xs
xsm
sm
md
lg

โครงการรับจำนำข้าว ในมิติ”คณิตศาสตร์” (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: รัชชพล เหล่าวานิช

หลังจากได้นำเสนอความจริงเชิงประจักษ์ เพื่อให้เห็นว่า ใครกันแน่? ที่กำลังใช้ ชาวนาเป็นตัวประกัน ใครคือตัวร้าย? ผู้ที่พยายามปกปิด บิดเบือน ข้อมูลความล้มเหลว ของโครงการรับจำนำข้าวมาตลอดกว่าสองปีที่ผ่านมา

ถึงนาทีนี้ คงไม่มีใครปฎิเสธ ยกเว้นคนในรัฐบาลเท่านั้นแหละ ที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า โครงการรับจำนำข้าว คือ โครงการที่ต้องจัดให้เป็น สุดยอดของ “อภิมหากาพย์แห่งโครงการประชานิยม สุดอัปยศ” แห่ง ศตวรรษสำหรับประเทศไทย ที่สามารถบูรณาการ “การโกง”ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นำมาซึ่งความเสียหายในแง่ตัวเงิน ให้กับประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล ไม่นับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ระบบการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวของไทย ที่ต้องพังพินาศไปเกือบสิ้นเชิง

เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้นำตัวเลขทางคณิตศาสตร์ ที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลของ ผู้ตรวจสอบบัญชีท่านหนึ่ง คือ คุณสุรศักดิ์ ผุสดีโสภณ ที่เขียนบทความเรื่อง “โครงการรับจำนำข้าว-มุมมองบัญชี มานำเสนอ โดยพยายามจะนำมาถ่ายทอด ให้เข้าใจง่ายขึ้น สำหรับคนทั่วไป เพื่อตอบ โจทย์สำคัญ ที่ยังคงเป็น คำถามที่หลายคนยังต้องการคำตอบ คือ จริงหรือไม่? ที่รัฐบาลของ “อภิมหาโฆฆะสตรีแห่งสยาม” ได้พยายามปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาวนา เห็นใจในทุข์ของชาวนา เข้าใจว่า “ทุกหยาดเหงื่อมีค่า” และจะไม่ยอมให้กระดูกสันหลังของชาติ ต้องพิกลพิการ หมดสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คำตอบ จากโครงการรับจำนำข้าว ในมิติคณิตศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็น ความจริงเชิงประจักษ์ว่า นับตั้งแต่ รัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ มีการใช้วงเงินที่ถมลงไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 9.34 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง

เงิน 9.34 แสนล้านบาท แยกเป็น วงเงินที่ใช้ในการรับซื้อข้าวเปลือกในราคารับจำนำเฉลี่ยตันละ 1.5 หมื่นบาท จำนวน 8.7 แสนล้านบาท แยกเป็นในปีแรก 2554/55 จำนวน 3.36 แสนล้านบาท ในปีที่สอง 255/56 จำนวน 3.53 แสนล้านบาท และในปีล่าสุด 2556/57 จำนวน 1.81 แสนล้านบาท

เม็ดเงินในส่วนนี้ ถูกกำหนดกรอบวงเงินหมุนเวียนเอาไว้ที่ 5 แสนล้านบาท ตามมติครม.ตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ที่ใช้ในโครงการเอาไว้ที่ 4.1 แสนล้านบาท และ ใช้เงินหมุนเวียนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธกส.) อีก 9 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่เพียงรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าตลาดอย่างมาก แล้ว ยังมีกลไกที่สุดแสน พิศดารในการกำหนดให้มีการแปรสภาพเป็นข้าวสารนำเข้าโกดัง ทำให้ต้องมีภาระต้นทุนในการบริหารจัดการ ค่าเช่าโกดัง ดอกเบี้ย คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงราว 6.4 หมื่นล้านบาท

