xs
xsm
sm
md
lg

คลังผวาภาษีกว่าต่ำเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คลังรับการเมืองกระทบเศรษฐกิจฉุดจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษีทรุดต่อเนื่อง คาด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายอาจลากยาวเกินไตรมาส 3 กระทบเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาล ชี้รัฐบาลไร้เครื่องมือทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังงบปี 57 และแบงก์รัฐเป็นตัวขับเคลื่อน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทาง สศค.ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพีของปี 2557 ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก 4% ลดลงเหลือ 2.4% ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการบริโภคและลงทุนของประเทศถดถอยลงอย่างมาก

ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลของ 3 กรมภาษีทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร มีอัตราการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะกรมศุลกากรที่อัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าที่ลดลง อากรนำเข้าก็ลดลงตามไปด้วย ซึ่งสะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และการบริโภคที่ชะลอตัวจากปัญหาทางการเมือง ส่วนภาษีสรรพสามิตที่ลดลงก็เป็นผลจากบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้การบริโภคสินค้าลดลงเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการเมืองได้เกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยมีตัวเลขชี้วัดหลายอย่างแสดงออกมา ซึ่งรัฐบาลรักษาการในขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ทั้งสิ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา นโยบายใหม่ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนออกมาได้ สิ่งที่คาดหวังได้ในขณะนี้คือการเร่งการเบิกจ่ายของภาครัฐตามงบประมาณปี 57 ที่มีงบประมาณ 2.525 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของจีดีพี หากสามารถทำได้ตามเป้าประมาณ 90 - 95% ของงบประมารณก็อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้นบ้าง” นายเอกนิติกล่าวและว่า รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นกัน

นายเอกนิติกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ของรัฐบาลที่ตามกรอบเวลาการทำงานเดินต้องสามารถกำหนดกรอบรายรับรายจ่ายและอยู่ระหว่างขั้นตอนของกรรมาธิการแล้ว แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

“ความล่าช้าของพ.ร.บ.งบประมาณเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีตแต่ก็ล่าช้าไปประมาณ 4 - 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ก็คงจะดำเนินการได้ทันแต่หากยังไม่มีรัฐบาลขึ้นมาดำเนินการภายในไตรมาส 3 ก็น่ากังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอย่างมาก” นายเอกนิติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น