xs
xsm
sm
md
lg

เล็งฟันอธิบดี-ผอ.ช่อง11 ผู้สมัครพท.-3รมต.ผิดกม.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (13มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงข่าวภายหลังการประชุมกกต. ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีที่ตนเสนอให้ตรวจสอบรายการที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศช่อง 11 ซึ่งมีการเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ของพรรคเพื่อ ไปออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. -7 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง เพราะอาจเข้าข่ายก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ในการ เลือกตั้ง
โดยสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงานกกต.ได้ตรวจสอบและมีความเห็นว่า มีทั้งหมด 23 ครั้ง ที่มีการดำเนินรายการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเนื้อหารายการที่ออกอากาศ มีความยาว ตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จึงเห็นว่า
1. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผอ.ช่อง 11 ในฐานะผู้บริหารสื่อของรัฐ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้งส.ส. ข้อ 20 ที่กำหนดให้สื่อของรัฐ ต้องจัดให้พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศอย่างเท่าเทียมกัน และถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 57 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ซึ่งหากพบว่า กระทำผิดจริง จะมีโทษ ตามมาตรา 137 ของพ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
2. พบว่ามีรัฐมนตรี 3 คน คือนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปออกรายการทางช่อง 11 อาจเข้าข่ายเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการหาเสียง อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) และฝ่าฝืน ข้อ 4 (7) ของระเบียบกกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อมีผลต่อการเลือกตั้ง และเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทางสำนักกฎหมายก็ได้เสนอว่า ควรมีการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา
3. กรณีมีผู้สมัครส.ส.ไปออกอากาศ ข้อเท็จจริงในเนื้อหาสาระยังไม่ชัดเจน ทางสำนักกฎหมายก็ได้เสนอให้สอบสวนเพิ่มเติม เช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นทั้งหมดเบื้องต้น ที่ประชุมเพียงแต่รับทราบความเห็นเท่านั้น ยังไม่มีมติในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวันนี้มีกรรมการเข้าประชุมเพียง 4 คน โดยนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ติดภารกิจในต่างประเทศ และขณะที่กำลังพิจารณาเรื่องนี้ มีกกต.หนึ่งคน ต้องรีบเดินทางไปปฏิบัติ ภารกิจต่างจังหวัด ทำให้เหลือกรรมการประชุมเพียง 3 คน ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ ประกอบกับ เห็นว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ ที่กกต.ทั้ง 5 คน ควรได้ร่วมกันพิจารณา จึงนัดที่ประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งคาดว่าจะสามารถมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก นายการุณ โหสกุล อดีตส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย จำนวน 5,201,313 บาท ต่อศาลแพ่ง จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลืออกตั้ง ส.ส.เขต 12 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ใหม่
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และส.ส.เขต ของพรรคเพื่อไทย ที่ไปออกอากาศ ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายโภคิน พลกุล นายณัฐวุฒิ ไสเกื้อ นายคณิน บุญสุวรรณ นายพนัส ทัศนียานนท์ นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ นายเหวง โตจิราการ นายพิชิต ชื่นบาน นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายอดิศร เพียงเกษ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นายวิสุทธิ์ ไชยอรุณ (พะเยา เขต 2 ) นายนิยม ช่างพินิจ (พิษณุโลก เขต 4) นายพิชัย นริพทะพันธุ์

