ปรากฏการณ์รายการข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่รายการข่าวช่อง 9 ที่เปลี่ยนโฉมจากข่าวในพระราชสำนักและประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล มาเป็นข่าวจากพื้นที่จริง พัฒนามาถึงรายการวิเคราะห์ข่าว รายการคุยข่าว ที่มี สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นต้นแบบ มาถึงตอนนี้ก็เริ่มมีรายการที่เรียกว่า “นิวส์โชว์” เกิดขึ้น พร้อมกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกอากาศโทรทัศน์ในบ้านเรามาสู่ทีวีดิจิทัล
ในช่วงการทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัล ผู้เล่นที่มาจากทีวีดาวเทียมต่างก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการข่าว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ กสทช. โดยเฉพาะช่องข่าว ที่ในช่วงสถานการณ์การเมืองร้อนแรงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรายงานสถานการณ์ แต่โดยรวมแล้วรูปแบบการนำเสนอก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
เนชั่นทีวี ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่องเนชั่นแชนแนลเดิม ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2557 พบว่ารูปแบบรายการไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีการเพิ่มเวลารายการข่าวอย่างเก็บตกจากเนชั่นในช่วงเที่ยงและช่วงค่ำก็ตาม นอกจากนี้เมื่อนายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรข่าวชื่อดังมีเรื่องอื้อฉาวจนต้องงดจัดรายการ บางรายการก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ขณะเดียวกัน หลังการออกอากาศทีวีดิจิทัล ดูเหมือนเนชั่นทีวีจะเน้นกับการสร้างภาพลักษณ์องค์กร ตั้งแต่การเปิดตัวดาวน์ทาวน์สตูดิโอ ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และเตรียมที่จะย้ายสำนักงานไปอยู่ที่อาคารบางกอกโค้ต สถานีบีทีเอสสุรศักดิ์ ซึ่งมีไบเทคเป็นเจ้าของ และเพิ่งหมดสัญญาเช่ากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผมเข้าใจดีกว่าช่วงนี้เนชั่นเกิดภาวะสมองไหลไปก่อนหน้านี้ เพราะมือมันสมองย้ายค่ายไปหลายสิบคน อีกทั้งยังคงรอคอยสำนักงานแห่งใหม่ที่สาทร จึงขยับขยายอะไรไม่ได้มาก แต่หากมัวแต่สร้างภาพลักษณ์ มากกว่าการสร้างความแปลกใหม่ในเชิงเนื้อหา ในระยะยาวคนดูจะรู้สึกเบื่อแล้วหันกลับไปดูช่องอื่นที่รู้สึกแปลกใหม่กว่า
หรือจะเป็นวอยซ์ ทีวี แม้ในช่วงข่าวภาคค่ำจะให้ ธีรัตถ์ รัตนเสวี และตวงพร อัศววิไล ขึ้นมาอยู่เบื้องหน้า แต่การรายงานข่าวยังคงตอบสนองต่อกระแสข่าวจากรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับนายทุนช่องคือ พานทองแท้ ชินวัตร และพินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
ส่วนการเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 ซึ่งบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่สามของผู้ก่อตั้ง “จิตสุภา-วัชร วัชรพล” หลังได้รับใบอนุญาตประมูลทีวีดิจิทัลจาก กสทช. ด้วยมูลค่า 3,360 ล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี เริ่มต้นด้วยการประชัน 5 รายการสุดท้ายที่จะเข้าไปอยู่ในผังรายการที่เรียกว่า “เดอะ ทีวี แบทเทิล” อย่างยิ่งใหญ่
แต่ถึงกระนั้น ผังรายการไทยรัฐทีวีในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่แน่น เพราะในช่วงกลางวันยังคงรีรันรายการในช่วงซูเปอร์โปรแกรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการวาไรตี้ แต่ที่น่าตื่นเต้นก็คือ ไทยรัฐทีวีให้ความสำคัญกับรายการข่าวมากถึงร้อยละ 50 และกล้าที่จะเอามาชนกับละครในรูปแบบ “นิวส์โชว์” แตกต่างจากช่องอื่นที่มีรายการข่าวค่ำตั้งแต่เวลา 16.00 น. ด้วยซ้ำ
รายการข่าวของไทยรัฐทีวีมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ช่วงต่อวัน ได้แก่ เช้าข่าวชัด เวลา 06.00-09.00 น., ชัดข่าวเที่ยง 12.00-13.00 น., ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีรายการ ชัดทันข่าว เสาร์-อาทิตย์ 09.00-11.00 น. และข่าวสั้น Express News ส่วนในช่วงค่ำของทุกวันจะมีรายการข่าว ไทยรัฐ นิวส์ โชว์ เวลา 19.45-21.45 น. และครบข่าวดึก 23.45-00.30 น.
ในส่วนของรายการ ไทยรัฐ นิวส์ โชว์ ได้ใช้สตูดิโอเสมือน (Virtual Studio) ขนาดใหญ่ เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนฉาก ใช้อิมเมอร์ซีฟกราฟฟิก (Immersive Graphic) แบบสามมิติที่สามารถมองเห็นได้ 360 องศา ประกอบการเล่าเรื่อง และในการพยากรณ์อากาศยังใช้ข้อมูลจาก The Weather Company ซึ่งละเอียดแม้แต่ค่าแสงยูวี
แต่ด้วยความที่ไทยรัฐทีวียังถือเป็นน้องใหม่ในวงการ จึงต้องอาศัยฐานผู้ชมจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มียอดพิมพ์ 1 ล้านฉบับ ด้วยรายการส่งเสริมการขายที่เรียกว่า “เช้าอ่านสิบ เย็นหยิบแสน” ด้วยการให้ผู้ชมตัดโลโก้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐส่งชิงรางวัลทองคำหนัก 1 แสนบาท จำนวน 30 รางวัล ซึ่งจะจับรางวัลครั้งแรกในเดือนมิถุนายนนี้
การที่ยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์ลงสนามธุรกิจสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ทำให้หลายค่ายต่างหวั่นไหวพอสมควร นักข่าวภาคสนามต่างสำนักรายหนึ่งก็ชื่นชมว่าผลิตรายการข่าวได้ดี เสียอย่างเดียวคือมาช้ากว่าคนอื่น แต่ก็ดีแล้วที่ได้ออกอากาศ ไม่อย่างนั้นคนที่อยู่ข้างในจะถอดใจลาออกกัน เพราะที่ผ่านมาผลิตเองดูกันเอง เสียของเปล่าๆ
ที่เปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือก็คือช่องทีเอชวี(THV) ซึ่งแปลงร่างมาจากช่องทีวีพูลของเจ๊ติ๋ม พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ที่ได้เครือบางกอกโพสต์ซึ่งพลาดหวังจากการประมูลร่วมผลิตข่าวในชื่อ 365 โพสต์นิวส์ ออกอากาศสามช่วงเวลา ได้แก่ 365 Morning News เวลา 06.00-09.00 น., 365 Hot News 12.00-12.30 น. และ 365 Hard News 17.00-18.30 น.
นอกจากนี้ ยังได้ สุภาพ คลี่ขจาย มาจัดรายการเจาะประเด็นร้อน และเครือสยามสปอร์ตผลิตรายการสปอร์ตกูรู และสปอร์ตวาไรตี้ ส่วนทีวีพูลเองจะผลิตรายการข่าวบันเทิง ในสัดส่วนร้อยละ 30 ตั้งแต่รายการ อรุณสวัสดิ์จัดเต็ม, มอร์นิ่งเอนเตอร์เทน, ทีวีพูลไลฟ์, ทีวีพูลเซเล็บสปาย, คลิกมันส์ยันเช้าซึ่งเจ๊ติ๋มระบุว่า กสทช. ให้ข่าวบันเทิงจัดเป็นรายการข่าว
แต่ที่รู้สึกงุนงง คือ ช่องทีเอชวีได้รับใบอนุญาตประเภทช่องข่าว แต่กลับมีละคร ซิทคอม ซีรีส์ วาไรตี้เรียลลิตี้ คอมมาดี้เกมส์โชว์ โดยละครเรื่องสาวน้อยคาเฟ่, ฉันรักผัวเขา, วัยฟิน, สัญญาเมื่อสายันห์, อีพริ้งคนเริงเมือง 2014, 2499 นักเลงอันธพาล, นางโชว์, เลิฟเตอรองค์, โฟร์รูม, อลหม่านบ้านสร้างดาว ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องมันไม่ได้เข้ากับช่องข่าวเลย
สำหรับไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมากถึง 3 ใบ คือ ช่องรายการเด็กและครอบครัว ช่องวาไรตี้ความคมชัดธรรมดา และวาไรตี้ความคมชัดสูง ปรากฏว่ากลับเลือกผลิตคอนเทนต์ที่แยกออกมาจากทีวีอนาล็อกปกติ ทำเอาคนที่อยากดูละครแบบความคมชัดสูงไม่พอใจเพราะคู่แข่งอย่างช่อง 7 ออกอากาศแบบคู่ขนานได้
