหารือร่วมกับรัฐบาลในวันนี้แล้ว หากมีข้อสรุปว่าจะเดินหน้าเลือกตั้ง รัฐบาลน่าจะเป็นผู้มีคำตอบว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่นั้นเพียงพอที่จะทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ. เพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. ทันหรือไม่
"น่าเสียดายที่วันนี้ไม่ได้คุยกับรัฐบาล เข้าใจว่า หน่วยงานด้านความมั่นคง คงให้ข้อมูลกับรัฐบาลว่า หากมาคุยที่กกต. อาจจะมีอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลแจ้งล่วงหน้า 2-3 วัน กกต. คงไม่ขัดข้อง แต่การแจ้งช่วงเช้ากระทันหันเกินไป ยืนยันไม่ได้บิดพลิ้ว" นายสมชัย กล่าว
นอกจากนี้ นายสมชัย ยังได้กล่าวตอบโต้แถลงการณ์ ของกลุ่มนักวิชาการที่ใช้ชื่อว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย กรณีตำหนิ กกต.ว่าพยายามบิดพลิ้วจัดการเลือกตั้ง และรัฐบาลรักษาการมีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้เลยว่า เป็นข้อความที่ผิดหลักกฎหมายอย่างสิ้นเชิง ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้บิดพลิ้ว และรัฐบาลไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใน ร่าง พ.ร.ฎ.ได้เอง แต่การกำหนดวันเลือกตั้ง ต้องมาจาก กกต. ซึ่งกฎหมายมีหลักคิดว่า เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น หากรัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ. และนำขึ้นทูลเกล้าฯ รัฐบาลก็จะเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง

** เผย 3 ปัญหาที่กกต.กังวล

แหล่งข่าวจาก กกต. เปิดเผยว่า ในการประชุมกกต.ช่วงเช้า ที่ประชุมก็ได้มีการพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ทั้งในประเด็นว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจทูลเกล้าฯ รับสนองพระบรมราชโองการ และรักษาการ ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปหรือไม่ รวมทั้งประเด็นที่กกต. จะให้การเพิ่มเติมข้อความว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ กกต.ร้องขอไว้ในมาตรา 4 ของ ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่า ในการจะไปหารือกับรัฐบาลนั้น กกต.ควรจะหารือในประเด็นเรื่องการบรรจุถ้อยคำใน มาตรา 4 ก่อน โดยกกต. จะบอกถึงเหตุผลที่กกต.เห็นว่าจำเป็นต้องมีการบัญญัติข้อความดังกล่าวไว้ เพื่อหากเกิดปัญหาก็จะไม่ทำให้การเลือกตั้งสูญเปล่าว่า 3 สาเหตุ ที่กกต.มองว่า หากเกิดขึ้นจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลื่อนวันเลือกตั้ง คือ
1. กรณีไม่สามารถทำให้เกิดการรับสมัคร ส.ส.ทั้ง 375 เขตเลือกตั้งได้ กกต.คาดว่าจะใช้เวลาแก้ปัญหา และเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมไปประมาณ 1 สัปดาห์
2. กรณีเกิดปัญหาเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมโรงพิมพ์บัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งไม่สามารถกระจายไปยังหน่วยเลือกตั้งได้ กกต.คาดว่าจะใช้เวลาแก้ปัญหา และเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมไปประมาณ 2 สัปดาห์
3. กรณีลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด กกต.คาดว่าจะใช้เวลาแก้ไขปัญหา และเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมไปประมาณ 1 เดือน โดยกรณีนี้ กกต.เห็นว่าไม่สามารถใช้ มาตรา 78 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. สั่งระงับการลงคะแนน แล้วจึงค่อยไปจัดการลงคะแนนในภายหลัง เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกตีความเป็นการเลือกตั้งล่วงหลัง ซึ่งการเลือกตั้งได้ในบางหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จะมีผลชี้นำการลงคะแนนล่วงหน้านอกเขต ที่จัดขึ้นทดแทนได้

**ปมทูลเกล้าฯส่อจบที่ศาลรธน.

จากนั้น กกต.จึงจะมีการหารือในประเด็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่ารัฐบาลต้องตอบให้ได้ ถึงความแตกต่างระหว่าง กรณีที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒสภา ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา ที่จะรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ. เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญของรัฐสภา เพื่อถอดถอนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ได้ ว่าแตกต่างอย่างไรกับการที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง โดยหากทั้ง 2 ประเด็น รัฐบาลยังมีความ ไม่ชัดเจน กกต. ก็จะเสนอให้มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 100 กว่าคนได้พิจารณา หากได้ผลอย่างไร กกต.จึงมีการพิจารณาอีกครั้ง และถ้ากกต.มีความเห็นแตกต่าง ก็จะมีการเสนอทั้ง 2 ประเด็น ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยโดยใช้ช่องทางความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214

**พท.อ้างยุค"ชวรัตน์"เคยออกพ.ร.ฎ.ได้

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กกต.ห่วงอำนาจของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ว่ามีอำนาจทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ ว่า ยืนยันว่า นายนิวัฒน์ธำรง สามารถเป็นผู้ทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งได้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนอยากให้กกต.ไปตรวจสอบพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ในการปฏิบัติหน้าที่ สมัยของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ปฏิบัติหน้าที่แทน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกศาลวินิจฉัยให้สิ้นสภาพเช่นกัน
ทั้งนี้ อยากให้กกต.ทั้ง4ท่าน ตรวจสอบพิจารณาตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัวเหมือน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.บริหารกิจการการเลือกตั้ง เพราะพ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับในสมัยที่ นายชวรัตน์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายสมชาย ยืนยันได้ว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ อย่างไม่มีเงื่อนไข
กำลังโหลดความคิดเห็น