** ไม่ห่วงผู้สมัครส.ส.สระบุรีฟ้องกกต.

นายสมชัย ยังกล่าวถึง กรณีที่ นายจเร ตันฑ์พรชัย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.สระบุรี พรรคเพื่อไทย ไปยื่นฟ้องกกต. ต่อศาลปกครอง เพื่อให้กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ในเขต 3 จ. สระบุรี ว่า ข้อเท็จจริงนั้น กกต. ยังไม่สามารถประกาศผลคะแนนได้ เนื่องจากการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ และเชื่อว่าศาลปกครอง ก็ไม่น่าจะรับคำร้อง เพราะคะแนนการเลือกตั้งยังไม่มีการประกาศ หากประกาศผลไป จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ การที่กกต. ยังไม่ประกาศผล เป็นการรักษาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไว้ไม่ให้เป็นโมฆะ อีกทั้งเชื่อว่า จะเป็นผลดี ไม่ทำให้ถูกนำไปเป็นหลักฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเรื่องสืบสวนสอบสวนที่สำคัญ ที่กกต.กำลังพิจารณาอยู่ คือ คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ที่มีผู้ร้องคัดค้านว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่ได้รับการเลือกตั้งมีการขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้ง เรื่องนี้กกต.อยู่ระหว่างพิจารณาหลักฐานเพื่มเติม เนื่องจาก ดีวีดี ที่บันทึกเหตุการนั้น มีเข้ามาเพิ่มเติม และหากว่าหลักฐานที่ได้มาไม่เพียงพอ ก็จะขอให้ทางจังหวัดสืบสวนเพิ่มเติม และคำร้องนี้ยังมีเวลาในการพิจารณาถึงเดือนพ.ค. และหากเห็นว่ามีความผิด ก็จะส่งไปยังศาลอุทธรณ์ในภาคนั้น แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของกกต. ว่ามีมติออกมาอย่างไร
ส่วนอีกเรื่อง เป็นกรณีคำร้องคัดค้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้ทรัพยากรของรัฐหาเสียงเลือกตั้ง ในการลงพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน เบื่องต้นฝ่ายสืบสวนสอบสวนของกกต. ขอขยายเวลาพิจารณาอีก 15 วัน เนื่องจากต้องรอหลักฐานที่เกี่ยวกับ ผู้ร่วมเดินทาง กำหนดการค่าใช้จ่าย ต่างๆ จากสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าไม่สามารถเข้าไปนำหลักฐานในทำเนียบรัฐบาลออกมาได้ เพราะมีการชุมนุมปิดล้อม
"การสืบสวนสอบสวนของกกต. ต้องมีกรอบระยะเวลา และเราก็ให้ความเป็นธรรมในการขยายเวลาให้แล้ว และคิดว่าครั้งนี้ จะเป็นการขยายเวลาครั้งสุดท้าย เนื่องจากทุกอย่างต้องมีกรอบเวลา ถ้าไม่ส่งหลักฐานมาเพิ่ม ก็จะพิจารณาเท่าที่มี หากปล่อยให้อ้างเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เท่ากับว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ " นายสมชัย กล่าว และว่า หลังจากนี้อาจจะเชิญ นายกฯ หรือ เลขาฯนายก มาชี้แจงข้อเท็จจริง ภายหลังการรวบรวมเอกสารหลักฐานซึ่งคาดว่า อีก 1 เดือนข้างหน้าน่าจะได้ข้อสรุป

** กกต.พร้อมชี้แจงคำร้องเลือกตั้งโมฆะ

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงภาพรวมการจัดการเลือกตั้งส.ว. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มี.ค.นี้ว่า ภาพรวมการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. เบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยกกต. ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ดำเนินการ หากมีผู้มาขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ คาดว่าในวันเลือกตั้ง จะไม่มีผู้ออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชนทราบบทบาทหน้าที่ของส.ว.ดี ที่มีความแตกต่างจากบทบาทหน้าที่ของส.ส. ส่วนการขอกำลังเจ้าที่ในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งนั้น กกต.เป็นผู้มอบนโยบายและออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการให้การสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ในเรื่องของจำนวนกำลงนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติที่จะเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าน่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75
ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ประธานกกต.ไปให้ความเห็นต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอสั่งให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ในวันที่ 19 มี.ค.นั้น ตนพร้อมที่จะไปชี้แจงด้วยตนเอง ไม่กังวล โดยทางกกต. มีข้อมูลพร้อมที่จะชี้แจง ยืนยันว่าการเดินหน้าจัดการเลือกตั้งไม่มีส่วนใดที่กกต.ทำผิดกฎหมาย เราทำโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ส่วนศาลจะวินิจฉัยออกมาในแนวทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เราไม่อาจ ก้าวล่วงได้
อย่างไรก็ตาม กกต.ได้รับทราบกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของกกต. ในการยื่นตีความการขัดกันระหว่างองค์กร กรณีปัญหา 28 เขตเลือกตั้งจังหวัดภาคใต้ไร้ผู้สมัครนั้น ที่ประกกต. คงมีการพูดคุยกัน ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ว่าจะพิจารณาออกมาในแนวทางใด
**ผอ.กกต.จว.ตัดสิทธิผู้สมัครส.ว.แล้ว14 ราย