ช่วงทดลองออกอากาศ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา รายการข่าวช่อง 3 เอสดีในช่วงเย็นตั้งแต่ 16.00-18.00 น. จะเป็นรายการ ท็อปนิวส์วารตี้ (TOP NEWS VARIETY) นำเสนอ10 ข่าวเด่นประจำวันแล้วให้ผู้ชมโหวตผ่าน SMS ออกอากาศพร้อมกับช่อง 3 เอชดีส่วนหลังข่าวในพระราชสำนัก เวลา 20.00 น. จะเป็นช่วง บีอีซี นิวส์ (BEC NEWS)
ต่อด้วยเวลา 21.45 น. จะเป็นรายการ ฮอตนิวส์ (HOT NEWS) กับ กิตติ สิงหาปัด ออกอากาศพร้อมกับช่อง 3 เอชดี ความยาว 15 นาที จากนั้นเป็นรายการวาไรตี้ ต่อด้วยเวลา 23.00 น. จะเป็นรายการ กรุณา ทอล์ค ทูมี (Talk to me) กับ กรุณา บัวคำศรี และเวลา 23.30 น. จะเป็นรายการบีอีซี นิวส์ ทูไนท์ (BEC NEWS TONIGHT)
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557เป็นต้นไป ช่อง 3 เอสดี จะเป็นสถานีข่าวเต็มรูปแบบในทุกช่วงเวลา โดยเพิ่มรายการข่าวตั้งแต่ 06.00-08.00 น. รายการ เป็นข่าวเช้านี้ กับภาษิต อภิญญาวาท และอริสรา กำธรเจริญ และข่าวเที่ยงเปิดประเด็น ตั้งแต่เวลา11.00-13.00 น. ควบคู่ไปกับรายการละคร ซีรีส์ วาไรตี้ต่างๆ
ส่วนช่อง 3 แฟมิลี่ ซึ่งเป็นช่องรายการเด็กและครอบครัว จะมีรายการ”แฟมิลี่ นิวส์ ทูเดย์” (Family News Today) ช่วงเวลา 17.00-18.00 น. โดยสายสวรรค์ ขยันยิ่ง, สุผจญ กลิ่นสุวรรณ, นิรมล เมธีสุวกุล และ คริสโตเฟอร์ ไรท์ ขณะที่รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง และรายการแจ๋ว ในช่องอนาล็อกเดิมจะนำมาออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้
นอกจากนี้ ทราบมาว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดังจะผลิตรายการข่าวในช่อง 3 เอชดี ช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ใช้ชื่อรายการ “สรยุทธ ถึงคน ถึงข่าว” ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 อีกด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นรูปแบบคล้ายกับรายการถึงลูกถึงคน ในช่วงที่ผลิตให้กับ อสมท. และคาดว่าจะเป็นรายการที่สร้างเรตติ้งที่งดงามในบรรดาช่องเอชดี
ขณะที่ช่อง พีพีทีวี (PPTV) ธุรกิจสี่อโทรทัศน์ของตระกูลปราสาททองโอสถ รายการข่าวส่วนใหญ่จะผลิตร่วม เช่น รายการยกทัพข่าวเช้า เวลา 06.00-08.00 น. ร่วมผลิตกับบริษัท ดรีมทีม เน็ตเวิร์ค หรือจะเป็นรายการเข้มข่าวค่ำ เวลา 19.00-20.00 น. ร่วมผลิตกับบริษัท นิวส์ คอนเน็ค ทั้งสองบริษัทเคยเป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับ ททบ.5 มาก่อน
หลังจากที่มีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบจากทีวีอนาล็อก และทีวีดาวเทียม มาสู่ทีวีดิจิทัล สิ่งที่ตามมากับบุคลากรข่าวก็คือภาวะสมองไหลของค่ายสื่อต่างๆ มีทั้งการย้ายค่าย และซื้อตัวบุคลากรข่าว โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหาร ผู้อำนวยการ บรรณาธิการ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ผู้สื่อข่าวทีมงานเบื้องหลัง สายงานเทคนิค ช่างภาพ ประสานงานรายการ ฯลฯ