คำถามที่น่าสนใจ คือ อะไรเป็น เหตุจูงใจ หรือ เบื้องหลังในการดำเนินโครงการนี้ หากไม่มีมีเจตนาที่จะเปิดช่องให้เกิดการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” เพราะรัฐบาลน่าจะตระหนักดีว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด และ มันเป็นการฝืนธรรมชาติ และกลไกการตลาด อย่างสิ้นเชิง ที่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถผูกขาด และสร้างอำนาจต่อรองในการควบคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ การดำเนินโครงการ สามารถ“ซื้อ”ใจชาวนา และซื้อเวลาได้เพียง 2 ครึ่ง ก็เริ่มเกิดอาการสะดุด เนื่องมาจาก ไม่สามารถบริหารสต็อค และการขายเพื่อระบายข้าวออกไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดมากพอที่จะใช้”หมุน” ในการรับจำนำ ข้าวเปลือกจากชาวนาในปีการผลิต 2556/57 จนเกิดปัญหาค้างจ่ายค่าข้าวตามใบประทวนคิดเป็นเงินสูงถึงกว่า 1.3 แสนล้านบาท และทำให้ชาวนาทั่วประเทศต้องลุกฮือขึ้นมาประท้วง “ยาตราทัพ” เข้ามาในกลางพระนคร เพื่อทวงเงินค่าข้าวอยู่ในเวลานี้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้รัฐบาล ถึงเดินมาถึงทางตันอยู่ในเวลานี้ สามารถอธิบายได้จากตัวเลข ประมาณการ กระแสเงินสดของโครงการแยกตามปีผลิต ที่เริ่มส่ออาการมาตั้งแต่ปลายปีการผลิตข้าวนาปรัง 2555/56 แล้ว

ในปีแรก 2554/55 รัฐบาลมีกระแสเงินสดเข้า(รับ) ราว 6.04 แสนล้านบาท โดยมาจาก กรอบวงเงินเพื่อรับจำนำ 5 แสนล้านบาท และ ที่เหลือเป็นเงินคืนจากการระบายข้าว 5.7 หมื่นล้านบาท และงบประมาณอีก 4.6 หมื่นล้านบาท รวม 1.04 แสนล้านบาท ในขณะที่มีกระแสเงินสดออก(จ่าย) ราว 3.82 แสนล้านบาท แยกเป็นต้นทุนจากการรับจำนำข้าวเปลือก 21.47 ล้านตัน เป็นเงิน 3.36 แสนล้านบาท และต้นทุนในการดำเนินการอีกราว 4.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เหลือเงินยกยอดไปในปี 2555/56 จำนวน 2.21 แสนล้านบาท

เม็ดเงินที่เหลือยกยอดมาเพียง 2.21 แสนล้านบาท แทบจะไม่พอในการดำเนินโครงการในปีที่สองอยู่แล้ว แต่ก็มีการดึงเงินสำรองจาก ธกส. 6.8 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการระบายข้าวมาช่วยโปะอีก 7 หมื่นล้านบาท รวม 1.8 แสนล้านบาท จึงทำให้มีเม็ดเงินที่ใช้ในปี 2555/56 ราว 4.07 แสนล้านบาท

เม็ดเงิน 4.07 แสนล้านบาท สามารถประคองสถานการณ์ในปีที่แล้วมาได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจาก มีการรจ่ายเงินออกไป เป็นต้นทุนรับจำนำข้าวเปลือก 22.47 ล้านตัน เป็นเงิน 3.53 แสนล้านบาท ในขณะที่มีต้นทุนในการดำเนินการอีกราว 4.6 หมื่นล้าน บาท รวมเป็นเงินราว 4 แสนล้านบาท ทำให้เหลือเม็ดเงินมาใช้ในปี 2556/57 เพียง 7,135 ล้านบาท !!!

เพราะเหตุนี้วิกฤติจึงมาเยือนในปี 2556/57 เมื่อ มีเม็ดเงินเหลือจากปีที่แล้วเพียง 7 พันล้านบาท รวมกับ เงินงบประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท และ เงินจากการขายข้าวอีก 5.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินหน้าตักรวมกันเพียง 9.27 หมื่นล้านบาท !!!

ถึงแม้ในปีการผลิต 2556/57 จะมีการบีบวงเงินรับจำนำกับชาวนาลงเหลือไม่เกินครอบครัวละ 3.5 แสนบาท แต่ปรากฏว่า มีชาวนานำข้าวเปลือกมาจำนำสูงถึงราว 10.8 ล้านตัน คิดเป็นวงเงินราว 1.81 แสนล้านบาท ในขณะที่ยังมีต้นทุนในการดำเนินการ อีกราว 3.4 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 2.15 แสนล้านบาท !!!

ผลลัพธ์ก็คือ รัฐบาล ”ชอร์ต” เงินทันที 1.22 แสนล้านบาท !!! ต้องปล่อยให้ชาวนาถือใบประทวน เริ่มติดค้างค่าข้าว กับชาวนา จนทำให้ต้องพยายาม “ดิ้นรน”ทุกวิถีทาง เพื่อขยายกรอบวงเงินกู้ ทั้งแก้มติครม. รวมไปจนถึงการปรับวงเงินกู้ระหว่างปี ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

ชัดเจนไหมครับว่า ข้ออ้างเรื่อง การปิดล้อมกระทรวงการคลังของ มวลมหาประชาชน ไปจนถึง การยุบสภาฯ เป็นเพียงปลายเหตุ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว โครงการรับจำนำข้าว มันเดินมาถึงทางตันแล้วตั้งแต่เริ่มต้นของปีการผลิต 2556/57

คราวนี้เราลองมามองย้อนกลับไปถึง วงเงินกว่า 9.34 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลใช้ไปในการทำโครงการรับจำนำข้าวใน ช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมาว่า จริงหรือไม่? ที่โครงการดังกล่าวมีเจตจำนงที่ดีต่อชาวนา และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สามารถสร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวนา ถึงขนาดที่แม้จะต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา หรืออาจจะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ตามความต้องการของกลุ่มคนที่ นายกฯยิ่งลักษณ์อ้างว่าต้องการล้มล้างรัฐบาล ก็พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้รับความยุติธรรม (ฟังแล้วน้ำตาแทบไหล)

ลองติดตาม”แกะรอย”จากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ต่อไปนี้ดูนะครับ เม็ดเงินที่ใช้ไปไม่ต่ำกว่า 9.34 แสนล้านบาท มันถูกจัดสรรไปอย่างไรบ้าง

รัฐบาลมักจะอ้างอยู่เสมอว่า เม็ดเงินที่ใช้ไปร่วม 8.7 แสนล้านบาทนั้น เป็นเม็ดเงินที่จะถูกส่งตรงไปถึงชาวนาโดยตรง ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธครับ ถึงแม้ในทางปฎิบัติชาวนาอาจจะไม่ได้รับเงินค่าข้าวเปลือกเฉลี่ยตันละ 1.5 หมื่นบาทจริง เพราะมีการหัก ค่าความชื้นและสิ่งเจือปน แต่หากเราจะยกประโยชน์ให้จำเลยในส่วนนี้ ก็สามารถจะประมาณการได้ว่า ชาวนาได้รับผลประโยชน์ จากการขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เฉลี่ยประมาณตันละ 5,000 บาท โดยมีปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าสู่โครงการ ตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา จำนวน 54.74 ล้านตัน คิดเป็นส่วนต่างที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้นจากราคาตลาด ราว 2.73 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 29.29% ของวงเงินทั้งหมด

