บุรีรัมย์ - ชาวบ้าน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ค้านไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรนำแท่นฐานศิวลึงค์โบราณอายุราว 1,300 ปี ที่ขุดพบในวัดขณะขุดหลุมสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย โดยชาวบ้านอ้างเป็นสมบัติที่ขุดพบในชุมชนต้องการเก็บไว้สักการบูชาและให้ลูกหลานศึกษา
วันนี้ (25 พ.ค.) นางชุติมา จันทน์เทศ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายอำเภอคูเมือง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคูเมือง ตัวแทนวัฒนธรรมอำเภอ อบต.ปะเคียบ และกำนันตำบลปะเคียบ ได้ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านบ้านเขว้า ม.4 ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง
หลังชาวบ้านได้มีการคัดค้านไม่ให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรนำแท่นฐานศิวลิงค์เก่าแก่อายุราว 1,300 ปี ที่ชาวบ้านขุดพบภายในวัดธรรมประสิทธิ์ ขณะขุดหลุมลึก 2 เมตร เพื่อก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา เนื่องจากชาวบ้านต้องการจะเก็บรักษาไว้ในหมู่บ้านเพื่อไว้สำหรับสักการบูชาและให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้
ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า แท่นฐานศิวลึงค์ที่ขุดพบดังกล่าวเป็นวัตถุโบราณอันทรงคุณค่า ถือเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าจะขุดค้นพบที่ไหนก็ต้องนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แท่นฐานศิวลึงค์ยังคงเก็บไว้ภายในศาลาการเปรียญ พร้อมกับลูกนิมิตโบราณอีก 9 ลูกที่ขุดพบพร้อมกันด้วย ซึ่งแท่นฐานศิวลึงค์ที่ขุดพบในครั้งนี้เป็นแท่นหินทราย สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างและยาว 145 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน ด้านข้างมีตัวอักษรปรว (ปะ-ระ-วะ) ภาษาสันสกฤตจารึกอยู่ 3 บรรทัด แต่ละบรรทัดจะมี 4 วรรค ลักษณะคล้ายกับศิลาจารึกของพระเจ้าจิตเสน ที่เคยพบที่ถ้ำเป็ดทอง อ.ปะคำ ด้านบนมีร่องรอยของการสกัดหิน ด้านข้างมีช่องทางสำหรับให้น้ำมนต์ไหลออก ซึ่งใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
โดยแท่นฐานศิวลึงค์ที่พบในครั้งนี้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และจากหลักฐานของตัวอักษรที่จารึกบนแท่นฐานศิวลึงค์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีความเก่าแก่มากน่าจะเป็นวัฒนธรรมรุ่นแรกของเขมรเป็นการขุดพบครั้งแรก
นายบุญ สวนไธสง อายุ 68 ปี ชาวบ้านบอกว่า แท่นฐานศิวลึงค์ที่ขุดพบภายในวัดในครั้งนี้ควรเป็นสมบัติของชุมชน จึงอยากให้มีการเก็บรักษาไว้ในชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา ทั้งเพื่อให้ลูกหลานหรืออนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากให้กรมศิลปากรนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ประกอบกับช่วงนี้กำลังมีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุด หากแท่นฐานศิวลึงค์อยู่ในชุมชนก็จะดึงดูดให้ชาวบ้านมาร่วมบริจาคสร้างพระอุโบสถดังกล่าวด้วย
ด้านนางชุติมา จันทร์เทศ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การขุดค้นพบวัตถุโบราณหรือศิลปวัตถุไม่ว่าในพื้นที่ใดจะต้องส่งมอบให้กรมศิลปากรเพื่อนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพราะถือเป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่หากทางชุมชนหรือท้องถิ่นต้องการจะดูแลรักษาไว้เองจะต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกรมศิลปากร และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการดูแลรักษาด้วย ซึ่งในเบื้องต้นจะได้นำเสนอผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป