xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงครามทีวีดิจิตอล กลางฝุ่นควันอันเดือดพล่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ภาวะ “ฝุ่นตลบ” ดูจะเป็นคำที่มาเคียงคู่กับคำว่า “ทีวีดิจิตอล” มาตั้งแต่ก่อนช่วงการประมูลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเกือบจะกลายเป็นคำอธิบายที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดในช่วงต้นปี เมื่อมีการเอ่ยถึงสถานะความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของภาคธุรกิจและประชาชนไทย แม้ว่าจะมีหลายช่องทยอยออกอากาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา

“ผมว่า 'ฝุ่นตลบ' มันมาจากความไม่พร้อมของผู้เข้าประมูลที่ประมูลได้ แต่ไม่พร้อมจะออกอากาศ พอไม่พร้อมก็รีบจนไม่รู้จะทำอะไรก่อน ที่ฝุ่นมันตลบก็เพราะว่าย่ำเท้ากันใหญ่ ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจในธุรกิจนี้จริงๆ แล้วกระโดดเข้ามาเล่น ฝุ่นตลบในที่นี้ก็คือการแข่งกันลงทุนมากมายมหาศาลเกินกว่าที่คิดเอาไว้ ก็เลยทำให้อุณหภูมิการแข่งขันดุเดือด”

ข้างต้นเป็นมุมมองของ ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการสายงานสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 แห่ง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หนึ่งใน 17 “ผู้เล่น” ที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล แต่ทว่า เป็นหนึ่งในไม่กี่ผู้เล่นที่ นักวิเคราะห์มองว่า จะได้กำไรในปีแรกจากการลงทุนในทีวีดิจิตอล และจะยิ่งเห็นแนวโน้มที่ดีในปีหน้า

เนื่องจากอาร์เอสใช้วิธีดึงรายการจากช่อง 8 เดิมที่ออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว ซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมอยู่จำนวนหนึ่ง เข้ามาออกอากาศในช่องทีวีดิจิตอล จึงทำให้ภาระต้นทุนของอาร์เอสไม่สูงเหมือนผู้เล่นรายอื่น โดย ดร.องอาจระบุว่า ในบรรดาช่องทีวีดาวเทียม 4 ช่องของอาร์เอส ช่อง 8 ถือเป็นช่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งรายได้และเรตติ้ง โดยติด “ท็อป 2” มาตลอด และก้าวขึ้นมาเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดทีวีดาวเทียมเมื่อไม่นานมานี้

ตามกำหนดของ กสทช. เจ้าของช่องจะต้องเริ่มทยอยออกอากาศทีวีดิจิตอลในวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา และทุกช่องต้องออกอากาศให้ครบภายใน 25 พ.ค. นี้ หากช่องใดที่ไม่สามารถออกอากาศได้ทันจะต้องถูกปรับวันละ 1 ล้านบาท

ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นบวกกับความเชื่อที่ว่า ช่องใดจะอยู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับตอนเปิดตัวจนถึงช่วง 6 เดือนแรก ทำให้ “ผู้เล่น” ทุกช่องยอมที่จะอัดเงินมหาศาลเพื่อหา “คอนเทนต์” มาดึงผู้ชม (eyeball) เพราะทุกฝ่ายต่างมองเห็นตรงกันว่า ในสงครามดิจิตอลทีวี “คอนเทนต์” คือไม้เด็ดที่จะใช้เอาชนะคู่แข่งแบบทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น

เป็นผลให้เกิดภาวะ “ฝุ่นตลบ” จากการตบเท้าเข้าแย่งชิงคอนเทนต์ โดยเฉพาะคอนเทนต์จากต่างประเทศ ซึ่งว่ากันว่า นอกจากราคาจะแพงโอเว่อร์แล้วยังหาซื้อไม่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีไทยเหมาซื้อกันไปหมด โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของช่องที่ไม่เคยมี “ชื่อเสียง (goodwill)” ในเรื่องการผลิตรายการโทรทัศน์