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน กกต. กล่าวถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ระบุ กกต.เตรียมขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ100,000 นาย ดูแลการเลือกตั้งส.ว.ว่า ขณะนี้ถือว่ามีการเลือกตั้งคู่ขนาน ทั้งการเลือกตั้งส.ว. และการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทน การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เสียไป จึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องกำลังเพิ่มเติม และโดยปกติแล้ว เราจะขอกำลังหน่วยงานราชการ เพื่อสนับสนุการเลือกตั้งประมาณ 200,000 คน อยู่แล้ว ซึ่งเป็นกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือของกกต. ว่าจะขอกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนเท่าใด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตามจำนวนที่ นายธาริต ระบุ ทั้งนี้ การออกคำสั่งขอกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของการเลือกตั้ง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และ ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 20 อย่างไรก็ตาม การขอกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลบริเวณหน่วยเลือกตั้ง โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น อาจจะขอเพิ่มเป็นสองเท่า รวมถึงการขอกำลังดูในการขนส่งและพิมพ์บัตรเลือกตั้งด้วย
สำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครส.ว. ขณะนี้มี 14 คน ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ไม่ประกาศให้เป็นผู้สมัคร ส.ว.เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ทั้งการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และเป็นนักการเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้ผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดไม่ประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัครยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแล้ว 10 ราย และในวันที่ 17-19 มี.ค. นี้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ก็จะได้มีคำวินิจฉัย โดยมีทั้งกรณีที่เคยเป็นรอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี และนครสวรรค์ แต่ก็เชื่ออว่าการพิจารณาของศาลฎีกา จะดูประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลัก
ส่วนกรณี นายจเร ตันฑ์พรชัย ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.สระบุรี พรรคเพื่อไทย ไปยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครอง เพื่อให้กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ในเขต 3 จ.สระบุรี ว่า ทางสำนักงานกกต. ต้องเตรียมข้อมูล เพื่อชี้แจงต่อศาล หากมีการเรียกให้ไปชี้แจง ส่วนที่มียื่นขอนำคำพิพากษาของศาลปกครองไปเป็นหลักฐานในการแสดงตัวต่อสภาผู้แทนราษฎร นั้น เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของศาล ที่ผ่านมาไม่เคยมีการขอให้ศาลประกาศรับรองผล มีแต่การร้องขอให้ศาลประกาศรับรอง ผลเท่านั้น

**กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติ 'หญิงเป็ด'

มีรายงานข่าวจาก กกต.แจ้งว่า ขณะนี้กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.ของพื้นที่กทม. ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะกกต. มีเวลา 7 วัน นับแต่วันสุดท้ายของการรับสมัครในการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว โดยวันที่ 15 มี.ค. นี้ จะเป็นวันสุดท้าย และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ
ส่วนคุณสมบัติของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้สมัคร ส.ว.กทม. เบอร์ 8 นั้น แม้ว่าจะเคยมีกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเรื่องการทุจริต สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เมื่อปี 2553 กกต.ได้ส่งเรื่องไปให้สตง.ตรวจสอบคุณสมบัติ ว่ามีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการ และต้องตรวจสอบว่า หลังจากป.ป.ช.ชี้มูลแล้วอัยการได้มีการส่งฟ้องดำเนินคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งคาดว่าเรื่องดังกล่าว น่าจะได้คำตอบก่อนวันที่ 15 มี.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น