โดยจะเลือกเอาคนที่ “เป็นงาน” มาร่วมงาน ด้วยเหตุผลที่ว่าดึงเข้ามาแล้วก็ทำงานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลามานั่งฝึกเด็กใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง อีกทั้งในช่วงที่ทีวีดิจิทัลออกอากาศ รายการข่าวมีการแข่งขันกันสูงเพื่อเพิ่มเรตติ้งจากฐานคนดูที่มีอยู่ประจำ ยิ่งหากเป็นช่องใหม่ก็หาทางแย่งชิงคนดูจากช่องเดิมให้ได้
ภาวะสมองไหลเกิดขึ้นอย่างหนักกับค่ายสื่ออย่างน้อยสอง-สามค่าย เริ่มจากเครือเนชั่น มีคนไหลออกไปยังค่ายยักษ์ใหญ่จำนวนมาก ตั้งแต่ ประณต วิเลปสุวรรณ ย้ายข้ามห้วยไปอยู่ไทยรัฐทีวี ส่วนผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจอย่าง เทพกิจ ฉัตรสุริยาวงศ์, นเรศ เหล่าพรรณราย และสายอาชญากรรมอย่าง พชรปพน พุ่มประพันธ์ ก็ย้ายออกไปอยู่ช่อง 3
ส่วน สมภพ รัตนวลี อดีตบรรณาธิการบริหารเนชั่นแชนแนล ลาออกพร้อมขนทีมงานนับสิบชีวิต ไปทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ชื่อ ดรีมทีม เน็ตเวิร์ค แบบเต็มตัว จากที่ก่อนหน้านี้ร่วมกับเนชั่นผลิตรายการให้กับช่อง 5 โดยเฉพาะ บรรจง ชีวมงคลกานต์ กับ วิจิตรา ดวงดี ที่ไปเป็นพิธีกรรายการ ยกทัพข่าวเช้า ทางช่อง พีพีทีวี ก็มีดรีมทีมเน็ตเวิร์คเป็นผู้ร่วมผลิต
ขณะที่ไทยพีบีเอส ผู้ประกาศข่าวแม่เหล็กของช่องอย่าง ประวีณมัย บ่ายคล้อยและ ชัยรัตน ถมยา พร้อมด้วย กมลวรรณ ตรีพงศ์, พิมพ์นารา อรุณโน และ เบญจมาลัญช์ ทิพย์ขันทอง ย้ายไปช่อง 3 ขณะที่ อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ อดีตบรรณาธิการรายการตอบโจทย์ ลาออกไปอยู่กับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา อดีตพิธีกรรายการตอบโจทย์ที่ช่องอมรินทร์ทีวี
ขณะที่ ททบ.5 ผู้ประกาศแม่เหล็กลาออกไปอยู่ทีวีดิจิทัล อย่าง เขมสรณ์ หนูขาว ย้ายไปไทยรัฐทีวีด้วยค่าตัวหลักแสน พร้อมกับ สืบสกุล พันธ์ดี ขณะที่ มนัส ตั้งสุข และกรสุมา เจียมสระน้อย ย้ายไปอ่านข่าวเที่ยงที่พีพีทีวี ทำให้ขณะนี้ททบ.5 ต้องประกาศรับสมัครนายทหารสัญญาบัตรชาย-หญิง ชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีถึงร้อยเอกเป็นผู้ประกาศข่าวไปแล้ว
ด้าน อสมท. นอกจาก เขมทัตต์ พลเดช ที่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ทาบทามให้เข้ามานั่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แล้ว ยังมี สุระ เกนทะนะศิล อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. และ หทัยดิส มุ่งถิ่น อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและวิจัยตลาด อสมท. ถือเป็นมันสมองให้กับช่อง 9 มาเป็นผู้บริหารให้กับพีพีทีวีเรียบร้อย
ขณะที่ พัชระ สารพิมพา อดีตผู้อำนวยการฝ่ายคลื่นวิทยุ 100.5 ได้ลาออกจาก อสมท. มาอยู่ที่สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ซึ่งเจ้าตัวให้เหตุผลว่า ต้องการมาทำงานให้ ศุทธิชัย บุนนาค ปัจจุบันเกษียณอายุจาก อสมท. มาเป็นประธานบอร์ดสปริงนิวส์จากการชักชวนของ ฉาย บุนนาค เจ้าของโรงพิมพ์ตะวันออก ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สปริงนิวส์
ก่อนหน้านี้ยังมีอดีตลูกหม้อของ อสมท. เข้ามามีบทบาทในสปริงนิวส์มากขึ้น ไล่ตั้งแต่ สุรชา บุญเปี่ยม นักข่าวมือรางวัลของ อสมท. มาดำรงตำแหน่ง Executive News Producer หรือจะเป็น สุวิทย์ บุตรพริ้ง นักจัดรายการวิทยุคลื่น 100.5 อสมท. ดำรงตำแหน่ง Executive News Producer และเป็นพิธีกรรายการไขปมข่าว
ขณะที่สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า นักข่าวช่อง 9 อสมท. อายุงานประมาณ 3 ปีประจำทำเนียบรัฐบาล วันนี้ได้รับการเสนอค่าตอบแทนจากช่อง 3 อัตราตอบแทน 40,000 บาทต่อเดือนซึ่งหากเป็นเรื่องจริงจะมากกว่าเงินเดือนนักข่าวเครือบางกอกโพสต์ที่ถือว่าสูงที่สุดในตลาดวิชาชีพสื่อสารมวลชน และบรรดาสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาทต้นๆ
ส่วนเครือบางกอกโพสต์ที่ร่วมผลิตข่าวให้กับช่องทีเอชวี ก่อนหน้านี้ได้ดึงตัว วิลาสินี แวน ฮาเรนเข้ามาดำรงตำแหน่ง Creative program group head and News anchor พร้อมดึงผู้ประกาศข่าวชื่อดัง อาทิ อัครพล ทองธราดล ที่ลาออกจากไทยพีบีเอสแล้วเป็นฟรีแลนซ์ระยะหนึ่ง กับ ศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา ที่ก่อนหน้านี้เคยเห็นที่เดลินิวส์ทีวี
นอกจากนี้ยังได้ดึงตัว ศุภชาติ ศุภเมธี จากโมเดิร์นไนน์ทีวี, รัฐวุฒิ มิตรมาก และ กาญจนา ทัพจีน จากเอเอสทีวี และผู้สื่อข่าวภาคสนามที่จำได้ก็มี วีระยุทธ วิริยะสัจจะจิตร จากไทยพีบีเอส, ดารินทร์ สมวงศ์ จาก ทีเอ็นเอ็น 24 รวมทั้งยังได้ดึงดีเจและดารา นางแบบมาดำเนินรายการ อาทิ ผลิตโชค อายนบุตร, พิจิตรา สิริเวชพันธ์, เกียรติยศ เกียรติสูงส่ง ฯลฯ
ขณะที่ไบร์ท ทีวี ของสมชาย รังษีธนานนท์ ผู้ผลิตรายการข่าวห้าหน้าหนึ่ง และบันเทิงห้าหน้าหนึ่ง นอกจากได้อดีตคนข่าวไอทีวีอย่าง วรวีร์ วูวนิช มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการสายงานผลิตแล้ว ยังได้ รัชนีวรรณ ดวงแก้ว ซึ่งย้ายมาจากสปริงนิวส์ทำหน้าที่เบื้องหลัง และหลังจากที่วรวีร์มาทำไบร์ททีวีเต็มตัว เธอได้เลิกจัดรายการเอฟเอ็ม 101 ไปแล้ว
อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการเนชั่นทีวี เคยกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ว่า หากค่ายไหนประกาศตัวว่าจะเป็นสถานีข่าวแต่ทำได้ด้วยเพราะมีเงินเยอะ ตั้งหน้าตั้งตาทาบทามคนหน้าจอของสถานีอื่น หรือพูดแบบไม่ค่อยสุภาพคือซื้อคน ไม่เคยคิดลงทุนสร้างคนเองจะยั่งยืนบนความน่าเชื่อถือของข่าวสารได้อย่างไร
สอดคล้องกับที่ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารจีเอ็ม ระบุว่า ตอนนี้สังคมไทยถูกกระแสโฆษณาชวนเชื่อ ว่าช่อง 3 เป็นช่องข่าว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เขาวางโพสิชันนิ่งตัวเองไว้แบบนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ถ้าเป็นช่องข่าว ต้องให้ข่าวมีความสำคัญมากกว่าอย่างอื่น ไม่ใช่ว่าพอมีข่าวด่วนมาในช่วงละคร แต่คุณไม่เคยยกผังเลย แบบนี้จะถือเป็นช่องข่าวได้อย่างไร