อาทิ ช่อง PPTV ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งยกกองทัพละครเกาหลีเข้าอัดในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ภาคค่ำ เพื่อชนกับละครไทยของช่องที่เป็น “เจ้าแห่งละคร” ในตลาดทีวีระบบอนาล็อกอย่างช่อง 3 และช่อง 7 รวมถึงเจ้าตลาดทีวีดาวเทียมอย่างอาร์เอสและแกรมมี่

ด้านพอยต์ส่งซีรีส์เกาหลีที่กำลังฮิตในเมืองไทยมาเรียกเรตติ้งจากผู้ชม ขณะที่ช่อง NOW ของเครือเนชั่น และช่อง MONO ของค่าย “โมโน กรุ๊ป” ก็ส่งซีรีส์ต่างประเทศจากฝั่งอเมริกามาเอาใจคนดู

ทั้งนี้ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (BMB) หรือเจ้าของช่อง PPTV HD ระบุว่า ผังรายการในระยะแรก บริษัทจะเน้นผลิตเอง 50% และจ้างผลิต/ซื้อคอนเทนต์ 50% โดยจะเน้นซื้อคอนเทนต์ต่างประเทศจากโซนเอเชีย เช่น เกาหลี จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนการจ้างผลิต ขณะนี้มีผู้ผลิตรายการชื่อดังตบเท้าเข้ามาร่วมงาน เช่น ทีวีบูรพา, ทีวีธันเดอร์, เจเอสแอล, เน็ก แอนด์ เดอะ ซิตี้ และวู้ดดี้เวิร์ด เป็นต้น

ส่วนการแย่งชิงผู้ชมในช่วงไพรม์ไทม์ตอนเช้า ช่อง PPTV ได้เตรียมรายการข่าวมาชนกับเจ้าตลาดด้านรายการข่าว โดยรายการยกทัพข่าวเช้า เวลา 06.00-08.00 น. เป็นการร่วมผลิตกับ “ดรีมทีม เน็ตเวิร์ค” และรายการเข้มข่าวค่ำ เวลา 19.00-20.00 น. ร่วมผลิตกับ “นิวส์ คอนเน็ค” โดยทั้งสองบริษัทเคยเป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับ ททบ.5 มาก่อน

ขณะที่ “มหาอำนาจ” ด้านรายการข่าวอย่างบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด หรือช่อง 3 ก็ได้ขนทัพผู้บริหารและผู้ประกาศข่าวแถวหน้าของวงการ มาร่วมงานเปิดตัวช่องทีวีดิจิตอลทั้ง 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 28 SD, ช่อง 33 HD และช่อง 13 Family (ช่องเด็กและครอบครัว) อย่างยิ่งใหญ่เมื่อหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา สมกับเม็ดเงินลงทุนที่ใช้ในการประมูลซึ่งสูงถึง 6,471 ล้านบาท

ทั้งนี้ ค่ายบีอีซีฯ ได้ใช้คอนเทนต์ประเภทรายการข่าวเป็น “ไม้เด็ด” โดยมีผู้ประกาศระดับ “แม่เหล็ก” เป็นตัวสร้างเรตติ้งอยู่ในทุกช่อง เช่น ช่อง 28 SD และ 33 HD จะมีรายการ “Top News Variety” ซึ่งเป็นวาไรตี้ข่าวรูปแบบใหม่ โดยได้ผู้ประกาศชื่อดังจาก ThaiPBS อย่างปวีณมัย บ่ายคล้อย และ “บ็อบ” ณัฐธีร์ โกมลพิศิษฐ์ จาก Modern 9 มาเป็นผู้ประกาศ ร่วมด้วย “รุ่นใหญ่” อย่างกิตติ สิงหาปัด ในรายการ “HOT NEWS” และกรุณา บัวคำศรี กับรายการ “Talk To Me”

