xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบกลไกตลาดแรงงานไทยบกพร่อง ส่งผลใช้ศักยภาพไม่เต็มที่ สัญญาณชี้เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลวิจัยพบกลไกตลาดแรงงานไทยบกพร่อง ไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานให้อยู่ในที่ๆ ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ชี้กลไกการปรับตัวของอัตราค่าจ้างไม่สมเหตุสมผล ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

งานสัมมนาวิชาการ Symposium 2013 เรื่อง “บทบาทของตลาดแรงงานกับความสามารถในการแข่งขันของไทย” (Labour Market Functioning and Thailand’s Competitiveness) ที่จัดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการที่จัดทำขึ้นโดยหลายสถาบันเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจในประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานทั้งแง่ “ปริมาณ” และ “ทักษะ” ที่ตรงตามความต้องการ รวมทั้ง “อัตราการลาออก” ของลูกจ้างสูงกว่าในอดีตมาก

เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลสถิติผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสาขาวิชาต่างๆ แล้วพบว่า แรงงานที่ผลิตออกมาสู่ตลาดมีทิศทางของทักษะความชำนาญไม่ตรงกับความต้องการจากฝั่งนายจ้าง เกิดความไม่สมดุลระหว่าง supply กับ demand นำมาซึ่งสภาวะตลาดแรงงานตึงตัว ภาวะขาดแคลนแรงงานถูกหยิบยกขึ้นเป็นหนึ่งในข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินธุรกิจไทยในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ชวนสงสัยคือ เครื่องบ่งชี้ภาพรวมตลาดแรงงานไทยกลับไม่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของความไม่สมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานแรงงาน เพราะ(1) แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาความไม่สอดคล้องของทักษะแรงงาน แต่อัตราการว่างงานโดยรวมยังทยอยปรับลดลงจนอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ว่าจะเทียบกับอดีตหรือเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น โดยในปี 2555 ไตรมาส 3 อัตราการว่างงานไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เท่านั้น

(2) แม้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะตลาดแรงงานตึงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานระดับประถมศึกษาที่มีแนวโน้มจะโยกย้ายออกจากภาคอุตสาหกรรมและบริการไปทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น ตามการปรับสูงขึ้นของค่าจ้างที่ได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง แต่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงโดยรวมไม่ได้ปรับเพิ่มเท่าใดนัก อัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่แท้จริงของกลุ่มลูกจ้างค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ปรับลดลงมามากจากผลกระทบของวิกฤตปี 2540 และกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤตได้ในปี 2554 และเริ่มปรับสูงกว่าได้ในปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนำร่องในบางจังหวัด

หากพิจารณาจากเครื่องบ่งชี้ทั้ง 2 นี้ จึงดูเหมือนว่าตลาดแรงงานไทยในภาพรวมค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพในการจัดสรรกำลังแรงงาน โดยที่กลไกการจัดสรรของตลาดแรงงานเองก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของอัตราค่าจ้างเท่าใดนัก

ดังนั้น งานศึกษานี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างตลาดแรงงานในช่วงที่ผ่านมาและประเมินบทบาทการทำหน้าที่ของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน โดยอาศัยข้อมูลระดับจุลภาคเป็นสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงมิติของตลาดแรงงานเชิงลึกมาสู่ภาพรวมที่กำลังเป็นประเด็นสงสัยนี้ได้

โดยได้ตั้ง 3 คำถามที่สำคัญ คือ 1) ตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และมีบทบาทเอื้อต่อการเติบโตของผลิตภาพแรงงานและเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไร 2) กลไกการทำงานของตลาดแรงงานไทยทำหน้าที่ได้ดีเพียงใดในปัจจุบัน และ 3) จากการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึกเข้ากับภาพรวมตลาดแรงงานชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างใดบ้างที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทย อันจะนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างไร

ผลศึกษาชี้ว่า ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเร่ง ผลิตภาพแรงงานไทยสูงขึ้นถึง 43% ระหว่างช่วงปี 2534-2539 แรงงานจึงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยในอัตราที่สูงตาม แต่น่าเสียดายที่ข้อได้เปรียบต่อความสามารถในการแข่งขันนี้กลับทยอยลดลงไปหลังวิกฤตฯ แม้แรงงานไทยจะมีการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ผลิตภาพแรงงานไทยระหว่างช่วงปี 2549-2555 เพิ่มขึ้นเพียง 5% เท่านั้น ส่งผลให้อัตราค่าจ้างโดยรวมไม่ได้ปรับเพิ่มมาก ทำให้เกิดคำถามต่อเนื่องถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในการศึกษาของไทยทั้งที่จัดหาโดยรัฐและโดยความอุปถัมภ์จากทางบ้าน

จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณต่อการปรับตัวของตลาดแรงงานใน 3 เหตุการณ์สำคัญ คือ (1) ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (2) ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2552 และ (3) ช่วงที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ตลาดแรงงานไทยมีกลไกในการจัดสรรอุปทาน (supply) แรงงานส่วนเกินได้ดีในการรองรับเหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แต่กลไกด้านอื่นของตลาดแรงงานไทยกลับไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะการปรับตัวภายหลังจากที่ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจค่อยๆ จางลงแล้ว ภาพรวมอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และการชะลอตัวของผลิตภาพแรงงาน ตลอดจนอัตราค่าจ้างในมิติจุลภาคที่เห็นนั้น

กลับกลายเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงาน นำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานจากงานที่ใช้ผลิตภาพสูงสู่งานที่ใช้ผลิตภาพต่ำกว่า (misallocation) แรงงานไหลออกสุทธิจากภาคอุตสาหกรรมสู่การไหลเข้าสุทธิในภาคบริการ ซึ่งหมายรวมถึงภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนักในตลาดแรงงานนอกระบบที่มีสัดส่วนการจ้างงานถึงร้อยละ 30 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น