xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอย จัดซื้อจัดจ้าง “โซลาร์ โฮม” ป.ป.ช.ปล่อยผี “เสริมศักดิ์-บอร์ด กฟภ.” รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ก่อน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอาผิดข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองหลายเรื่อง แต่หนึ่งในนั้นกลับมีการปล่อยผี “ยกคำร้องจัดซื้อจัดจ้างโซลาร์ โฮม”

กรณีนี้ มีการส่งเรื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวหานายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกับพวก 41 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 11 คน และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา 6 คณะ รวม 30 คน

โดยกล่าวหาว่าร่วมกันกำหนดคำนิยาม คำว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศของแผงเซลล์แสงอาทิตย์” ในการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโครงการเร่งรัด ขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR HOME SYSTEM) โดยมิชอบ และมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 41 ราย ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโครงการ (SOLAR HOME SYSTEM) เป็นไปตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ว่าด้วยการจ้าง ประกาศประกวดราคาและข้อกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขการว่าจ้างโดยชอบแล้ว โดยมิได้กระทำการอันเป็นมูลความผิดตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป” นายสรรเสริญกล่าว

หากย้อนกลับไปดู“โซลาร์ โฮม” ตามมติ ครม.เมื่อปี 2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพ “โซลาร์เซลล์” ให้เป็นดาวรุ่ง! เพื่อทางเลือกใหม่ยุควิกฤตพลังงานน้ำมัน

กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเจ้าภาพทำเรื่องชง คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผ่านคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา 6 คณะ

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ชนะการประกวดราคาในโครงการเร่งรัดการขยายบริการไฟฟ้าด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกระทรวงมหาดไทย (โครงการโซลาร์โฮม) จำนวน 54,400 ระบบ (6.5 เมกะวัตต์) คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,357 ล้านบาท

บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เป็นของ “ไพวงษ์ เตชะณรงค์” เจ้าของ โบนันซ่า รีสอร์ท และ โบนันซ่า กอล์ฟ แอนด์คันทรี่คลับ เขาใหญ่ (ปี 2555 ได้รับการเต่งตั้งเป็นปรึกษา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

จากข้อมูลของ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลในช่วงต้นปี 2544-ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 10 สิงหาคม 2554 บมจ.โซลาร์ตรอน ได้รับว่าจ้างเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น 12 แห่ง

เป็นหน่วยงานในการสังกัดของกระทรวงมหาดไทยมากสุด 3 หน่วยงานคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 25 ครั้ง เป็นเงิน 523,464,172 บาท

กระทรวงมหาดไทย สมัยนั้นตั้งชื่อโครงการนี้เล่นๆ ว่า “โครงการไฟฟ้าเอื้ออาทร” มี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสมชาย สุนทรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (เสียชีวิต) สมัยนั้นผลักดันสุดลิ่ม

มี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หวังจะติดตั้งให้ประชาชน 203,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 25,000 บาท/ครัวเรือน เป็นการติดตั้งโครงการโฮมโซลาร์เซลล์ตามหลังคาบ้านฟรี แต่รัฐจ่าย 25,000 บาท/ครัวเรือน

โครงการนี้หลังจากเดินหน้าใน 2 เฟส โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครสวรรค์ มีการรายงานผลความก้าวหน้าโครงการ พบว่า โครงการระยะที่ 1 จำนวน 153,000 ครัวเรือน ได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างและติดตั้ง จำนวน 6 สัญญา ติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 118,288 ครัวเรือน (77.31%)

โครงการระยะที่ 2 จำนวน 50,000 ครัวเรือน ปรับเปลี่ยนเป็นเพื่อความคล่องตัว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง โดยขอจ้างเพิ่มเติม 20% (Add Order) จากสัญญาจ้างเดิม จำนวน 21,776 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจำนวน 28,224 ครัวเรือน ได้ดำเนินการประกวดราคาโดยวิธี e-Auction โดยแบ่งเป็น 2 ประกวดราคา เบิกจ่ายแล้ว 2,216.51 ล้านบาท

ต่อมาปี 2548-49 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สมัยคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการ สตง.ได้เข้ามาตรวจสอบการจ้างเหมาพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าด้ายเซลล์แสงอาทิตย์ ตามโครงการเร่งรัดขยายบริหารไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System : SHS) จำนวน 6 ประกาศประกวดราคา วงเงิน 3,814.11 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,625.28 ล้านบาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ได้โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

พบพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกีดกันผู้เสนอราคาบางราย และเอื้อประโยชน์กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง ส่งผลทำให้มีการจัดซื้อจัดจ้างในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น มากกว่า 112.84 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว

จากการตรวจสอบขยายผลตรวจสอบไปยังการดำเนินงานโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 มีครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องดำเนินการติดตั้งระบบ 203,000 ครัวเรือน ใน 73 จังหวัด โดย กฟภ.เป็นผู้ติดตั้งระบบ SHS และส่งมอบให้ อปท.รับผิดชอบดูแล ซึ่งจากการสุ่มตรวจ อปท.จำนวน 422 แห่ง ในพื้นที่ดำเนินโครงการ 60 จังหวัด ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับการติดตั้งระบบ SHS จำนวน 72,647 ระบบ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,816.18 ล้านบาท พบว่ามีงานหลายแห่งไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ขาดการดูแลรับผิดชอบ บางพื้นที่ระบบถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า อีกทั้งยังเสียโอกาสในการสะสมรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบอย่างน้อยปีละ 38.39 ล้านบาท

การติดตั้งระบบ SHS ให้แก่ครัวเรือนก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีการติดตั้งให้กับครัวเรือนที่ใช้ระบบไฟฟ้าปกติได้ หรือติดตั้งกับสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช่บ้านเรือน เช่น คอกสัตว์ โรงรถ ศาลาที่พัก เป็นต้น อีกทั้งยังมีครัวเรือนที่ไม่ได้ใช้งานระบบ SHS เนื่องจากมีระบบไฟฟ้าปกติเข้าถึงภายหลังการติดตั้งเพียงปีเศษ และมีบางแห่งนำระบบไปใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมาก เช่น พัดลม ตู้เย็น ปั๊มน้ำ เป็นต้น ทำให้ระบบจ่ายไฟได้ในระยะสั้นลงและอาจชำรุดเสียหายได้

หลังจาก ป.ป.ช.รับเรื่องมาสอบสวน ในปี 2550 หลังจากรัฐประหาร กันยายน ปี 2549 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีคำสั่งให้พับโครงการเฟส 3 โดยอ้างว่า หลังสำรวจ 2 เฟสแรก มีความเสียหาย เพราะหลังจากติดตั้งระบบมีความเสียหาย 10% และรัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่อนุติงบประมาณเพิ่มเติม

ยุติ “โครงการไฟฟ้าเอื้ออาทร” ไปโดยปริยาย ส่วนเรื่องของ “แบตเตอรี่” ที่มีการนำมาพ่วงต่อระบบ “โซลาร์ โฮม” เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตาม เพราะคนที่เกี่ยวข้องมีหลายรัฐบาลและหลายบริษัท



เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น