สำหรับช่อง 33 HD ช่วงเวลา 18.30-20.00 น. จะมีผู้ประกาศ “ตัวพ่อ” อย่าง สรยุทธ สุทรรศนะจินดา มาเป็นจุดขายในรายการ “สรยุทธ ถึงคน ถึงข่าว” ส่วนช่อง 13 Family จะมีการนำเสนอข่าวโดยสายสวรรค์ ขยันยิ่ง, นิรมล เมธีสุวกุล, สุผจญ กลิ่นสุวรรณ และคริสโตเฟอร์ ไรท์ และตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. รายการ “ผู้หญิง ผู้หญิง” และ “แจ๋ว” จะออกอากาศช่องนี้

ด้าน “เนชั่น” ยักษ์ใหญ่วงการข่าว ได้วางผังรายการในช่วง 6 เดือนแรกของช่องเนชั่นดิจิตอลทีวีเอาไว้ว่า เบื้องต้นจะเน้นรายการข่าวต่อเนื่อง จากนั้นจะเริ่มเน้นรูปแบบวาไรตี้มากขึ้น ทั้งนี้คู่แข่งสำคัญด้านรายการข่าวในระบบทีวีดิจิตอลของเนชั่นก็คือช่อง 3 จึงต้องมีการปรับผังรายการข่าวให้ใกล้เคียงกับคู่แข่งมากขึ้น โดยผู้ประกาศที่เป็น “แม่เหล็ก” ของค่ายนี้ คือ กนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญไพบูลย์ และวีณารัตน์ เลาหภคกุล

ขณะที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไทยรัฐ” ซึ่งกระโดดเข้ามาทำช่องทีวีดิจิตอลเอง ก็มองว่า แม้จะประมูลได้ช่องวาไรตี้ แต่ช่วงแรกของผังรายการจะเน้นรายการข่าวถึง 50% โดยใช้ “คลังข่าว” และรากเหง้าความเป็นไทยรัฐ ในการต่อยอดสร้างแบรนด์ไทยรัฐทีวี นอกจากนี้ยังได้ดึง “เขมสรณ์ หนูขาว” ผู้ประกาศข่าวชื่อดังจากช่อง 5 มาเป็น “แม่เหล็ก”

“ตอนนี้การแข่งขันด้านบันเทิงรุนแรงขึ้น แต่ไม่น่าหนักใจเท่าไหร่ แต่ที่น่าหนักใจคืองานด้านข่าว เพราะทุกช่องทำหมด แม้แต่ช่องวาไรตี้ สัดส่วนเยอะด้วย ฉะนั้นหน้าที่เราคือต้องสร้างความแตกต่างให้ได้” ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 กล่าวในงานเปิดตัวทีวีดิจิตอลของช่อง

ด้วยการแข่งขันด้านรายการข่าวที่รุนแรง เป็นเหตุให้เกิดภาวะ “ฝุ่นตลบ” จากการตบเท้าย้ายค่ายของผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการข่าว และนักข่าวหลายราย จนมีคนกล่าวว่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วง “เปลี่ยนถ่ายเลือด” ในวงการข่าวโทรทัศน์ไทย แม้แต่ “เลือดเก่า” ของช่อง 3 อย่าง “ปราย ธนาอัมพุช” ก็ออกไปอยู่กับช่อง PPTV หรือ “ปุ้ย พิมลวรรณ” ที่ออกไปอยู่ช่อง 2 ซึ่งเป็นช่องทีวีดาวเทียมน้องใหม่มาแรงของค่ายอาร์เอส

บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวอิศราระบุว่า ภาวะ “ฝุ่นตลบ” อีกอย่างหนึ่งในวงการทีวีดิจิตอลที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ ได้แก่ สื่อหลายค่ายให้ความสำคัญกับผู้ประกาศหน้าจอ มากกว่าการแข่งขันกันผลิตเนื้อหาสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน และถ้าทีวีเมืองไทยวัดกันที่เปลือกและสายป่านอีกสักพักก็จะรู้ว่าใครจะอยู่ใครจะเก็บฉาก

