xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นผิดทาง! ศาล รธน.ตีตก “ไทกร-ถาวร” วินิจฉัยสถานภาพรัฐบาลรักษาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง “ไทกร–ถาวร” ให้วินิจฉัยสถานภาพรัฐบาลรักษาการ เหตุวินิจฉัยแค่ช่องทางยื่นยังไม่ผ่าน ชี้ไม่รับไม่ใช่ศาลการันตีรัฐบาลกรักษาการอยู่ได้จนกว่ามีรัฐบาลใหม่ เพราะยังไม่วินิจฉัยเนื้อหา

วันนี้ (12 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่ นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และนายเศวต ทินกูล อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า กกต.และ นายกรัฐมนตรี กระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา และให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า กกต.ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศได้ ทำให้ไม่สามารรถประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 ของ ส.ส.ที่พึงมีทั้งหมดภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งส่งผลให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงถือว่า กกต.และนายกรัฐมนตรีกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องมิได้เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 21 ที่มีหลักเกณฑ์ว่า (1) ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์ หรือเสรีภาพ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ (2) บุคคลนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และ (3) ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิ์โดยวิธีการอื่นได้แล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้อง

นอกจากนี้ ยังไม่รับคำร้องที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรี กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่สามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ทำให้ไม่อาจได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และโดยข้อกฎหมายต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงโดยสภาพจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพ และยุติการอยู่ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำของคณะรัฐมนตรีตามคำกล่าวอ้างของนายถาวร ยังไม่มีมูลกรณีเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีจึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การพิจารณา 2 คำร้องนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาช่องทางของการยื่นคำร้องแล้ว และเห็นว่าทั้ง 2 คำร้องไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามช่องทางดังกล่าว โดยที่ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาตามคำร้อง ดังนั้นการไม่รับทั้ง 2 คำร้องดังกล่าวไม่ได้หมายว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นแล้วรัฐบาลนี้สามารถอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการได้ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่แต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น