ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเทศกาลสงกรานต์ ใครที่ผ่านพระบรมรูปทรงม้า บริเวณพระราชวังดุสิต จะพบเห็น “นั่งร้าน”“ผ้าสแลนสีเขียว”คลุมพระบรมรูปอยู่ มีบางคนเอาไปนินทาว่า เป็นการเล่นของ(สิ่งศักด์สิทธิ์) ของใครหรือเปล่า ได้รับคำตอบแล้วว่า
“พระบรมรูปทรงม้า” อยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ติดตั้งนั่งร้านโดยรอบพระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น ซึ่งประชาชนยังสามารถเดินทางมาสักการะได้เหมือนเดิม แต่หลังจากซ่อมเสร็จแล้ว จะมีการจัดโซนพื้นที่ให้ประชาชนสักการะ และจัดวางเครื่องบูชาให้มีความเหมาะสม”
ใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน 2 เดือน โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. คาดจะเสร็จสิ้น 27 มิ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้สำนักวรรณกรรม ดำเนินงานรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ เกี่ยวกับหลักการสักการะพระบรมรูปทรงม้าที่ถูกต้อง และจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ กรมศิลปากร www.finearts.go.th
สำหรับองค์พระบรมรูปทรงม้านั้น หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ประดิษฐานบนแท่นรองทำด้วยหินอ่อน ตรงฐานด้านขวามีอักษรฝรั่งเศสจารึกชื่อช่างปั้นและช่างหล่อชาวไว้ว่า C.MASSON SEULP 1980 และ G.Paupg Statuare และด้านซ้ายเป็นชื่อบริษัทที่ทำการหล่อพระบรมรูปทรงม้าว่า SUSSF Fres FONDEURS. PARIS สำหรับแท่นศิลาอ่อนด้านหน้า มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทยติดประดับแสดงพระบรมราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยืนนาน.
เรื่องนี้ “นายเอนก สีหามาตย์” อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า กรมศิลปากรจะได้ดำเนินการปรับปรุงพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือ "พระบรมรูปทรงม้า" ซึ่งมีอายุถึง 106 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จากเหตุหลายปัจจัย ทั้งฝุ่น ควันรถ ควันธูป คราบเทียน น้ำฝน แสงแดด รวมถึงก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น
อีกทั้งยังไม่ได้รับการปรับปรุงอย่างสมบูรณ์มานานกว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กลุ่มประติมากรรมโลหะ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เข้ามาดำเนินการ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ งานปรับปรุงซ่อมเครื่องประกอบพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งจะมีการซ่อมล้างทำความสะอาดพระบรมรูป ซ่อมลายก้านดอกไม้ที่สูญหาย หล่อ และตกแต่งผิวให้ใกล้เคียง ซ่อมล้างตกแต่งผิวเสาหล่อโลหะ จำนวน 10 ต้น และโซ่โลหะทั้งหมด
ขณะเดียวกัน มีการขัดล้างทำความสะอาดคราบแผ่นทองคำเปลว ออกจากลวดลายใบไม้หล่อโลหะประกอบแท่นฐาน และแผ่นจารึก รวมทั้งมีการเสริมโครงสร้างเสาหล่อโลหะ โดยการตอกเสาเข็มเสริมเสาทั้ง 10 ต้น ยึดโซ่ ปรับแต่งแนวและระดับ ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานดังกล่าว จะแล้วเสร็จวันที่ 27 เม.ย.นี้ ยกเว้นการล้างทำความสะอาดลวดลายขอบแท่นฐานด้านล่าง และการรื้อถอนเสารั้วและโซ่คล้องเสาทั้งหมด ซึ่งจะนำกลับมาดำเนินงานที่สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา แล้วนำมากลับมาติดตั้งที่เดิม
นอกจากนี้ ยังมีการจัดปรับปรุงงานภูมิทัศน์โดยรอบแท่นฐาน ประกอบด้วย งานซ่อมทำความสะอาด บริเวณแท่นฐานพื้นโดยรอบฐาน งานวัสดุพืชพันธุ์ และงานไฟฟ้าส่องสว่าง
นี้คือคำตอบของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ทำไมต้องซ่อมแซมพระบรมรูปทรงม้าเวลานี้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 แผนดังกล่าวนี้ เริ่มต้นเมื่อ “นายธวัชชัย กฤติยาภิชาตกุล” ประธานมูลนิธิ 23 ตุลาราชานุสรณ์ และผู้จัดทำสารคดีโทรทัศน์ประวัติศาสตร์ชุด 100 ปีไกลบ้านตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตั้งข้อสังเกตว่า พระบรมรูปทรงม้า มีอายุครบ 100 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมายังไม่เคยมีการบูรณะซ่อมแซมพระบรมรูปทรงม้าอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่พระบรมรูปได้ถูกฝนกรดกัดเซาะจนเกิดความเสียหายถึง 4 จุด พื้นผิวเปลี่ยนเป็นสีเขียวจากการตากแดด ตากฝน และถูกควันมลพิษต่างๆ ทำให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก
“จากการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงหล่อพระบรมรูปทรงม้าที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อตามรอยเส้นทางเสด็จประพาสยุโรป ได้พบปะพูดคุยกับเจ้าของโรงหล่อ ซึ่งได้สอบถามด้วยความประหลาดใจว่า เหตุใดถึงยังไม่มีการบูรณะพระบรมรูปทรงม้า ที่มีอายุยาวนานถึงหนึ่งศตวรรษแล้ว เพราะว่าพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ยังต้องใช้เวลาซ่อมรักษาทั้งหมดสองปี โดยยกไปดำเนินการที่โรงหล่อ แต่ในส่วนของพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ไม่สามารถเคลื่อนย้ายองค์พระรูปไปที่อื่นได้ จึงมีแนวคิดว่าควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณะจากโรงหล่อที่ฝรั่งเศส เข้ามาทำงานร่วมกับช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากร”
"ทายาทโรงหล่อของฝรั่งเศสยังคงเก็บรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญไว้เป็นอย่างดี ทั้งข้อมูลเอกสารและภาพถ่าย เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับโรงหล่อเพื่อเป็นแบบให้ช่างปั้นเมื่อปี พ.ศ.2450 แบบร่างพระบรมรูป บัญชีเงินค่าจ้าง และเทคนิคการสร้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่"
การบูรณะพระบรมรูปทรงม้าเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ตนเคยหารือกับทางกรมศิลปากร ทราบว่ามีขั้นตอนเยอะ โดยจะต้องนำเรื่องเสนอคณะกรรมการอนุสาวรีย์แห่งชาติ เพื่อนำไปพิจารณาเป็นอันดับแรก ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมควรเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมูลนิธิ 23 ตุลาราชานุสรณ์ จะฝ่ายรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและประสานงานกับทางโรงหล่อที่ฝรั่งเศส
ประธานมูลนิธิ 23 ตุลาราชานุสรณ์กล่าวไว้ช่วงนั้น
ช่วงเดียวกัน นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ในช่วงนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพระบรมรูปทรงม้า
มีการกล่าวอ้างว่า แต่การบูรณะครั้งใหญ่ได้นั้นต้องมีความเสียหายอย่างมาก ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างพระบรมรูป ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้เข้าไปดูแลรักษาพระบรมรูปก่อนถึงวันพิธีถวายสักการะในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยรมดำและทำความสะอาด เนื่องจากมีสนิมสีเขียวเกาะแน่น ซึ่งจะเกิดขึ้นกับพระบรมราชานุสาวรีย์ทุกแห่งที่หล่อด้วยวัสดุโลหะ เมื่อตากฝนเป็นเวลานานจึงทำให้เปลี่ยนสภาพดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าจะมีรอยรั่วหรือแตกหักด้วยหรือไม่
ตอนนั้นอดีตอธิบดีกรมศิลปากร พูดถึง อำนาจในการบูรณะของ “กรุงเทพมหานคร” ว่าพระบรมรูปทรงม้าเคยได้รับการซ่อมแซมเฉพาะบางส่วนมาแล้ว แต่หากจะให้มีการซ่อมครั้งใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงคือ กรุงเทพมหานคร ต้องแจ้งความประสงค์และจัดสรรงบประมาณให้เราเข้าไปดำเนินการ"
ขณะที่กรมศิลปากรมีหน่วยตรวจสอบพระบรมราชานุสาวรีย์ต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว
หากย้อนกลับไปเมื่อ13 มีนาคม พ.ศ. 2555 เรื่องนี้กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินการมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตกแต่ง สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พร้อมเจ้าหน้าที่บริษัทมาร์เบิล รีนิวเวล(ประเทศไทย)จำกัด ได้เข้าดำเนินการตั้งนั่งร้านบริเวณฐานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูบูรณะหินอ่อน หินแกรนิต ซ่อมรอยร้าวหินอ่อน บัวเชิงผนังแท่น ล้างขัดองค์พระบรมรูป และส่วนประกอบที่เป็นโลหะบริเวณโดยรอบพระบรมรูปทรงม้า โดยมี นายชัยพร ศรีคง นายช่างโยธาปฏิบัติงาน กลุ่มงานตกแต่ง สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา เป็นผู้ควบคุมงาน
ขณะที่ กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัท มาร์เบิลฯ เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุง มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 15 วัน ในวงเงินจ้างเหมา 761,000 บาท
การบูรณะครั้งนั้นใช้เวลา 15 วัน แต่การบูรณะของ กรมศิลปากรจะใช้เวลา 2 เดือน โดยให้กลุ่มประติมากรรมโลหะ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เข้ามาดำเนินการทั้งหมด โดยไม่มีการเปิดเผยงบประมาณในการซ่อมแซม เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดจาก กทม.
ส่วนงานบูรณะใหญ่ต่อไประหว่างกรมศิลปาหร ที่จะทำร่วมกับ กทม. แว่วมามาว่า จะเป็น “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”ที่ไม่ได้ซ่อมแซมมากกว่า 70 ปี โดยกรมศิลปากรจะเป็นผู้ออกแบบ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นคนจ่ายเงิน