ในขณะนี้สายตาของประชาชนไทยทั้งประเทศกำลังจับจ้องติดตามการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ ในกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อนำพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป?
ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 และมีคำสั่งให้นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นคำคัดค้านแก้คดีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของศาล ซึ่งคาดว่าจะครบกำหนดราววันที่ 20 เมษายน 2557
แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ฟ้องนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และคดีถึงที่สุดแล้วว่าการที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้นเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยไม่ชอบ เพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง เพราะเป็นการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อที่จะให้มีตำแหน่งว่างลง แล้วย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาครองตำแหน่งแทน เพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง แล้วแต่งตั้งพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นพี่ภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสร็จเด็ดขาดเป็นที่สุดแล้ว แล้วโดยทางผลของกฎหมาย เมื่อนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกร้องหรือเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษานั้นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายย่อมผูกพันนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีอื่นด้วย
ดังนั้นเมื่อกระบวนการที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นคำคัดค้านเสร็จสิ้นลง ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจมีคำสั่งงดไต่สวนพยาน แล้วฟังพยานหลักฐาน อันเป็นที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ
กรณีจึงไม่ต้องสืบพยานตามวิธีพิจารณาความในศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะประชุมปรึกษาคดีได้ทันที จากนั้นก็จะได้มีคำวินิจฉัย และถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำความผิด ความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
รัฐธรรมนูญมาตรา 182 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อมีกรณีต่างๆ เกิดขึ้นหลายกรณี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ ได้กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267, มาตรา 268 และมาตรา 269
การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการอันเป็นความผิดรัฐธรรมนูญก็คือการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว
คำว่า “ความเป็นรัฐมนตรี” นั้น หมายถึงรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง กรณีก็จะต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 180 ที่บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182
คนทั้งหลายจึงรู้จึงเข้าใจอย่างเดียวกันว่า เมื่อใดที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย
ปรากฏว่าเริ่มมีเสียงแย้มออกมาจากทีมงานของพรรคเพื่อไทยว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเช่นนั้น ทั้งนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีทั้งคณะก็ยังจะต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะทั้งหมดนั้นได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันยุบสภา ที่ยังอยู่นี้ก็เพราะต้องทำหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ในมาตรา 181
เป็นการตั้งแง่ไม่ยอมรับปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้มิต้องคำนึงถึงคุณธรรม หรือจริยธรรม หรือหลักนิติธรรมใดๆ กันอีกต่อไปแล้ว
แล้วประชาชนจะมองเรื่องนี้ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างไร?
ประการแรก จะต้องทำความรู้ความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติกรณีเรื่องนี้ไว้ด้วยถ้อยคำสองคำที่มีความหมายต่างกัน คือคำว่า “สิ้นสุด” กับคำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” โดยคำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” นั้นอาจต้องทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้ แต่คำว่า “สิ้นสุด” นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงทั้งตำแหน่งและหน้าที่ นี่คือความแตกต่างที่เป็นนัยยะและสาระสำคัญของเรื่องนี้
ประการที่สอง เมื่อมีการยุบสภาหรือเมื่อวาระของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ต้อง “อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” ซึ่งมีความชัดเจนว่าให้อยู่ใน “ตำแหน่ง” และ “เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” นี่เป็นกรณีสำหรับการพ้นตำแหน่ง
ประการที่สาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ซึ่งเป็นผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “สิ้นสุดลง” จึงเป็นการพ้นทั้ง “ตำแหน่ง” และพ้นทั้ง “ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” ด้วย
ประการที่สี่ เมื่อนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นทั้งจากตำแหน่งและต้องพ้นทั้งจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแล้ว ก็เป็นผลให้บรรดารัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเช่นเดียวกันด้วย
นี่คือความหมายที่แท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ดังนั้นหากจะมีการแถว่าไม่พ้นจากตำแหน่ง ไม่พ้นจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงเป็นการแถข้างๆ คูๆ ที่ไม่มีผลใดๆ ตามกฎหมาย และฐานะการดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงทั้งคณะในพลันที่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำความผิด
และนับแต่เวลานั้นจะสั่งราชการ จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ จะใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณแผ่นดินใดๆ ไม่ได้เด็ดขาด ส่วนราชการและข้าราชการทั้งหมดไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามอีกต่อไป แต่ถ้ายังดึงดันและมีใครร่วมคบคิดเพื่อให้มีอำนาจต่อไป นั่นก็หมายความว่าได้ก่อเกิดการกบฏเพื่อยึดอำนาจหรือรัฐประหารตัวเองเกิดขึ้นแล้ว!
