xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯไม่รับตีความปมรบ.รักษาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 12 มี.ค) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง กรณีนายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และ นายเศวต ทินกูล อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ที่ขอให้ศาลรธน.พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 212 ว่า กกต. และนายกรัฐมนตรี กระทำการขัดหรือแย้งต่อรธน.หรือไม่ กรณีที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา และให้มีการเลือกตั้ง เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ปรากฏว่า กกต.ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศได้ ทำให้ไม่สามารรถประกาศผลการเลือกตั้ง ร้อยละ 95 ของ ส.ส. ที่พึงมีทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงถือว่า กกต.และนายกฯ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรธน.เห็นว่า คำร้องมิได้เป็นการขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรธน. หรือเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ตามรธน.มาตรา 212 ประกอบ ข้อกำหนดศาลรธน.ว่าด้วยวิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 21 ที่มีหลักเกณฑ์ว่า
(1) ต้องเป็นบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์ หรือเสรีภาพ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่รธน.นี้รับรองไว้ (2) บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรธน. เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งกับรธน. และ (3) ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิ์โดยวิธีการอื่นได้แล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
นอกจากนี้ยังไม่รับคำร้องที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิตามรธน. มาตรา 68 ขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรี กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่ไมได้บัญญัติไว้ในรธน.หรือไม่ จากกรณีที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่สามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ทำให้ไม่อาจได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรธน. และโดยข้อกฎหมายต้องถือว่า คณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงโดยสภาพ จึงขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพ และยุติการอยู่ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
เนื่องจากศาลรธน.เห็นว่า การกระทำของคณะรัฐมนตรี ตามคำกล่าวอ้างของนายถาวร ยังไม่มีมูลกรณีเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรธน. กรณีจึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามรธน.มาตรา 68 ที่ศาลรธน. จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากศาลรธน. เปิดเผยว่า การพิจารณา 2 คำร้องนี้ คณะตุลาการศาลรธน. ได้พิจารณาช่องทางของการยื่นคำร้องแล้ว และเห็นว่า ทั้ง 2 คำร้อง ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามช่องทางดังกล่าว โดยที่ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาตามคำร้อง ดังนั้น การไม่รับทั้ง 2 คำร้องดังกล่าว ไม่ได้หมายว่า ศาลรธน. เห็นแล้วรัฐบาลนี้สามารถอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการได้ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น