xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายแม้วแห่สมัครส.ว. เมียขวัญชัยลงอุดรฯเมียเสถียรชิงที่อุบลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4 มี.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. กล่าวถึง การเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นวันแรกว่า ทั่วประเทศ มีผู้สมัครแล้ว 239 คน เป็น ผู้สมัครชาย 209 คน ผู้สมัครหญิง 30 คน โดยในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง การปิดล้อม หรือขัดขวางการรับสมัครเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา โดยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่า การเลือกตั้งส.ว. จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
บรรยากาศการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.กทม. ในวันแรก ที่รัฐสภา ค่อนข้างเงียบเหงา ตั้งแต่ช่วงเช้ามีผู้สมัครทยอยเดินทางมาลงทะเบียน ณ ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 ก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 5 คน แต่มีสิทธิจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเพียง 3 คน เนื่องจาก นายวิทยา จังกอบพัฒนา และนายอัคราดร ปัญญาเพ็ญ เตรียมเอกสารมาไม่ครบถ้วน โดยผลการจับสลากที่มีนายวีระ ยี่แพร่ ผอ.กต.ประจำ กทม. เป็นประธานฯ ปรากฏว่าพล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท อดีต ผบก.กองปราบปรามฯ ที่เดินทางมาลงทะเบียนสมัครเป็นคนแรก ตั้งแต่เวลา 06.59 น. จับได้หมายเลข 1 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมคมต่อต้านโลกร้อนได้หมายเลข 2 และ นางลีน่า จังจรรยา หรือ ลีน่าจัง ได้หมายเลข 3 โดยมี นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในจังหวัดต่างๆ ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายนักการเมือง เป็นคนในครอบครัว เป็นเครือญาติ ส.ส. โดยมีจังหวัดที่น่าสนใจคือ ที่จ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้หมายเลข 1 นายปรีชา พัวนุกูลวงศ์ หมายเลข 2 นายมงคลชัย ดวงแสงทอง หมายเลข 3 นายศักดิ์ชัย จงสุขธนามณี หมาย เลข 4 นางพนิดา มะโนธรรม หมายเลข 5
ทั้งนี้ นางเตือนใจ เป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา อดีตส.ว.เลือกตั้งรุ่นแรก เคยเป็นกรรมาธิการวุฒิสภา ทำงานในคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ ของศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ขณะที่นายศักดิ์ชัย เป็นอดีต ส.อบจ.เชียงราย เขตอ.แม่จัน ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาสภาเกษตรกรจ.เชียงราย ขับเคลื่อนเรื่องเงินโครงการจำนำข้าว และเป็นคนจากกลุ่มการเมืองใหญ่ ที่ขับเคี่ยวกับกลุ่มนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช นายก อบจ.เชียงราย ภรรยา นายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองใหญ่ของ จ.เชียงราย และพรรคเพื่อไทย ส่วนนายปรีชา เป็นอดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กลุ่มอาสาประชา ซึ่งมี นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ส่วนนายมงคลชัย เป็นอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจ.เชียงราย ส่วนนางพนิดา เป็นแกนนำคนเสื้อแดง กลุ่มตะวันแดงกระตุ้นเศรษฐกิจ
จ.เชียงใหม่ วันแรกมีผู้สมัคร 10 คน ที่น่าสนใจ คือ นายอดิศร กำเนิดศิริ หมายเลข 3 ที่เพิ่งลาออกจากรองผวจ.เชียงใหม่ เพื่อมาลงสมัครโดยเฉพาะ และได้รับการสนับสนุนจาก "เจ๊ด." ผู้ยิ่งใหญ่ในภาคเหนือ ส่วนนายถาวร เกียรติไชยากร หมายเลข 6 อดีต ส.ว.เชียงใหม่ เป็นน้องชาย นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายกฤษณพงษ์ พรมบึงรำ หมายเลข 7 เป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่มีบทบาทอย่างสูงในการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง
จ.ลำปาง มีผู้มาสมัคร 8 คน โดย 1 ใน 8 คน คือ นายบุญชู ตรีทอง หมายเลข 4 อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นายวราวุฒิ หน่อคำ หมายเลข 1 อดีตประธานสภาทนายความภาค 5 นายธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร หมายเลข 3 อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง เป็นต้น
จ.พะเยา คนใกล้ชิดนายไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายกอบจ.พะเยา น้องชายนายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานการเมืองในพะเยากว่า 20 ปี ข่าวแจ้งว่านายไพรัตน์ จะยื่นสมัครวันที่ 6 มี.ค.
จ.พิจิตร มีผู้สมัคร 3 คน โดยหมายเลข 1 นายกิตติ์ธเนศ โภคินบุญญารัศมิ์ หรือ เสี่ยฮวด อาชีพรับเหมาก่อสร้าง และอดีตประธานสภา อบจ. เคยเป็นผู้สมัคร ส.ว.และนายกอบจ.มาแล้วหลายครั้ง ส่วนหมายเลข 3 นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ รับเหมาก่อสร้าง และอดีตรองนายก อบจ.พิจิตร มีญาติเป็น ส.อบจ. 3 เขต มีน้องชายเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ปากทาง อ.เมือง ซึ่งเป็นตัวเต็ง เพราะนายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกอบจ.พิจิตร และเครือข่ายส.อบจ.หลายคนสนับสนุน
จ.แพร่ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ อดีตเลขานุการ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกอบจ. ได้หมายเลข 1 ขณะที่มีกระแสข่าว นายสามขวัญ พนมขวัญ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ จะมาลงสมัครด้วยเช่นกัน
จ.พิษณุโลก ตัวเต็ง 2 คน ลงแข่งขันกัน คือ นายสุรินทร์ ฐิติปุญญา หมายเลข 1 อดีตนายกอบจ. พิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนท หมายเลข 2 อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกหลายสมัย โดยผู้สมัครอีกคน คือ นายฐิติพงศ์ชาญ ทรัพย์เพิ่มพูนทวี หมายเลข 3 เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยววันพระ ขายชามละ 5 บาท ต่างมีกองเชียร์นำดอกไม้มามอบให้เป็นกำลังใจและส่งเสียงเชียร์อย่างคึกคัก
สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง อาทิ จ.อุทัยธานี นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ลงสมัครได้หมายเลข 1 โดยนายไพโรจน์ เป็นเจ้าของสวนลุมไนท์บาซ่าร์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี และ อดีต ส.ว.อุทัยธานี ปี 49 เป็นญาติผู้พี่ของนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.ที่เพิ่งครบวาระ และถือเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้
จ.อ่างทอง นายชูศักดิ์ ศรีราชา อดีตประธานสภาอบจ. มาสมัครเป็นคนแรก ได้หมายเลข 1 โดยมีนายภราดร หรือแบด ปริศนานันทกุล นายกรวีร์ หรือแชมป์ ปริศนานันทกุล ว่าที่ ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นลูกชายนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรค และอดีต ส.ส.อ่างทอง พร้อมนายสุรเชษ นิ่มกุล นายกอบจ. และกองเชียร์ในทีมงานสำนึกรักบ้านเกิดมาให้กำลังใจ
จ.กาญจนบุรี มีผู้สมัคร 4 ราย ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัด ประกอบด้วย พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์ อดีตรอง ผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ หมายเลข 1 นายเสนาะ ศิลาแรง อดีตนายอำเภอ หมายเลข 2 นางมนรัตน์ สารภาพ นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของไร่คุณมน หมายเลข 3 และนายศรชัย พวงลำเจียก หมายเลข 4 อดีตเลขานุการส่วนตัวนพ.สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีตส.ว.กาญจนบุรี ที่เพิ่งหมดวาระ
จ.สุพรรณบุรี มีผู้สมัคร 4 คน แต่ที่ฮือฮา คือ หมายเลข 1 นายวิทย์วัส โพธสุธน หลานชาย นายประภัตร โพธสุธน แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และหมายเลข 2 นายจองชัย เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย เจ้าของสโลแกน "คิดไม่ออก บอกจองชัย"
จ.ชลบุรี มีผู้สมัคร 2 คน คือ นายแสงศร สุนทรศิลป์ชัย อดีต ส.อบจ. หมายเลข 1 และ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรลักษณ์ อดีตส.ส.หลายสมัย หมายเลข 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบ้านใหญ่ นำโดย นายสนธยา คุณปลื้ม รักษาการรมว.วัฒนธรรม
จ.ฉะเชิงเทรา นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ หมายเลข 1 นายสุเชน ทั่วทิพย์ หรือทนายด้วง หมายเลข 2 โดยนายสุนันต์ เป็นอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เกษียณอายุราชการปี 2555 ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่นายสุเชน เป็นอดีตส.อบจ.เขตอ.เมือง ปี 2533-2538 สังกัดกลุ่มการเมืองตระกูล "ฉายแสง"
จ.จันทบุรี มีผู้สมัคร 2 คน คือ หมายเลข 1 นายสุรพงษ์ สุวรรณหิตาธร อดีตที่ปรึกษานายกอบจ. และหมายเลข 2 นางพจนา กิจกาญจน์ น้องสาวนายกอบจ.จันทบุรี
จ.ระยอง มีผู้สมัคร 5 คน โดยตัวเต็งยังเป็น นายสุรชัย หรือ ครูเข่ง ปิตุเตชะ หมายเลข 3 อดีตเข้าราชการครูที่ลาออกมาเล่นการเมืองท้องถิ่นครั้งแรกก็ได้รับเลือกตั้งเป็นส.อบจ.ระยอง 2 สมัย เป็นญาติกับนายสาธิต ปิตุเตชะ นายธารา ปิตุเตชะ อดีตส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง และนายเศรษฐา ปิตุเตชะ ส.อบจ.ระยอง
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี มีผู้สมัคร 4 คน นางอาพร สารคำ ภรรยา นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา มาสมัครตามคาด ได้หมายเลข 1 โดยมีการ์ดกว่า 10 คนมารักษาความปลอดภัย
จ.นครราชสีมา มีผู้สมัคร 3 คน คือ นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ หมายเลข 1 และนายปรีชา กำพุฒกลาง หมายเลข 2 และ พล.อ.วีรวุธ ส่งสาย อดีตประธานกกต.จังหวัดนครราชสีมา หมายเลข 3 ทั้งนี้ นายพงษ์ศิริ เป็นอดีตผวจ.นครพนม และอดีตรอง ผวจ.นครราชสีมา มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้การสนับสนุน ส่วนนายปรีชา เป็นอดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน
จ.อุบลราชธานี มีผู้สมัคร 4 คน แต่ที่ฮือฮา คือ นางณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบ และภรรยา พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกป.ป.ช. สั่งยึดทรัพย์เกือบ 300 ล้านบาท ลงสมัครได้หมายเลข 4 โดยมีคู่แข่ง คือ นายสมชาย เหล่าสายเชื้อ หมายเลข 3 ประธานบริษัท โตโยต้าดีเยี่ยม อุบลราชธานี จำกัด นักธุรกิจพันล้าน ที่ฟันฝ่าความยากจนมาตั้งแต่เด็ก จนร่ำรวยจากกิจการขายรถยนต์
จ.บุรีรัมย์ นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ปี 2543 อดีตส.ส.บุรีรัมย์ 3 สมัย และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยื่นใบสมัครเพียงคนเดียว ทำให้ได้หมายเลข 1 ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นคาดว่าจัดสรรตัวผู้สมัครยังไม่ลงตัว หรือรอฤกษ์ดีและมาสมัครในวันต่อไป
จ.หนองคาย มีผู้สมัคร 3 คน หมายเลข 1 นายอุทรฑ์ เกฐสิทธิ์ หมายเลข 2 นายสุรพงษ์ ผลบูรณ์ หมายเลข 3 นายอาทิตย์ ศรีตะบุตร โดยนายอุทรฑ์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจ.หนองคาย ปัจจุบันเป็นประธานชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดน จ.หนองคาย ขณะที่นายสุรพงษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.หนองคาย พรรคเสรีธรรม พรรคราษฎร ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจโรงงานทอผ้าจ.สมุทรปราการ และเป็นเลขานุการของกลุ่มพลังประชาชนปกป้องประชาธิปไตยเพื่อไทย ส่วนนายอาทิตย์ อดีตนายกอบจ.หนองคาย เป็นบุตรชายนายพิทักษ์ ศรีตะบุตร อดีต ส.ว.หนองคาย และเป็นน้องชายของ นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกอบจ. คนปัจจุบัน
จ.มหาสารคาม มีผู้สมัคร 3 คน ประกอบด้วย นายศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรมว.ศึกษาธิการ หมายเลข 1 นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ อดีตผวจ.มหาสารคาม หมายเลข 2 และนายวิทยา มะเสนา อดีต ส.ว. หมายเลข 3
จ.กาฬสินธุ์ นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ หลายสมัย ลงสมัครได้หมายเลข 3 โดยมีคู่แข่ง คือ นายวิรัช พิมพะนิตย์ อดีตส.อบจ.เขตอ.เมืองหลายสมัย หมายเลข 1 และนายประยงค์ โมคภา อดีตรองนายกอบจ.กาฬสินธุ์ หมายเลข 2
จ.ร้อยเอ็ด มีผู้สมัคร 4 คน หมายเลข 1 นายเกรียงศักดิ์ หลักคำ หมายเลข 2 นางจีรภา ธีระกนก อดีตรองผู้อำนวยการสาธารณสุขร้อยเอ็ด ภรรยาของนายจาตุรงค์ ธีระกนก อดีตส.ว. เคลื่อนไหวในกลุ่มคนเสื้อแดง นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และคนเสื้อแดงจุดเทียนขาวสนับสนุนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หมายเลข 3 นางสุภาพ ติณรันต์ แกนนำกลุ่มพลังมวลชนและแม่บ้านพัฒนาบทบาทสตรีร้อยเอ็ด หมายเลข 4 นายสมเกียรติ พื้นแสน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ดเขต 1 น้องชายพ.ต.ต.วิรุฬ พื้นแสน อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียนนปช.แดงทั้งแผ่นดินร้อยเอ็ด
จ.ศรีสะเกษ มีผู้สมัคร 2 ราย คือ น.ส.วิลดา อินฉัตร หมายเลข 1 นายชัยธัช มานะศรีสุริยัน หมายเลข 2 ทั้งนี้ น.ส.วิลดา เป็นน้องสาวน.ส.มาลินี อินฉัตร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตผู้ช่วยรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนนายชัยธัช เป็นอดีตที่ปรึกษานายกอบจ.ศรีสะเกษ
กำลังโหลดความคิดเห็น