ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เวลาเป็นสัญลักษณ์พื้นฐานที่มนุษย์ใช้สำหรับการจัดระเบียบของชีวิตทางสังคม มนุษย์มีความเชื่อหลากหลายประการเกี่ยวกับเวลา ซึ่งเกิดจากการรับรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน และเมื่อมนุษย์มีความเชื่อเช่นใดแล้ว ความเชื่อนั้นก็จะครอบงำความคิดและการกระทำของเขา
ความเชื่อเรื่องแรกเกี่ยวกับเวลาคือการให้ความสำคัญกับอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต บุคคลบางคนมีความเชื่อว่าอดีตหรือประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งกำหนดเรื่องราวทุกอย่างในปัจจุบัน คนประเภทนี้จะลุ่มหลงกับอดีต ยึดติดกับความรุ่งโรจน์ในอดีต และหากความคิดลุ่มหลงอดีตพัฒนาไปอย่างสุดขั้ว ก็จะมีการรื้อฟื้นอดีตขึ้นมาเป็นสิ่งกำหนดชีวิตของตนเอง
ดังที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า การต่อสู้ทางการเมืองของประเทศต่างๆ มักจะมีการนำความรุ่งเรืองของประเทศหรืออาณาจักรในอดีตขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการปลุกเร้าผู้คน อย่างในสังคมไทย กลุ่มคนเสื้อแดงและระบอบทักษิณก็ได้มีการรื้อฟื้นอาณาจักรล้านนาขึ้นมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวปลอบประโลมตนเองในการต่อสู้ทางการเมือง
ความเชื่อว่าอดีตสำคัญยังสะท้อนให้เห็นได้จากการที่บุคคลบางคนยึดติดกับวิธีการที่เคยสร้างความสำเร็จในอดีต โดยเชื่อว่าหากใช้วิธีการเดิมอีก ก็จะประสบความสำเร็จเช่นเดิม บุคคลเหล่านี้มักละเลยหรือไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างของบริบททางสังคมและการเมืองในแต่ละห้วงเวลา ดังเช่น กลุ่มระบอบทักษิณเคยประสบความสำเร็จจากใช้ความรุนแรงในการชุมนุมและต่อสู้ทางการเมืองเมื่อปี 2553 และพวกเขาก็ประกาศจะใช้ความรุนแรงในการต่อสู้อีกในปี 2557 โดยเชื่อว่าความรุนแรงจะทำให้พวกเขาประสบชัยชนะทางการเมืองเหมือนดังในอดีต
ขณะที่คนบางกลุ่มจะให้ความสำคัญกับเวลาในปัจจุบัน กลุ่มนี้จะให้ความสนใจกับสถานการณ์เฉพาะหน้า พวกเขาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่แบบวันต่อวัน และกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาที่มีความเร่งด่วนเป็นหลัก ด้านหนึ่งพวกเขามักไม่ให้ความสำคัญแก่อดีต และอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับอนาคต การละเลยอดีตและเมินเฉยต่ออนาคตทำให้พวกเขาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ไม่รอบด้าน และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
ด้านลบที่ชัดเจนของการให้ความสำคัญเฉพาะเวลาปัจจุบันปรากฏในภาษิตโบราณของไทยที่ว่า “ตำข้าวสารกรอกหม้อ” หรือ การทำเรื่องราวให้เสร็จสิ้นไปวันๆหนึ่ง อยู่รอดไปวันๆหนึ่ง ส่วนด้านบวกคือคนกลุ่มนี้มักไม่คิดอะไรมาก จึงสามารถเสพสุขในสิ่งที่ตนเองมีอยู่และกระทำอยู่ เช่น การสนุกกับการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปวันๆ โดยไม่คิดอะไรมากของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เรื่องการเสพสุขกับเวลาปัจจุบัน หากเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคลธรรมดาเพียงไม่กี่คนก็ไม่กระไรนัก แต่หากบุคคลดังกล่าวเป็นคนที่มีตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง ย่อมสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาและก้าวหน้าของสังคมอย่างใหญ่หลวง
