xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำทางปัญญา : ชั่วช้า หรือขาดความกล้าหาญ?

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ณ วันนี้ การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพื่อขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดที่มีคนชั่วช้าชักใยได้ทำลายสถิติ 193 วันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทำไว้เมื่อปี 2551 แล้ว เมืองไทยมีอะไรต่อมิอะไรดีๆ ที่อวดชาวโลกได้ แต่การมีรัฐบาลที่นำไปสู่การขับไล่แบบนี้มีแต่จะนำมาซึ่งความอับอายขายหน้าชาวโลก ในระหว่างการชุมนุมกลุ่มต่างๆ พร้อมกันเป่านกหวีดเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมหลายครั้งด้วยความหวังว่า เมื่อมีคนนับล้านออกมาร่วมขับไล่ รัฐบาลจะลาออกไปโดยดี แต่รัฐบาลนี้มีกลุ่มคนหน้าหนาเกินกว่าหนังช้างเป็นแกนนำ ฉะนั้น การกระทำที่ผ่านมาในช่วงเวลากว่า 7 เดือนจึงยังไม่เกิดผลตามความหวังดังกล่าว

การชุมนุมอันยืดเยื้อครั้งนี้เริ่มเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 นำโดยกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) อีก 3 วันต่อมา กองทัพธรรมซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการยึดครองทำเนียบรัฐบาล 193 วันของ พธม.ก็เข้าร่วม การชุมนุมของสองกลุ่มนี้มักมีภาพประทับใจเกิดขึ้นรายวัน ในบรรดาภาพอันหลากหลายนั้น ภาพหนึ่งซึ่งสร้างความซึ้งใจให้ผู้พบเห็นเป็นที่สุดได้แก่เมื่อพลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ลงนั่งพนมมือบนเวทีสวนลุมพินีเพื่อแสดงความคารวะต่อหลายสิ่งหลายอย่างรวมทั้งมวลมหาประชาชน (ภาพ 1)
(ภาพ 1)
หลังจากนั้น การชุมนุมได้ขยายออกไปและมีกลุ่มใหญ่ๆ เข้าร่วมอย่างจริงจังรวมทั้งเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกลุ่มที่วิวัฒน์มาเป็นคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ส่วนเวทีของการชุมนุมได้ขยายออกไปเป็นหลายแห่งในบางช่วงเวลาและปรับลดลงมาเป็นบางครั้งโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญทั้งเพื่อกดกันรัฐบาลและเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยเฉพาะเกี่ยวกับความชั่วร้ายอันเกิดจากนโยบายของรัฐบาลและพฤติกรรมของผู้บงการอยู่เบื้องหลังพร้อมทั้งผู้สนับสนุน ณ วันนี้ จำนวนเวทีมีอยู่ 5 แห่งด้วยกัน นั่นคือ ที่ย่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่ย่านสะพานชมัยมรุเชฐ ที่หน้ากระทรวงมหาดไทย ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และที่สวนลุมพินี

ในช่วงเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ คงจะบ่งชี้แล้วว่า คนไทยแยกออกได้เป็นหลายกลุ่มด้วยกัน นั่นคือ กลุ่มแรกเป็นผู้ที่อยู่ในรัฐบาลและผู้บงการพร้อมกับบรรดาสมุนรับใช้ทั้งในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีขนาดใหญ่และเคลื่อนไหวมาหลายปีและในนามของกลุ่มอื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก รัฐบาลมักอ้างจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง 15 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยว่าเป็นฝ่ายตน ประชาชนในกลุ่มนี้อาจแยกได้เป็นหลายส่วน เช่น ส่วนที่มีความชั่ว หรือความฉ้อฉลอยู่ในกมลสันดานที่เลือกคนพวกเดียวกันเป็นผู้แทน และส่วนที่ไม่มีความเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง ส่วนหลังนี้น่าจะมีผู้ที่เริ่มรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของรัฐบาลบ้างแล้วหากมองจากบรรดาชาวนาที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเพราะถูกโกงในโครงการรับจำนำข้าว

กลุ่มที่สองเป็นผู้อยู่ในขั้วตรงข้ามกับกลุ่มแรกและออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลฉ้อฉล ประชาชนในกลุ่มนี้อาจนับได้หลายล้านคนซึ่งรวมทั้งส่วนที่ออกมาชุมนุมเมื่อกลุ่มต่างๆ เป่านกหวีดและส่วนที่ออกมาไม่ได้แต่ส่งปัจจัยและแรงใจมาให้ผู้ที่อยู่ในสนามชุมนุมเสมอ

กลุ่มที่สามเป็นเยาวชนที่มีขนาดเท่าๆ กับกลุ่มแรก เมื่อแยกกลุ่มนี้ออกไปเพราะสังคมไทยถือว่าเป็นผู้ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะสูงพอที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองจะเหลือกลุ่มที่สี่ซึ่งน่าจะมีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน กลุ่มนี้อาจมองได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางเพราะไม่แสดงตนออกมาว่าเข้าข้างฝ่ายใดและเป็นกลุ่มที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการให้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความชั่วร้ายของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลและลิ่วล้อก็พยายามนำข้อมูลมาหักล้าง ในกระบวนการต่อสู้กันด้วยการประชาสัมพันธ์ ด้วยข้อมูลและวาทกรรมเชิงโฆษณาชวนเชื่อมาเป็นเวลากว่า 7 เดือนนี้ ผู้ที่สรุปภาพเหตุการณ์ได้สั้น กระชับและตรงจุดที่สุดคงไม่มีใครเกินชัย ราชวัตร ซึ่งพูดว่า “นี่มันเป็นเรื่องระหว่าง คนชั่วไม่มีสำนึก กับคนดีที่หมดความอดทน!!!” (ภาพ 2)
(ภาพ 2)
เวลายิ่งผ่านไปนานวัน พฤติกรรมตอบโต้ของรัฐบาลต่อกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งยึดแนวสันติอหิงสาตามกติกาสากลแฝงไว้ซึ่งความถ่อยเถื่อนมากขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังตำรวจนับหมื่นเข้าสลายผู้ชุมนุมด้วยอาวุธร้ายจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายไปเป็นจำนวนมาก หากศาลยุติธรรมไม่ออกมาห้ามปรามให้ทำตามกติกาสากล ประชาชนคงจะบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นพฤติกรรมเหล่านี้ประกอบกับข้อมูลที่ถูกนำออกมาเสนออย่างต่อเนื่องของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งครั้งแรกดูว่าจะวางตัวเป็นกลางจึงออกมาแสดงตนว่าต่อต้านรัฐบาลฉ้อฉลด้วย ในกลุ่มนี้มีทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลและข้าราชการจำนวนหนึ่ง (ภาพ 3)
(ภาพ 3)
การออกมาแสดงตนว่าไม่อยู่ฝ่ายคนชั่วช้าเช่นนี้แม้จะเริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีมหาวิทยาลัยแสดงตนในแนวเดียวกันในนามของสถาบันออกมา ประเด็นนี้เป็นที่น่าฉงนเพราะย้อนไปในตอนก่อนที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งแสดงจุดยืนออกมาว่าตนต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งจะทำให้นักโทษที่หลบหนีความผิดในเมืองไทยไปอยู่ต่างประเทศกลับมาได้แบบไร้ความผิด คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า กฎหมายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องการคงอำนาจของตนไว้เพื่อจะใช้ความฉ้อฉลแสวงหาผลประโยชน์ให้กลุ่มของตนไม่ต่างกับการปล้นชาติไทยแบบไม่มีที่สิ้นสุด

อนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของการเร่งรัดพัฒนาเมืองไทยย้อนไปกว่า 50 ปี เมืองไทยเคยมีนักการเมืองฉ้อฉลรวมทั้งผู้มียศชั้นจอมพลรวมอยู่ด้วย แต่ความฉ้อฉลของคนเหล่านั้นเป็นเสมือนการแทะเล็มกินเพียงเปลือกนอกของเศรษฐกิจและสังคม หลังจากการเลือกตั้งปี 2544 เมืองไทยมีกลุ่มนักการเมืองที่เริ่มตั้งใจเข้าไปเจาะกินแก่นในของเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่ต่างกับเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ทำในฟิลิปปินส์ โครงการรับจำนำข้าวเป็นส่วนประกอบล่าสุดของนโยบายที่กำลังทำลายสังคมไทยให้ย่อยยับ ประเด็นเหล่านี้คอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้ง แต่ดูจะยังไม่ค่อยมีใครใส่ใจ หรือฟังให้ได้ยิน

สำหรับประชาชนทั่วไป การไม่เข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างแตกฉานไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักเนื่องจากพวกเขาอาจมีอุปสรรคทางด้านพื้นฐานของการศึกษา แต่สำหรับอาจารย์และผู้บริหารพร้อมทั้งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเด็นเหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญหาถ้าจะให้ความใส่ใจ ส่วนสิ่งที่เลวร้ายจนยากแก่การเข้าใจได้แก่เรื่องอาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาออกมาปกป้องความชั่วร้ายของนโยบายและความฉ้อฉลของคนในรัฐบาลและผู้ชักใยอยู่ข้างหลังพร้อมทั้งผู้สนับสนุนอื่นๆ ในบางกรณี การปกป้องดังกล่าวนี้ทำผ่านการบิดเบือนหลักวิชาจนเป็นที่ประจักษ์ว่าอาจารย์พวกนั้นจงใจรับใช้คนชั่ว ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจมาจากการรับอามิสสินจ้าง หรือจากการหวังจะเกาะนักการเมืองก้าวกระโดดเข้าไปรับตำแหน่งใหญ่โต

สังคมไทยมีสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนับร้อย สถาบันเหล่านี้มีหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่นักศึกษานับล้านและเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคม แต่การที่สถาบันต่างๆ ไม่แสดงจุดยืนออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าตนอยู่ข้างคนดีที่หมดความอดทนหมายความตนอยู่ข้างคนชั่วเช่นเดียวกับอาจารย์ส่วนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เพียงเป็นเมธีบริกรของนักการเมืองใช่หรือไม่? หรือไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นคนดี? ยิ่งกว่านั้น คณะกรรมการสภาซึ่งมีหน้าที่วางกรอบและติดตามนโยบายของสถาบันคงยังหลับกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีความชั่วช้าเสียเอง? ณ วันนี้พวกท่านจะเริ่มมีมโนสำนึกและพร้อมที่จะทำตามคำเรียกร้องของมวลมหาประชาชนกันบ้างหรือยัง (ภาพ 4) หรือท่านขาดความกล้าหาญทางจรยธรรม?
ภาพ 4 จากหน้าเฟซบุ๊กของ Hall Jarinya
หากคณาอาจารย์ ผู้บริหารและคณะกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยชั่วช้าและขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ชาติย่อมขาดผู้นำทางปัญญาส่งผลให้การพัฒนาแบบยั่งยืนเกิดขึ้นมิได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น