xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น เปิดศึกเลือกตั้ง ส.ว. ด้าน 3 จว.ใต้ขอฝ่ายความมั่นคงดูความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จ.ภูเก็ต
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น เปิดศึกสนามเลือกตั้งส.ว. "เชียงราย"ได้เวลาถอนแค้น 2 กลุ่มการเมืองใหญ่ แต่มี"ครูแดง"เป็นก้างขวางคอ "เชียงใหม่"สะพัด"เจ้ดอ"หนุนอดีตรองผู้ว่าฯชนเสื้อแดง "อุบลราชธานี"ฮือฮา"ณัฐณิชาช์"เมีย"พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ลงชิงเก้าอี้กับนักธุรกิจพันล้าน

วันนี้ (4 มี.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ทั่วประเทศเป็นวันแรก โดยจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 8 มีนาคม ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 10-14 มีนาคม เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 23 มีนาคม และเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 30 มีนาคม พบว่าหลายจังหวัดมีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งภาคประชาชน นักการเมืองท้องถิ่น และเครือข่ายกลุ่มการเมืองใหญ่ในพื้นที่ลงสมัครกันอย่างคึกคัก โดยไมี่กลุ่มผู้คัดค้านแต่อย่างใด

"เชียงราย"ได้เวลาถอนแค้น2กลุ่มการเมืองใหญ่

โดยที่จ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้หมายเลข 1 นายปรีชา พัวนุกูลวงศ์ หมายเลข 2 นายมงคลชัย ดวงแสงทอง หมายเลข 3 นายศักดิ์ชัย จงสุขธนามณี หมายเลข 4 นางพนิดา มะโนธรรม หมายเลข 5

ทั้งนี้ นางเตือนใจ หรือครูแดง เป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา อดีตส.ว.เลือกตั้งรุ่นแรก เคยเป็นกรรมาธิการวุฒิสภา ทำงานในคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ราษฎรอาวุโส นักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษา

ขณะที่นายศักดิ์ชัย เป็นอดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)เชียงราย เขตอ.แม่จัน ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ขับเคลื่อนเรื่องเงินโครงการจำนำข้าว และเป็นคนจากกลุ่มการเมืองใหญ่ ที่ขับเคี่ยวกับกลุ่มนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช นายกอบจ.เชียงราย ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองใหญ่ของจ.เชียงราย และพรรคเพื่อไทย

ส่วนนายปรีชา เป็นอดีตรองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย กลุ่มอาสาประชา ซึ่งมีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำส่วนนายมงคลชัยเป็นอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ส่วนนางพนิดาเป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มตะวันแดงกระตุ้นเศรษฐกิจ

สะพัด"เจ้ดอ"หนุน"อดีตรองผู้ว่าฯ"ลงชนเสื้อแดง

จ.เชียงใหม่ วันแรกมีผู้สมัคร 10 คน ที่น่าสนใจ คือ นายอดิศร กำเนิดศิริ หมายเลข 3 ที่เพิ่งลาออกจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาลงสมัครโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคมยังคงทำงานในตำแหน่ง โดยมีกระแสข่าวว่าได้รับการสนับสนุนจาก"เจ้ดอ"ผู้ยิ่งใหญ่ในภาคเหนือ

ส่วนนายถาวร เกียรติไชยากร หมายเลข 6 อดีตส.ว.เชียงใหม่ เป็นน้องชายนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายกฤษณพงษ์ พรมบึงรำ หมายเลข 7 เป็นแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่มีบทบาทอย่างสูงในการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง

จ.ลำปาง มีผู้มาสมัคร 8 คน โดย 1 ใน 8 คน คือ นายบุญชู ตรีทอง หมายเลข 4 อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นายวราวุฒิ หน่อคำ หมายเลข 1 อดีตประธานสภาทนายความภาค 5 นายธนชัย พงษ์โสภาวิจิตร หมายเลข 3 อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง เป็นต้น

จ.พะเยา คนใกล้ชิดนายไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายกอบจ.พะเยา น้องชายนายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานการเมืองในพะเยากว่า 20 ปี แจ้งว่านายไพรัตน์จะยื่นสมัครวันที่ 6 มีนาคม

เสี่ยรับเหมาพิจิตรเต็งจ๋าฐานเสียงอบจ.แน่นปึ้ก

จ.พิจิตร มีผู้สมัคร 3 คน โดยหมายเลข 1 นายกิตติ์ธเนศ โภคินบุญญารัศมิ์ หรือเสี่ยฮวด อาชีพรับเหมาก่อสร้าง และอดีตประธานสภาอบจ. เคยเป็นผู้สมัครส.ว.และนายกอบจ.มาแล้วหลายครั้ง ส่วนหมายเลข 3 นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ รับเหมาก่อสร้าง และอดีตรองนายกอบจ.พิจิตร มีญาติเป็น ส.อบจ. 3 เขต มีน้องชายเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ปากทาง อ.เมือง ซึ่งเป็นตัวเต็ง เพราะนายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกอบจ.พิจิตร และเครือข่ายส.อบจ.หลายคนสนับสนุน

จ.แพร่ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ อดีตเลขานุการนายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกอบจ. ได้หมายเลข 1 ขณะที่มีกระแสข่าวนายสามขวัญ พนมขวัญ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ จะมาลงสมัครด้วยเช่นกัน

จ.น่าน มีผู้สมัคร 4 คน คือ นายชัยวุฒิ คูอาริยะกุล หมายเลข 1 นักธุรกิจชื่อดัง นายศรีสุรินทร์ จำปา หมายเลข 2 อดีตนายอำเภอนาหมื่น นายเสรี พิมพ์มาศ หมายเลข 3 อดีต ผู้อำนวยการสถานศึกษา 3 แห่ง และอดีตผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมที่ 37(แพร่-น่าน) นายอนนต์ ตันตระกูล หมายเลข 4 อดีตรองนายกอบจ.น่าน

เมืองสองแควสนามวัดบารมี2นักการเมืองท้องถิ่น

จ.อุตรดิตถ์ มีผู้สมัคร 2 ราย คือ นายโปรย สมบัติ ประธานชมรมสื่อมวลชนอุตรดิตถ์ อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย รองเลขาธิการใหญ่สหพันธ์สื่อมวลชนแห่งอาเซียน ได้หมายเลข 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตอัยการจังหวัดประจำกรม ปี 2544 ที่ลาออกมาสมัครส.ส.อุตรดิตถ์ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ แต่สอบตก กลับเข้ารับราชการปี 2545 และลงสมัครส.ว.อุตรดิตถ์ แต่เกิดการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 จากนั้นปี 2551 สมัครนายกอบจ.อุตรดิตถ์ ครบวาระเมื่อปี 2555 และลงสมัครใหม่ แต่แพ้การเลือกตั้ง ได้หมายเลข 2

ที่ จ.พิษณุโลก ตัวเต็ง 2 คนลงแข่งขันกัน คือ นายสุรินทร์ ฐิติปุญญา หมายเลข 1 อดีตนายกอบจ.พิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนท หมายเลข 2 อดีตนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกหลายสมัย โดยผู้สมัครอีกคน คือ นายฐิติพงศ์ชาญ ทรัพย์เพิ่มพูนทวี หมายเลข 3 เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยววันพระ ขายชามละ 5 บาท ต่างมีกองเชียร์นำดอกไม้มามอบให้เป็นกำลังใจและส่งเสียงเชียร์อย่างคึกคัก

คนในคาถา"สำนึกรักบ้านเกิด"อ่างทองแบเบอร์

ภาคกลาง จ.อุทัยธานี นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ลงสมัครได้หมายเลข 1 โดยนายไพโรจน์เป็นเจ้าของสวนลุมไนท์บาซ่าร์ อดีตส.ส.อุทัยธานี และอดีต ส.ว.อุทัยธานี ปี 2549 เป็นญาติผู้พี่ของนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.ที่เพิ่งครบวาระ และถือเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้

จ.อ่างทอง นายชูศักดิ์ ศรีราชา อดีตประธานสภาอบจ. มาสมัครเป็นคนแรก ได้หมายเลข 1 โดยมีนายภราดร หรือแบด ปริศนานันทกุล นายกรวีร์ หรือแชมป์ ปริศนานันทกุล ว่าที่ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นลูกชานายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรค และอดีต ส.ส.อ่างทอง พร้อมนายสุรเชษ นิ่มกุล นายกอบจ. และกองเชียร์ในทีมงานสำนึกรักบ้านเกิดมาให้กำลังใจ

"จองชัย เที่ยงธรรม"ชน"โพธสุธน"ที่สุพรรณบุรี

จ..กาญจนบุรี มีผู้สมัคร 4 ราย ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัด ประกอบด้วย พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์ อดีตรองผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ หมายเลข 1 นายเสนาะ ศิลาแรง อดีตนายอำเภอ หมายเลข 2 นางมนรัตน์ สารภาพ นักธุรกิจชื่อดังเจ้าของไร่คุณมน หมายเลข 3 และนายศรชัย พวงลำเจียก หมายเลข 4 อดีตเลขานุการส่วนตัวนพ.สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีตส.ว.กาญจนบุรี ที่เพิ่งหมดวาระ

จ.สุพรรณบุรี มีผู้สมัคร 4 คน แต่ที่ฮือฮา คือ หมายเลข 1 นายวิทย์วัส โพธสุธน หลานชายนายประภัตร โพธสุธน แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และหมายเลข 2 นายจองชัย เที่ยงธรรม อดีตส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย เจ้าของสโลแกน "คิดไม่ออก บอกจองชัย"

ตระกูล"ฉายแสง"อุ้ม"ทนายด้วง"ชิงส.ว.แปดริ้ว

จ..ชลบุรี มีผู้สมัคร 2 คน คือ นายแสงศร สุนทรศิลป์ชัย อดีตส.อบจ. หมายเลข 1 และนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรลักษณ์ อดีตส.ส.หลายสมัย หมายเลข 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบ้านใหญ่ นำโดยนายสนธยา คุณปลื้ม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

จ.ฉะเชิงเทรา นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ หมายเลข 1 นายสุเชน ทั่วทิพย์ หรือทนายด้วง หมายเลข 2 โดยนายสุนันต์เป็นอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เกษียณอายุราชการปี 2555 ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่นายสุเชนเป็นอดีตส.อบจ.เขตอ.เมือง ปี 2533-2538 สังกัดกลุ่มการเมืองตระกูล "ฉายแสง" ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาอบจ.ปี 2535 เคยลงสมัครส.ว.ปี 2543 และ 2549 แต่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง โดยการเดินทางมาสมัคร มีนายอนันต์ ฉายแสง อดีตส.ส.ฉะเชิงเทรา หลายสมัย ต้นตระกูลการเมืองของ "ฉายแสง" ทางมาให้กำลังใจ และนั่งรอให้กำลังใจจนถึงภายในห้องรับสมัครจนการสมัครเสร็จสิ้น

จ.จันทบุรี มีผู้สมัคร 2 คน คือ หมายเลข 1 นายสุรพงษ์ สุวรรณหิตาธร อดีตที่ปรึกษานายกอบจ. และหมายเลข 2 นางพจนา กิจกาญจน์ น้องสาวนายกอบจ.จันทบุรี ซึ่งทั้ง 2 คนต่างมีกองเชียร์มาร่วมสร้างสีสันกันอย่างคึกคัก

ครูเข่ง"ตัวเต็งระยองเหตุ"ปิตุเตชะ"ยึดทุกสนาม

จ.ระยอง มีผู้สมัคร 5 คน โดยตัวเต็งยังเป็นนายสุรชัย หรือครูเข่ง ปิตุเตชะ หมายเลข 3 อดีตเข้าราชการครูที่ลาออกมาเล่นการเมืองท้องถิ่นครั้งแรกก็ได้รับเลือกตั้งเป็นส.อบจ.ระยอง 2 สมัย ต่อมาลงสมัครสส.ว.ชนะคู่แข่ง แต่ถูกกกต.ให้ใบเหลือง และมาลงสมัครส.ส.ระยอง พรรคชาติไทย ต่อมาลงระบบบัญชีรายชื่ออันดับ 19 พรรคชาติไทย เคยชุมนุมขับไล่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จนผู้ว่าฯถูกคำสั่งย้าย

นอกจากนี้นายสุรชัยเป็นญาติกับนายสาธิต ปิตุเตชะ นายธารา ปิตุเตชะ อดีตส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง และนายเศรษฐา ปิตุเตชะ ส.อบจ.ระยอง

"เมียขวัญชัย"ลงอุดร-"สุวัจน์"หนุนอดีตรองผู้ว่าฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี มีผู้สมัคร 4 คน ซึ่งนางอาพร สารคำ ภรรยานายขวัญชัย สารคำ หรือไพรพนา มาสมัครตามคาด ได้หมายเลข 1 โดยมีการ์ดกว่า 10 คนมารักษาความปลอดภัย

จ.นครราชสีมา มีผู้สมัคร 3 คน คือ นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ หมายเลข 1 และนายปรีชา กำพุฒกลาง หมายเลข 2 และพล.อ.วีรวุธ ส่งสาย อดีตประธานกกต.จังหวัดนครราชสีมา หมายเลข 3 ทั้งนี้นายพงษ์ศิริเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดนครพนม และอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้การสนับสนุน ส่วนนายปรีชาเป็นอดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน

เมียอดีตปลัดกลาโหมสมัครอุบล-"การุณ"ลงบุรีรัมย์

จ.อุบลราชธานี มีผู้สมัคร 4 คน แต่ที่ฮือฮา คือ นางณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบ และภรรยาพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สั่งยึดทรัพย์เกือบ 300 ล้านบาท ลงสมัครได้หมายเลข 4 โดยมีคู่แข่ง คือ นายสมชาย เหล่าสายเชื้อ หมายเลข 3 ประธานบริษัท โตโยต้าดีเยี่ยม อุบลราชธานี จำกัด นักธุรกิจพันล้านที่ฟันฝ่าความยากจนมาตั้งแต่เด็ก จนร่ำรวยจากกิจการขายรถยนต์

จ.บุรีรัมย์ นายการุณใสงาม อดีตส.ว.บุรีรัมย์ ปี 2543 อดีตส.ส.บุรีรัมย์ 3 สมัย และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยื่นใบสมัครเพียงคนเดียว ทำให้ได้หมายเลข 1 ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นคาดว่าจัดสรรตัวผู้สมัครยังไม่ลงตัว หรือรอฤกษ์ดีและมาสมัครในวันต่อไป

จ.หนองคาย มีผู้สมัคร 3 คน หมายเลข 1 นายอุทรฑ์ เกฐสิทธิ์ หมายเลข 2 นายสุรพงษ์ ผลบูรณ์ หมายเลข 3 นายอาทิตย์ ศรีตะบุตร โดยนายอุทรฑ์เป็นอดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจ.หนองคาย ปัจจุบันเป็นประธานชมรมนักจัดรายการวิทยุชายแดนจ.หนองคาย รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ขณะที่นายสุรพงษ์ อดีตผู้สมัครส.ส.หนองคาย พรรคเสรีธรรม พรรคราษฎร ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจโรงงานทอผ้าจ.สมุทรปราการ และเป็นเลขานุการของกลุ่มพลังประชาชนปกป้องประชาธิปไตยเพื่อไทย ส่วนนายอาทิตย์ อดีตนายกอบจ.หนองคาย เป็นบุตรชายนายพิทักษ์ ศรีตะบุตร อดีตส.ว.หนองคาย และเป็นน้องชายของนายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกอบจ.คนปัจจุบัน

จ.มหาสารคาม มีผู้สมัคร 3 คน ประกอบด้วย นายศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หมายเลข 1 นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม หมายเลข 2 และนายวิทยา มะเสนา อดีตส.ว. หมายเลข 3

จ.กาฬสินธุ์ นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีตส.ส.กาฬสินธุ์หลายสมัย ลงสมัครได้หมายเลข 3 โดยมีคู่แข่ง คือ นายวิรัช พิมพะนิตย์ อดีตส.อบจ.เขตอ.เมืองหลายสมัย หมายเลข 1 และนายประยงค์ โมคภา อดีตรองนายกอบจ.กาฬสินธุ์ หมายเลข 2

แดงร้อยเอ็ดลงแย่งกันเอง-อดีตส.ส.สุรินทร์เอาด้วย

จ.ร้อยเอ็ด มีผู้สมัคร 4 คน หมายเลข 1 นายเกรียงศักดิ์ หลักคำ หมายเลข 2 นางจีรภา ธีระกนก อดีตรองผู้อำนวยการสาธารณสุขร้อยเอ็ด ภรรยาของนายจาตุรงค์ ธีระกนก อดีตส.ว. เคลื่อนไหวในกลุ่มคนเสื้อแดง นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และคนเสื้อแดงจุดเทียนขาวสนับสนุนรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หมายเลข 3 นางสุภาพ ติณรันต์ แกนนำกลุ่มพลังมวลชนและแม่บ้านพัฒนาบทบาทสตรีร้อยเอ็ด หมายเลข 4 นายสมเกียรติ พื้นแสน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ดเขต 1 น้องชายพ.ต.ต.วิรุฬ พื้นแสน อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียนนปช.แดงทั้งแผ่นดินร้อยเอ็ด

จ.ศรีสะเกษ มีผู้สมัคร 2 ราย คือ น.ส.วิลดา อินฉัตร หมายเลข 1 นายชัยธัช มานะศรีสุริยัน หมายเลข 2 ทั้งนี้ น.ส.วิลดา เป็นน้องสาวน.ส.มาลินี อินฉัตร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนนายชัยธัชเป็นอดีตที่ปรึกษานายกอบจ.ศรีสะเกษ และอดีตผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ศรีสะเกษ

จ.สุรินทร์ มีผู้สมัคร 2 คน คือ นายประดุจ มั่นหมาย อดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคไทยรักไทย หมายเลข 1 นายสุชีพ แข่งขัน อดีตปลัดจังหวัดสุรินทร์ หมายเลข 2

"อภิชาต ดำดี"ลงกระบี่-3จังหวัดชายแดนใต้เหงา

ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.อ.สุจิน แช่มช้อย อดีตผู้ทรงคุณวุฒิทหารอากาศ หมายเลข 1 นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หมายเลข 2

จ.สตูล มีผู้สมัคร 3 ราย นายณฤเบศร์ โอภาโส อดีตนายกอบจ. หมายเลข 1 นายอิบรอเหม อาดำ อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสตูล และกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย หมายเลข 2 นายไพศาล หลีเส็น อดีตกกต.จังหวัด ญาติ อดีตส.ส.สตูล เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 3

จ.กระบี่ มีผู้สมัคร 3 คน โดยนายอภิชาต ดำดี นักจัดรายการทีวี นักวิชาการอิสระ และนักพูดชื่อดัง ลงสมัครได้หมายเลข 1

ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจากจ.ปัตตานี บรรยากาศเงียบเหงา มีผู้สมัครแค่ 2 ราย คือ พล.ท.มนตรี อุมารี หมายเลข 1 นพ.สมหวัง อภิชัยรักษ์ หมายเลข 2 ส่วนที่จ.นราธิวาส สมัคร 1 คน คือ นายนิมันซูร จิยี่งอ หมายเลข 1 และจ.ยะลา สมัคร 3 รายได้แก่ นายอับดุลเล๊าะ อาเยาะแซ หมายเลข 1 นายจิรภัฎ ฤกษ์มณีรัตน์(ต่วนมะ) หมายเลข 2 นายอับดุลอายี สาเม็ง หมายเลข 3

ผอ.กต.นราธิวาสขอฝ่ายความมั่นคงดูความปลอดภัย

นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการการเลือกตั้งประจำจังหวัด(ผอ.กต.)นราธิวาส กล่าวว่า มั่นใจว่าการเปิดรับสมัครและการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมาตรการการรักษาความปลอดภัย ทั้งวันที่ 4-8 มีนาคม เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 23 มีนาคม และเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 30 มีนาคม นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ได้สนับสนุนกำลังพลและกำหนดแผนรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยใช้มาตรฐานเข้มงวด เช่นเดียวกับการเลือกตั้งส.ส. เพราะถึงแม้จะมั่นใจว่าการเลือกตั้งส.ว.จะไม่ถูกขัดขวางจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในชายแดนภาคใต้ยังต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมือง
จ.ระนอง
จ.ยะลา
จ.พิษณุโลก
จ.เชียงราย
จ.สุรินทร์
จ.กาฬสินธุ์
จ.อุบลราชธานี
จ.เพชรบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น