xs
xsm
sm
md
lg

เจอศิวลึงค์ ทองคำ2องค์ อายุกว่าพันปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจอศิวลึงค์ทองคำ 2 องค์ อายุกว่าพันปี พร้อมโบราณวัตถุอีกเพียบ ชาวบ้านเตรียมส่งมอบกรมศิลป์เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติชาติ ลั่นเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความรุ่งเรืองเมืองนครศรีธรรมราช

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานว่ามีการขุดค้นพบศิวลึงค์ทองคำ 2 องค์ ซึ่งขุดค้นพบจากถ้ำบนเขาพลีเมือง ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยนายเสกสันต์ นาคกลัด เข้าไปขุดมูลค้างคาวในถ้ำดังกล่าวแล้วพบแผ่นอิฐขนาด 16 ซม. ยาว 30 ซม. เรียงกันอยู่จึงงัดแผ่นอิฐดังกล่าวพบอิฐแผ่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อยกอิฐขึ้นปรากฏว่าภายในมีผอบทำด้วยโลหะ มีฝาปิด เมื่อเปิดฝาผอบออกจึงพบศิวลึงค์ทองคำ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของกรมศิลปากรพบว่าศิวลึงค์ทองคำ มีขนาดความสูงรวม 2 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 ซม. น้ำหนัก 12.7 กรัม ส่วนองค์ที่ 2 ขนาดส่วนสูงรวม 2 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.9 น้ำหนัก 19 กรัม จากการประเมินอายุและลักษณะของศิวลึงค์ เป็นแบบประเพณีนิยมอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือมีอายุกว่า 1, 000 ปี

นอกจากศิวลึงค์แล้วยังพบโบราณวัตถุอีก 6 รายการ ประกอบด้วย 1.ผอบทำด้วยโลหะ สภาพชำรุด ผอบ สูง 2.5 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.1 ซม. ส่วนฝามี สภาพชำรุดสูง 2.3 ซม. 2. ผอบลักษณะทำด้วยโลหะ สภาพชำรุด สูง 2 ซม. ส่วนฝาผอบมีสภาพชำรุด 3.อิฐ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีการคว้านรูปรูปสี่เหลี่ยมตรงกลางด้านในจำนวน 2 แผ่น 4.อิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 3 ก้อน ผิวอิฐสีส้ม ก้อนอิฐมีสภาพสมบูรณ์ 2 ก้อน ชำรุด 1 ก้อน 5.พบฐานทำด้วยโลหะ(เงิน) สูง 1.1 ซม. กว้าง 2.3 ซม. มีรูตรงกลาง ลึก 0.6 ซม. 6.แผ่นรอง มีลักษณะเป็นแผ่นทองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 0.7 ซม.

นายเอนก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวได้มีการพบโบราณวัตถุสำคัญๆ หลายชิ้นเมื่อปี 2525 อาทิ 1.พระวิษณุศิลา อายุประมาณครึ่งหลังพุธศตวรรษที่ 13 และ 2.ธรณีประตูเป็นแผ่นหินปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีรูสวมเดือย 3.กรอบประตูมีรอยสลักเป็นรูปกลม และ4.กรอบประตูทำด้วยหิน มีลักษณะเป็นแผ่นยาว และมีเดือยที่ปลายทั้งสองข้าง 5.แผ่นหินรูปวงกลม ทำจากหินปูนทั้งสองแผ่น 6.เศียรเทวรูปปูนปั้น 7.เศียรพระปูนปั้นและ8.พระพุทธรูปประทับยืนปางประทานพร ทั้งนี้ จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีพบว่าในพื้นที่อ.สิชล มีเทวาลัยในศาสนาพราหณ์ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง กระจายอยู่ในอำเภอดังกล่าว ที่ผ่านมามีการพบศิวลึงค์ในเขตอำเภอสิชลแล้ว 24 องค์ ซึ่งศิวลึงค์ทองที่พบถือว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีอย่างสูง เพราะเป็นสิ่งแสดงถึงความศรัทธาในเทพเจ้าและความรุ่งเรืองทางการค้าของนครศรีธรรมราชโบราณ

“นายเสกสันต์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบได้ประสานจะมอบศิวลึงค์ที่ขุดพบให้กับกรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ จะมีพิธีมอบวันที่ 1 เมษายนนี้ เมื่อรับมอบแล้ว ตนคิดว่าจะนำมาจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนได้ชมและศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 1 องค์ อีกองค์จะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เพื่อให้คนถิ่นได้ชมแล้วศึกษาเช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น