นั่นจะเป็นจุดชนวนวิกฤตใหญ่ในประเทศ เพราะเมื่อผู้ที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ได้ยึดอำนาจรัฐ ก็เป็นการกระทำกบฏต่อแผ่นดินชัดเจน ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งหลายในการกำราบปราบปรามและจัดการกับการก่อกบฏนั้น
ณ เวลานั้นนั่นแหละ บทบาทของกองทัพไทยและผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายว่าจะสนับสนุนผู้ก่อกบฏ หรือจะจัดการกับผู้ก่อกบฏ ก็คงจะได้เห็นกัน!
ถ้าหากกองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมด้วยกับผู้ก่อกบฏ ก็จะเป็นการกระทำการปฏิวัติโดยนักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติตนเองโดยนักการเมือง และมีกองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วม ณ บัดนั้นก็จะเป็นอันสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน ระบอบทักษิณก็จะยึดประเทศไทยในรูปของการปฏิวัติตัวเอง
ถ้าหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น มวลมหาประชาชนไม่ว่าที่มีองค์กรใดเป็นองค์กรนำ จะทำกันอย่างไร รวมทั้งบรรดานายทหารทั้งหลายของทุกเหล่าทัพที่ไม่ยอมตามผู้บัญชาการเหล่าทัพ และไม่ยอมเข้าร่วมการก่อกบฏ จะตัดสินใจอย่างไรและจะทำกันอย่างไร
ก็ต้องคิดอ่านกัน เพราะวันเวลานั้นใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว มันจะเกิดขึ้นในยามที่พระอาทิตย์โคจรสถิตในราศีเมษ ทรงพลานุภาพแกร่งกล้า มีดาวพฤหัสผู้ทรงคุณธรรมโยกอยู่ข้างหน้า มีดาวพระเสาร์ พระราหูอันหมายถึงมวลมหาประชาชนเล็งลัคนาอยู่ในราศีตุลย์นั้น.
ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 และมีคำสั่งให้นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นคำคัดค้านแก้คดีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของศาล ซึ่งคาดว่าจะครบกำหนดราววันที่ 20 เมษายน 2557
แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ฟ้องนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และคดีถึงที่สุดแล้วว่าการที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้นเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยไม่ชอบ เพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง เพราะเป็นการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อที่จะให้มีตำแหน่งว่างลง แล้วย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาครองตำแหน่งแทน เพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง แล้วแต่งตั้งพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นพี่ภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสร็จเด็ดขาดเป็นที่สุดแล้ว แล้วโดยทางผลของกฎหมาย เมื่อนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกร้องหรือเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษานั้นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายย่อมผูกพันนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีอื่นด้วย
ดังนั้นเมื่อกระบวนการที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นคำคัดค้านเสร็จสิ้นลง ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจมีคำสั่งงดไต่สวนพยาน แล้วฟังพยานหลักฐาน อันเป็นที่สุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ
กรณีจึงไม่ต้องสืบพยานตามวิธีพิจารณาความในศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะประชุมปรึกษาคดีได้ทันที จากนั้นก็จะได้มีคำวินิจฉัย และถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำความผิด ความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
รัฐธรรมนูญมาตรา 182 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อมีกรณีต่างๆ เกิดขึ้นหลายกรณี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ ได้กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267, มาตรา 268 และมาตรา 269
การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการอันเป็นความผิดรัฐธรรมนูญก็คือการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว
คำว่า “ความเป็นรัฐมนตรี” นั้น หมายถึงรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง กรณีก็จะต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 180 ที่บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182
คนทั้งหลายจึงรู้จึงเข้าใจอย่างเดียวกันว่า เมื่อใดที่นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย
ปรากฏว่าเริ่มมีเสียงแย้มออกมาจากทีมงานของพรรคเพื่อไทยว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเช่นนั้น ทั้งนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีทั้งคณะก็ยังจะต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะทั้งหมดนั้นได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันยุบสภา ที่ยังอยู่นี้ก็เพราะต้องทำหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ในมาตรา 181
เป็นการตั้งแง่ไม่ยอมรับปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้มิต้องคำนึงถึงคุณธรรม หรือจริยธรรม หรือหลักนิติธรรมใดๆ กันอีกต่อไปแล้ว
แล้วประชาชนจะมองเรื่องนี้ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างไร?
ประการแรก จะต้องทำความรู้ความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติกรณีเรื่องนี้ไว้ด้วยถ้อยคำสองคำที่มีความหมายต่างกัน คือคำว่า “สิ้นสุด” กับคำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” โดยคำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” นั้นอาจต้องทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้ แต่คำว่า “สิ้นสุด” นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงทั้งตำแหน่งและหน้าที่ นี่คือความแตกต่างที่เป็นนัยยะและสาระสำคัญของเรื่องนี้
ประการที่สอง เมื่อมีการยุบสภาหรือเมื่อวาระของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง” ต้อง “อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” ซึ่งมีความชัดเจนว่าให้อยู่ใน “ตำแหน่ง” และ “เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” นี่เป็นกรณีสำหรับการพ้นตำแหน่ง
ประการที่สาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ซึ่งเป็นผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “สิ้นสุดลง” จึงเป็นการพ้นทั้ง “ตำแหน่ง” และพ้นทั้ง “ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” ด้วย
ประการที่สี่ เมื่อนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นทั้งจากตำแหน่งและต้องพ้นทั้งจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแล้ว ก็เป็นผลให้บรรดารัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเช่นเดียวกันด้วย
นี่คือความหมายที่แท้จริงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ดังนั้นหากจะมีการแถว่าไม่พ้นจากตำแหน่ง ไม่พ้นจากตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงเป็นการแถข้างๆ คูๆ ที่ไม่มีผลใดๆ ตามกฎหมาย และฐานะการดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงทั้งคณะในพลันที่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำความผิด
และนับแต่เวลานั้นจะสั่งราชการ จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ จะใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณแผ่นดินใดๆ ไม่ได้เด็ดขาด ส่วนราชการและข้าราชการทั้งหมดไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามอีกต่อไป แต่ถ้ายังดึงดันและมีใครร่วมคบคิดเพื่อให้มีอำนาจต่อไป นั่นก็หมายความว่าได้ก่อเกิดการกบฏเพื่อยึดอำนาจหรือรัฐประหารตัวเองเกิดขึ้นแล้ว!
นั่นจะเป็นจุดชนวนวิกฤตใหญ่ในประเทศ เพราะเมื่อผู้ที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ได้ยึดอำนาจรัฐ ก็เป็นการกระทำกบฏต่อแผ่นดินชัดเจน ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งหลายในการกำราบปราบปรามและจัดการกับการก่อกบฏนั้น
ณ เวลานั้นนั่นแหละ บทบาทของกองทัพไทยและผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายว่าจะสนับสนุนผู้ก่อกบฏ หรือจะจัดการกับผู้ก่อกบฏ ก็คงจะได้เห็นกัน!
ถ้าหากกองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมด้วยกับผู้ก่อกบฏ ก็จะเป็นการกระทำการปฏิวัติโดยนักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติตนเองโดยนักการเมือง และมีกองทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วม ณ บัดนั้นก็จะเป็นอันสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน ระบอบทักษิณก็จะยึดประเทศไทยในรูปของการปฏิวัติตัวเอง
ถ้าหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น มวลมหาประชาชนไม่ว่าที่มีองค์กรใดเป็นองค์กรนำ จะทำกันอย่างไร รวมทั้งบรรดานายทหารทั้งหลายของทุกเหล่าทัพที่ไม่ยอมตามผู้บัญชาการเหล่าทัพ และไม่ยอมเข้าร่วมการก่อกบฏ จะตัดสินใจอย่างไรและจะทำกันอย่างไร
ก็ต้องคิดอ่านกัน เพราะวันเวลานั้นใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว มันจะเกิดขึ้นในยามที่พระอาทิตย์โคจรสถิตในราศีเมษ ทรงพลานุภาพแกร่งกล้า มีดาวพฤหัสผู้ทรงคุณธรรมโยกอยู่ข้างหน้า มีดาวพระเสาร์ พระราหูอันหมายถึงมวลมหาประชาชนเล็งลัคนาอยู่ในราศีตุลย์นั้น.