ยังมีคนอีกบางกลุ่มที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเวลาแตกต่างออกไป กลุ่มนี้จะเน้นเวลาในอนาคต พวกเขาจะคิดและวางแผนการปฏิบัติเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในอนาคต คนกลุ่มนี้จะยอมเสียสละผลประโยชน์ในปัจจุบัน เพื่อความสำเร็จในอนาคต พวกเขามีแนวโน้มจะวิเคราะห์และวางแผนกำหนดแนวทางเป็นจังหวะก้าวตามเงื่อนไขความเหมาะสมของเวลา และลงมือปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่ได้วางเอาไว้
การพัฒนาประชาธิปไตยของหลายประเทศประสบความสำเร็จได้ โดยมีการวางแผนระยะยาวที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองสอดประสานกันอย่างกลมกลืนและมีความยืดหยุ่น รวมทั้งมีการนำไปดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน แต่สังคมไทยนั้นผู้บริหารประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตของประชาธิปไตยมากนัก พวกเขามักจะติดอยู่กับความสุขของการครองอำนาจในปัจจุบันเสียมากกว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้มีการวางแผนการพัฒนาการเมือง แต่ดูเหมือนนักการเมืองไม่ให้ความสนใจมากนัก
การให้ความสำคัญกับเวลาในอนาคตแม้จะมีผลดีหลายประการ โดยเฉพาะการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่สังคม แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือการมุ่งเน้นเวลาในอนาคตมากเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียดและไม่มีความสุขกับปัจจุบัน และอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ปกครองทรราชนำไปอ้างสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำอันชั่วร้ายของพวกเขาในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มักจะอ้างว่า เพื่อลูกหลานในอนาคต หรือเพื่อความยิ่งใหญ่ในอนาคต เราจะต้องเสียสละความสุขในปัจจุบัน ดังที่เกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยมและระบอบเผด็จการฟาสซิสต์
นอกจากการมองมิติของเวลาแบบ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตแล้ว มนุษย์ยังมองเวลาเป็นเรื่องของความเป็นเอกภาพ (Monochronicity) หรือเป็นพหุภาพ (Polychronicity) อีกด้วย การเชื่อว่าเวลาเป็นเอกภาพหมายถึง ความเชื่อที่ว่า ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มนุษย์สามารถมุ่งความสนใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว
หากมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่างให้เสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง ผู้มีความเชื่อว่าเวลาเป็นเอกภาพจะแบ่งเวลาเป็นหน่วยย่อย และระบุว่าเรื่องใดต้องทำระหว่างนาทีใดบ้าง เรื่องใดที่ควรทำก่อนและหลัง ซึ่งเป็นวิธีคิดในเชิงอนุกรม (Sequential Thinking) ผู้มีความเชื่อเช่นนี้จะมองว่าเวลาเป็นสินค้าที่มีคุณค่าที่สามารถ “ใช้จ่าย” “สูญเสีย” “ฆ่า” หรือ ใช้ให้เป็นประโยชน์ และเมื่อหน่วยของเวลาที่ใช้ผ่านไป เวลานั้นก็หายไปตลอดกาล
บุคคลที่เชื่อว่าเวลาเป็นเอกภาพมีแนวโน้มที่มีความอดทนต่ำและรู้สึกอึดอัดกับความคลุมเครือและ การที่ต้องทำกิจกรรมหลายอย่างในช่วงเวลาเดียวกัน
ส่วนการเชื่อว่าเวลาเป็นพหุภาพ หมายถึง ความเชื่อที่ว่ากิจกรรมหลายอย่างสามารถจัดการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งพร้อมกันได้อย่างประสานสอดคล้องกลมกลืน (Synchonization) ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้มีแนวโน้มมีความอดกลั้นสูงในการทำงานร่วมกับบุคคลหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน และมีลักษณะที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างสูง
เวลายังถูกมองในมิติที่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนหรือเป็นเรื่องของพัฒนาการ บุคคลที่มีความเชื่อว่าเวลาเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจะมองโลกและสรรพสิ่งว่าเป็นเรื่องของเงื่อนไขภายนอกตัวเขา ซึ่งพวกเขาสามารถคุมสภาพหรือจัดการให้สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือทุกอย่างต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้ในแผนเวลา
ขณะที่บุคคลที่เชื่อว่าเวลาเป็นเรื่องของการพัฒนาการจะมองว่า สรรพสิ่งเป็นโลกของกระบวนการการพัฒนาตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเร่งให้เร็วขึ้นหรือทำให้ช้าลงอย่างง่ายๆ การพัฒนาการเป็นสิ่งที่ดำเนินไปอย่างไม่เคยจบสิ้น เป็นกระบวนการแบบปลายเปิด และสามารถขยายให้ไกลออกไปในอนาคตได้
ผู้บริหารมักมีแนวโน้มจัดการเวลาแบบที่ต้องมีการวางแผน ส่วนนักวิชาการมีแนวโน้มเชื่อว่าเวลาเป็นเรื่องของการพัฒนาการอย่างเป็นไปเอง
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับเวลาอีกประการหนึ่งคือ เส้นเวลา (Time Horizons) อันเป็นขอบเขตของหน่วยเวลาที่เกี่ยวข้องกับงานซึ่งสมาชิกต้องทำความเข้าใจร่วมกัน กล่าวคือในงานหนึ่งๆ องค์การจะมีการวัดและวางแผนเวลาเป็นปี เป็นไตรมาส เป็นเดือน เป็นวัน เป็นชั่วโมง หรือเป็นนาที หรือในการเลื่อนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งควรใช้เวลานานเท่าไร ควรจะกำหนดเวลาให้งานแต่ละอย่างเท่าไร หรือในกระบวนการยุติธรรมก็จะมีการกำหนดเส้นเวลาของขั้นตอนในการพิจารณาคดีต่างๆเอาไว้อย่างชัดเจน
การมีความเชื่อเกี่ยวกับเส้นเวลาต่างกันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เช่น ความขัดแย้งในองค์การระหว่างฝ่ายวิจัยและพัฒนา กับฝ่ายการตลาด โดยงานของฝ่ายวิจัยและพัฒนาเป็นงานที่ต้องใช้เส้นเวลายาวนานเป็นเดือน เป็นปี หรือหลายปีและบางครั้งไม่สามารถกำหนดให้แน่นอนได้ ขณะที่งานฝ่ายตลาดเป็นงานที่มีการแข่งขันซึ่งมีเส้นเวลาเป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันว่าต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเร็ว ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอาจเข้าใจว่าการใช้เวลาหกเดือนหรือหนึ่งปี เป็นเวลาที่เร็วแล้ว ขณะที่คำว่า “เร็ว” ของฝ่ายตลาดอาจหมายถึงการใช้เวลาหนึ่งเดือนหรือสองเดือน
สุดท้ายเป็นเรื่องสมมาตรของเวลา (Temporal Symmetry) อันหมายถึงบริบทของจังหวะเวลาในการทำงานกลุ่มเกี่ยวข้องกับการกำหนดความเร็วของกิจกรรมที่ให้ผู้อื่นตามทัน หากงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกันขาดความสมมาตรของจังหวะเวลา อาจก่อให้เกิดความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพ เสมือนหนึ่งเป็นคอขวด และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างกลุ่มได้ การจัดกิจกรรมในงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันให้สอดประสานกันเป็นจังหวะจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและลดความขัดแย้งลงได้
การปฏิรูปประเทศเป็นการสร้างวิสัยทัศน์ของประเทศในอนาคต การมีวิธีคิดแบบให้ความสำคัญกับเวลาในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งกว่านั้นการปฏิรูปเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนจึงจำเป็นจะต้องมีการมองเวลาในเชิงพหุภาพ ต้องมีการผสมผสานระหว่างการวางแผนและการพัฒนาการ ต้องมีการกำหนดเส้นเวลาของการปฏิรูปให้ชัดเจน และสร้างกิจกรรมการปฏิรูปโดยให้ความสำคัญกับการสมมาตรของเวลา ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่างๆดำเนินไปอย่างสอดประสานกันเป็นจังหวะอันกลมกลืนและมีประสิทธิผล