การทุ่มเทและทุ่มทุนอย่างมหาศาลของแต่ละค่าย อยู่บนเดิมพันด้วยตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในสมรภูมิทีวีดิจิตอลที่เชื่อว่าสูงถึง 60,000-80,000 ล้านบาท ซึ่งมีรายใหญ่จากระบบเดิมยึดหัวหาดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

แม้ว่าช่วงแรกในการออกอากาศ เจ้าของช่องส่วนใหญ่อาจจะยังไม่คาดหวังการดึงเม็ดเงินโฆษณาเป็นเป้าหมายหลัก เพียงแต่ต้องการเปิดตัวเพื่อสร้าง “แบรนด์” และ “ภาพจำ” แต่ด้วยเค้าความรุนแรงในการแข่งขันจากการลงทุนอย่างมหาศาลในการทำช่องทีวีดิจิตอลช่องหนึ่ง บางรายถึงขนาดเตรียมขาดทุนยาวถึง 3 ปีก็มี นี่คงพอสะท้อนได้ว่าผู้เล่นทุกรายพร้อมจะฟาดฟันแย่งชิง “เค้ก” ก้อนนี้อย่างถึงที่สุด

แต่ด้วยสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้หลายคนเชื่อว่า “เค้กก้อนนี้” อาจเล็กลง ขณะที่ผู้เล่นมากรายขึ้น นอกจากนี้ ยังมี “มรสุมฝุ่นตลบ” ที่ซ้ำเติมเจ้าของช่องทีวีดิจิตอลให้เหนื่อยหนักในมหาสงครามครั้งนี้เข้าไปอีก นั่นคือ จำนวนครัวเรือนที่เปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิตอลยังมีน้อยมาก

จากผลสำรวจของสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้ว่ามี “ทีวีดิจิตอล” แต่ยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ อีกส่วนมาจากความสับสนของเลขช่อง เพราะบ้านที่ติดกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี จะพบปัญหาการจัดเรียงช่องใหม่ของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่ตรงกับช่องที่ผู้ประกอบการแต่ละรายประมูลได้

ขณะที่หลายครอบครัวยังรอการแจกคูปองเพื่อแลกซื้ออุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์เพื่อรับชมทีวีดิจิตอลจาก กสทช. ซึ่งแว่วมาว่าอาจจะมีการเลื่อนไปอีกจากกำหนดเดิม คือเดือนมิถุนายนไปเป็นเดือนสิงหาคม ส่วนราคาที่ได้รับก็อาจจะลดลง ซึ่งความไม่ชัดเจนเหล่านี้กลายเป็นฝุ่นที่ระคายเคืองเจ้าของช่องอยู่ไม่น้อย

“ถ้าภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหมู่มากได้รับรู้หรือตื่นตัวในเรื่องทีวีดิจิตอล แจกคูปองได้เร็วขึ้น ขยายความครอบคลุมของโครงข่ายให้เสร็จเร็วขึ้น ฯลฯ นั่นก็หมายถึงผู้ประกอบการก็จะสามารถมีผู้ชม (eyeball) และรายได้ได้เร็วขึ้น เพราะผมว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายพร้อมแล้ว” ผู้บริหารแห่งไทยรัฐทีวีกล่าว

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ภาวะ “ฝุ่นตลบ” น่าจะจางลงหลังจาก 1-2 ปีแรก ซึ่งหมายถึงจะเริ่มเห็นชัดแล้วว่า “ผู้เล่น” รายใดที่บาดเจ็บและต้องออกไปจากสนาม ขณะที่บางส่วนมองว่า สงครามนี้อาจลากยาวไปถึง 3 ปี เพราะผู้เล่นหลายรายเป็นกลุ่มทุนที่มีสายป่านยาว แต่สุดท้ายแล้วก็คงจะเหลือ “ผู้รอดชีวิต” เพียงไม่เกิน 5 รายที่สามารถผูกขาดและครองตลาดเม็ดเงินโฆษณาในสมรภูมิทีวีดิจิตอลแห่งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น