ขณะที่บทวิเคราะห์จากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ภาวะฝุ่นตลบในวงการทีวีดิจิตอลตอนนี้ เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า สื่อหลายค่ายเน้นผู้ประกาศหน้าจอ มากกว่าแข่งขันกันผลิตเนื้อหาสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนและถ้าทีวีเมืองไทย วัดกันที่เปลือกและสายป่านอีกสักพักจะรู้กันว่าใครอยู่ ใครเก็บฉาก
โดยส่วนตัวผมกลับมองว่า ช่องข่าวที่เกิดขึ้นอยู่ดาษดื่นขนาดนี้ นอกจากจะเน้นผู้ประกาศข่าวแล้ว การผลิตเนื้อหาก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่เท่าที่ดูกลับพบว่าแต่ละช่องมักจะถนัดแตะข่าวชาวบ้าน ข่าวที่เป็นกระแสสังคม หรือข่าวที่มีผลกระทบกับสังคม แต่มักจะแตะข่าวการเมืองน้อยมาก หรือแตะอย่างระมัดระวังในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้
ในปัจจุบันตลาดสถานีข่าวถูกแบ่งเป็นตลาดนีชมาร์เก็ตมากขึ้น สถานีที่มีความเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองต่างมีฐานผู้ชมเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เอเอสทีวีก็มีฐานผู้ชมที่มีแนวคิดสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดิม เอเชียอัปเดตมีกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย บลูสกายมีกลุ่ม กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์
คนกลุ่มนี้หากจะดูข่าวจากช่องทีวีดิจิทัล ต่อให้นำเสนออย่างหลากหลายก็มักจะมองว่าไม่เข้าถึงอารมณ์เมื่อเทียบกับทีวีที่มวลชนแต่ละสีเสื้อติดตามอยู่ จะมีก็แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญที่มักจะหมุนวนไปแต่ละช่อง โดยเฉพาะสถานีข่าวหลักๆ อย่างเนชั่นทีวี สปริงนิวส์ หากสถานีข่าวอื่นๆ ไม่ตัดเข้าข่าวเพื่อตามประเด็นความน่าเชื่อก็จะลดลง
อีกด้านหนึ่ง หากสถานีข่าวแต่ละแห่งยังเล่นประเด็นซ้ำๆ ซากๆ อยู่แทบทุกสถานี สุดท้ายคนดูจะรู้สึกภาวะที่เรียกว่า ภาวะข้อมูลท่วมท้น หรือ Information Overload เพราะทุกวันนี้ไม่ได้เสพสื่อเฉพาะโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ยังมีอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทต่อองค์ความรู้ แต่ก็กลายเป็นความรู้ในทำนองรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
ขณะที่คนทำคอนเทนต์ ในเมื่อประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมไม่มีความแปลกใหม่ ยังคงพายเรือวนอยู่ในอ่าง สุดท้ายแล้ววันหนึ่งจะเกิดภาวะที่เราต้องตั้งคำถามว่า “วันนี้จะเอาอะไรไปออกอากาศ” เพราะแม้บางวันจะไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ แต่ทีวีก็ยังออกอากาศแบบเผาเวลากันไป ต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่ยังมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอได้
ในช่วง 6 เดือนแรกเราจะเห็นทีวีดิจิทัลแต่ละช่องเริ่มก่อร่างสร้างตัว โดยเฉพาะช่องข่าว ก่อนที่ในช่วงปลายปีนี้จะแข่งขันกันไปอย่างน้อยๆ 1-2 ปี ตอนนั้นก็คงเห็นผลแล้วว่าใครจะเป็นดาวเด่น ใครจะเป็นดาวดับ ถึงที่สุดก็กระทบกับสัมปทานที่ กสทช. มอบให้ 15 ปี หากโฆษณาไม่เข้าเป้า ไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องเจ๊งกันไปข้าง