xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ซบกระทบการจ้างงานอัตราการวางงานขยับ0.8%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -ศูนย์วิจัยสิกรไทย เผย สัญญาณเศรษฐกิจซบเซาดึงอัตราการว่างงานขยับขึ้น 0.8% แม้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานพื้นฐาน ขณะแรงงานปริญญาตรีมีแนวโน้มเตะฝุ่นเพิ่มขึ้น เหตุจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะความต้องการตำแหน่งงานใหม่ยังคงจบเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ไร้แรงขับในช่วงหลายเดือนติดต่อกัน ทำให้ภาคธุรกิจในหลายๆ จำต้องปรับลดกำลังการผลิต ลดชั่วโมงการทำงาน และชะลอการจ้างแรงงานใหม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญของตลาดแรงงานไทยในปี 2557

ประเทศไทยที่พึ่งพาแรงงานพื้นฐานเป็นจำนวนมากในแถบทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมและภาคก่อสร้าง อีกทั้งยังมีความต้องการแรงงานกึ่งทักษะกลุ่มอาชีวะศึกษาในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ทำให้ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลาดแรงงานไทยต้องประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานมาโดยตลอด ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้แรงงานต่างด้าว และจ้างแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับลักษณะงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยในปี 57 สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในขณะที่แรงงานขั้นพื้นฐานที่ยังคงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่แรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีน่าจะหางานทำได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้ภาวะการจ้างงานในภาพรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามบรรยากาศเศรษฐกิจและผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถดูดซับแรงงานส่วนเกินได้มากนัก ทั้งนี้ สัญญาณอ่อนแอของตลาดแรงงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนับจากต้นปี 57 สะท้อนจาก จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 1/2557 ที่เพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44 แสนคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 28.2% หรือประมาณ 75,700 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 2.69 แสนคนต่อเดือน ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 57 ขยับขึ้นมาที่ 0.9% เทียบกับ 0.7% ในช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับ แนวโน้มตลาดแรงงานปี 57คาดว่าสภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 1.8% อาจกดดันให้ตลาดแรงงานในภาพรวมมีภาพที่ซบเซาลง ทั้งนี้ คาดว่า อัตราการว่างงานในปี 2557 อาจขยับขึ้นมาที่ 0.8% จาก 0.7% ในปี 56 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจปรับขึ้นมาที่ 3.20 แสนคน จากระดับ 2.82 แสนคนในปี56 หากพิจารณารวมจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ (สะท้อนถึงภาวะการว่างงานแฝงที่น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น) ก็อาจทำให้อัตราการว่างงานรวมผู้ทำงานต่ำระดับขยับสูงขึ้นมาที่ 1.5% เทียบกับ1.3% ในปี 56

ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานในปี57 จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก บ่งชี้ถึงสภาพความตึงตัวของตลาดแรงงานที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานพื้นฐานที่รองรับการทำงานประเภท 3 D ได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานยาก (Difficult) และงานอันตราย (Dangerous) รวมถึงงานที่ไม่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนมากนักในภาคบริการ ขณะที่ แรงงานในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานปริญญาตรีในสาขามนุษย์ศาสตร์/สังคมศาสตร์ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด อาจเผชิญความยากลำบากในการหางานทำ และอาจไม่สามารถต่อรองค่าตอบแทนได้มากนัก เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับตำแหน่งงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น