ชาวบ้านสิชลมอบศิวลึงค์ทองคำ 2 องค์ อายุกว่าพันปีให้กรมศิลปากร พร้อมฝากผู้ที่ครอบครองโบราณวัตถุมอบให้กรมศิลป์เป็นสมบัติชาติให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานพิธีรับมอบศิวลึงค์ทองคำ 2 องค์ พร้อมผอบเงินบรรจุศิวลึงค์ ผอบอิฐชั้นนอกและอิฐที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งพบในถ้ำบนเขาพลีเมือง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จาก นายเสกสันต์ นาคกลัด โดยจะนำโบราณวัตถุดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช นายเอนก กล่าวว่า ผลพิสูจน์ศิวลึงค์ทองคำทั้ง 2 องค์ และองค์ประกอบ ล้วนเป็นโบราณวัตถุแท้จริง และพบในแหล่งที่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีฝังไว้ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานการประดิษฐานศาสนาฮินดูและการสร้างศาสนสถานของศาสนานี้ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต อ.สิชล และ อ.ท่าศาลา อยู่มากมายไม่น้อยกว่า 30 แห่ง แหล่งที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ แหล่งเขาคาใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ จากข้อมูลวิชาการนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากศิวลึงค์ทองคำนี้อาจเรียกว่า “สุวรรณลิงคะ” ตามการกล่าวถึงในคัมภีร์ และปรากฏการเรียนเช่นนี้ในศิลาจารึกที่พบในประเทศไทย โดยการสร้างศิวลึงค์ของชุมชนฮินดูใน อ.ท่าศาลา สิชล ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14 เพื่ออุทิศให้กับผู้มีอำนาจทางโลก หรือทางธรรมที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้ผู้ล่วงลับเข้าไปรวมกับพระเจ้าสูงสุด คือพระศิวะหรือไปสู่โลกของพระเจ้าที่เรียกว่า ศิวโลก ซึ่งทั่วไปจะขุดค้นพบศิวลึงค์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นหินทรายและหินทั่วไป ยังไม่เคยพบสุวรรณลิงคะ หรือ ศิวลึงค์ทองคำ ดังนั้น การค้นพบศิวลึงค์ทองคำครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรก นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีราษฎรพบแล้วนำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาเพื่อเป็นมรดกของชาติ
ด้าน นายเสกสันต์ กล่าวว่า ตนได้เก็บรักษาศิวลึงค์นี้ไว้เกือบ 10 ปี จึงตัดสินใจมามอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากไม่อยากเก็บไว้เป็นสมบัติของตัวเอง อยากมอบให้เป็นสมบัติของชาติเพื่อให้ทุกคนมาชื่นชม พร้อมกันนี้ ฝากไปยังผู้ที่ครอบครองโบราณวัตถุให้เห็นความสำคัญเพราะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อยากให้นำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติแล้วให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป