ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ครบกำหนดเดดไลน์ชะตาขาดของ “รัฐบาลหุ่นเชิด”ที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา
อำนาจในมือของนายใหญ่ใจอำมหิตเริ่มสั่นคลอน อาการลุกลีลุกลนของทีมยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย จังหวะปลุกระดมให้ มวลชนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)
ทุกองคาพยพบนกระดานการเมืองของ “คนเครือข่ายแม้ว”ออกอาการให้เห็นชัดเจนว่า กลัวที่จะสูญเสียอำนาจที่ถือครองมานาน
ชั่วโมงนี้ คนเครือข่ายแม้วถูกต้อนเข้ามุมอับบนสังเวียน ที่ต่อสู้กันหนัก “พี่เลี้ยง”ที่คอยแก้เกมข้างเวที โดยขอเจรจาเพื่อยื้อเวลาต่ออายุให้ “รัฐบาลคุณดอกไม้” ถูก “กำนันสุเทพ”หัวขบวนม็อบนกหวีด ปัดข้อเสนอทิ้งไปหลายตลบ
ดูเหมือนอายุขัยของรัฐบาลคุณดอกไม้ ใกล้หมดเวลาเต็มทน
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เมื่อทำไม่ได้ ก็จบเห่ สิ้นสภาพ
เข้าล็อกตามคิวที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ออกมาเสนอ “นายกฯคนกลาง”ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการชุมนุมของกปปส.ในช่วงปลายปี 56
กำนันสุเทพ ระบุว่า ตามมาตรา 7 นั้น มีบทบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างไรในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ให้วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“มีคนคัดค้านด้วยความไม่รู้ เข้าใจผิดว่ามาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ คือการไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัว ไปคิดเอาเองว่า การใช้มาตรา 7 คือไปขอนายกฯคนใหม่ และรัฐสภาใหม่ ไม่ใช่แบบนั้น พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ไม่เคยลงมาแทรกแซงการเมือง พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง”
กำนันสุเทพ ยังตอกย้ำว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เป็นตัวอย่างบทบัญญัติการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ที่ใช้มาแล้วในประเทศไทย โดย “จอมพลถนอม”ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และ“จอมพลประภาส”ลาออกจากรองนายกฯ ทำให้ “รองประธานวุฒิสภา”ในขณะนั้น กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ขอให้พระองค์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง“สัญญา ธรรมศักดิ์”เป็นนายกรัฐมนตรี
แนวคิดของ กำนันสุเทพ สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ “อดีตประธานศาลฎีกา”คนหนึ่งที่ถูกพูดถึงบนเวที กปปส. บ่อยๆ โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรี หมดสิ้นสภาพการเป็นนายกรักษาการ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถเปิดประชุมสภาตามกำหนดได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามกรอบเวลาและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
“ดังนั้นอำนาจอธิปไตยจึงกลับมาเป็นของประชาชน ตามมาตรา 3 เมื่ออำนาจกลับมาเป็นของประชาชน จากนี้สามารถดำเนินการหานายกรัฐมนตรีคนกลาง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ได้”
ไม่เท่านั้น “อดีตคนวงในระบอบแม้ว”อย่าง “ประเกียรติ นาสิมมา”ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ก็ยังระบุว่า วันทำรัฐพิธีเปิดประชุม สมัยประชุมสามัญทั่วไปของรัฐสภา ตามมาตรา 127 และ 128 อันเป็นหน้าที่สำคัญของ ครม. และนายกรัฐมนตรีรักษาการ ต้องนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ เพื่อตรา พ.ร.ฎ.ให้การทำรัฐพิธี เปิดสมัยประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้งทั่วไป คือ นับจากวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ ครม.และนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ ได้ทำ โดยอ้างเหตุผลว่า กกต.ยังทำหน้าที่ไม่เสร็จ ยังไม่มีส.ส.ที่จะเรียกให้มาประชุมเป็นครั้งแรก เมื่อไม่มีการทำรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จึงไม่มีวันเริ่มต้นให้ดำนเนินการตามรัฐธรรมนูญ 172 คือให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบบคุคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้เสร็จภายใน 30 วัน
“ประเกียรติ”แสดงความเห็นต่อว่า เมื่อองค์กรใดมีหน้าที่โดยเฉพาะ ครม.และนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ทำดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ไม่ทำหน้าที่สำคัญนั้น ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่รักษาการครม. และรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป
และหาก “ยิ่งลักษณ์-ลิ่วล้อ”ฝ่าฝืน อาจเข้าข่ายการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ได้
และยิ่งดูเนื้อหาทางกฎหมายของ“ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ”อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แล้ว ยิ่งถึงบางอ้อว่า เหตุใด “รัฐบาลคุณดอกไม้”จึงไม่มีอำนาจในตำแหน่งรัฐบาลรักษาการอีกต่อไป
“ท่านยินดี”ระบุว่า เมื่อไม่สามารถเรียกประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน 30 วัน และไม่อาจมีคณะรัฐมนตรีใหม่ขึ้นได้ เมื่อ กกต.ไม่อาจดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดฉันทานุมัติของประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม ย่อมมีผลในทางรัฐธรรมนูญ
เพราะไม่มีคณะรัฐมนตรีที่จะตั้งขึ้นใหม่ ที่จะเข้ารับหน้าที่แทนอย่างแน่แท้ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ย่อมไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป
“ท่านยินดี”ระบุต่อว่า เงื่อนไขในการอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งสิ้นสุดลง และอำนาจอธิปไตยได้กลับคืนมาเป็นอำนาจของประชาชนโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 จึงเป็นหน้าที่ของกปปส. ที่จะต้องดำเนินการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ให้หยุดปฏิบัติการซึ่งเคยเป็นอำนาจหน้าที่นั้นเสีย โดยไม่จำเป็นต้องลาออก
ทั้งหมดคือเหตุผลของปรมาจารย์ทางกฎหมาย ที่อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น เพราะทั้งชีวิตอยู่กับกฎหมาย ไม่เหมือนใครบางคนที่คุยโม้โอ้อวดว่าจบด็อกเตอร์ แต่อ้างกฎหมายแบบมั่วๆ
เมื่อหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญถูกกำหนดขึ้นแล้ว ย่อมมีผลในทางปฏิบัติ ดังนั้นด่านต่อไปที่จะชี้ขาดความเป็นอยู่ของ“รัฐบาลคุณดอกไม้” หนีไม่พ้น“ศาลรัฐธรรมนูญ”ที่จะเป็นผู้เขี่ยรัฐบาลรักษาการให้หมดอำนาจไป
ล่าสุดก็เป็น กำนันสุเทพ ที่เปิดเผยเองว่า “ไพบูลย์ นิติตะวัน”ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นแนวร่วมคนสำคัญของกปปส. จะเป็นผู้ยื่นต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสถานะของ “รัฐบาลคุณดอกไม้”ในวันที่ 10 มีนาคม หลังจากก่อนหน้านี้ก็มี “ไทกร พลสุวรรณ”อดีตแกนนำ กปท.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ติดที่เขียนคำร้องอ่อนเกินไป
ทว่า“คนเครือข่ายชินวัตร”ยังดิ้นเฮือกสุดท้าย โดยออกมาแก้ต่างทางกฎหมายว่า หลักการกฎหมายบอกแล้วว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าที่จะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามา จะต้องแปลความให้ยึดโยงหลักนี้
ส่วนกรอบระยะเวลา 30 วัน ที่จะต้องเปิดประชุมสภาให้ได้นั้น อยู่ในหมวดว่าด้วยสภา ไม่ได้อยู่ในหมวดของการเลือกตั้ง หรือเรื่องครม.พ้นหน้าที่ ถือเป็นคนละหมวดกัน
ทว่าอาการของ “ชัยเกษม นิติสิริ”รมว.ยุติธรรม ที่ออกมาระบุว่า “บ้านผมเลี้ยงสุนัข ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า บ้านเขาไม่ได้เรียกสุนัข แต่เรียกสุกร ผมก็เลยต้องเรียกสุกร ตามศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วยไม่ได้ กฎหมายเป็นอย่างนั้น”
เมื่อหลักกฎหมาย “คนเครือข่ายชินวัตร”สู้ไม่ได้ เกมต่อไปหนีไม่พ้นการเปิดหน้าสู้ด้วยมวลชน โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์”ที่มีการตระเตรียมกันอย่างดี
ยิ่งมีกระแสข่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. ลาราชการด่วน 3 วัน เตรียมบินตรงประเทศสิงคโปร์ รับงานจากนายใหญ่ ยิ่งฉาพภาพให้เห็นว่า “รัฐบาลคุณดอกไม้”ไม่มีเกมไหนให้เล่น นอกจากเกมแห่งการนองเลือด เพื่อพยุง-ยื้อ ให้อำนาจยังอยู่ในมือ
รัฐบาลคุณดอกไม้”ถึงทางตัน ประเทศไทยถึงทางตัน นับวันรอสงครามกลางเมือง !!