คำถามง่ายๆที่อยากให้พวกเราลองคิดกันคือ แทนที่จะต้องทำโครงการรับจำนำข้าว โดยต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลถึงกว่า 9.34 แสนล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลยังต้องมีภาระอีกมากมายมหาศาล ทำไมเราไม่จ่ายเงินส่วนต่างให้กับชาวนาไปถึงมือโดยตรง เสียเลย ซึ่งจะใช้เงินเพียง 2.73 แสนล้านบาท

เมื่อรัฐบาลไม่เลือกวิธีที่จะจ่ายส่วนต่างราคาให้กับชาวนา กลับมาเลือกวิธีรับจำนำ ภาระที่ตามมาก็คือ รัฐบาลมีภาระ สต็อคข้าวที่มากมายมหาศาล คิดเป็นปริมาณข้าวสารรวมกันสูงถึง 32.8 ล้านตัน ในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา

จากต้นทุนในการรับซื้อข้าวเปลือกที่สูงกว่าตลาด และยังมีภาระในการแปรสภาพข้าว ค่าบริหาร ค่าเช่าโกดัง และดอกเบี้ย มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่รัฐบาลจะหยุดตัวเลขขาดทุนเอาไว้ที่ 2.73 แสนล้านบาท เมื่อไม่สามารถขายข้าวออกไปในราคาต้นทุน

รัฐบาลไม่สามารถฝืนกลไกการตลาดได้ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลยังมีวิธีการระบายข้าวออกมาในลักษณะ ที่เอื้อ ประโยชน์ ให้กับ ผู้ส่งออกรายใหญ่ๆบางรายและเครือข่ายผู้ค้าข้าว ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเสียอีก จึงยิ่งทำให้ภาระการขาดทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น

หากเราคำนวณจากตัวเลขการระบายข้าวสารของรัฐบาลตลอดช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา จำนวนราว 14 ล้านตัน ได้เแม็ดเงินกลับมาเพียง 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่มีต้นทุนสูงถึงราว 4 แสนล้านบาท ขาดทุนสูงถึง 2.21 แสนล้านบาท

คราวนี้ ถ้าลองตั้งสมมุติฐานแบบ”โลกสวย”ว่าเกิด ปาฎิหารย์ รัฐบาลสามารถขายข้าวที่เหลืออยู่ในสต็อคราว 18 ล้านตัน ออกไปได้ทั้งหมดในชั่วพริบตา (มองโลกในแง่ดีสุดๆ คิดว่ามีข้าวในสต็อคจริง ไม่สนใจว่าคุณภาพเป็นอย่างไร) และสามารถขายได้ ในราคาเฉลี่ย เท่ากับที่มีการขายล่าสุดคือ เฉลี่ยประมาณตันละ 11.500 บาท ก็จะได้เงินกลับมาอีกราว 2.16 แสนล้านบาท

บทสรุป ณ บรรทัดนี้ คือ รัฐบาลอาจจะได้เงินจากการขายข้าวกลับมาราว 3.96 แสนล้านบาท หรือเพียงประมาณ 42% จากเม็ดเงินที่ใช้ไปทั้งหมด 9.34 แสนล้านบาท ต้องขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4.74-5.37 แสนล้านบาท !!!

สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้น หากเราลองคิดในมุมคณิคศาสตร์ เมื่อรวมตัวเลขการขายข้าว(แบบปาฎิหารย์ โลกสวย) ที่จะได้เงินราว 3.96 แสนล้านบาท บวกกับส่วนต่างที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้นจากเดิม ราว 2.73 แสนล้านบาท ก็คิดเป็นเงินรวมกันเพียงราว 6.69 แสนล้านบาท หรือราว 71.29% ของเม็ดเงินทั้งหมด 9.34 แสนล้านบาท

คำถามสำคัญคือ เม็ดเงินอีก 2.65 แสนล้านบาท !!! หรืออีก ราว 28% มันตกหล่นไปอยู่ตรงไหน และนี่คือคำตอบ ของคำถามว่า อะไรคือ ทุจริตเชิงนโยบาย? และ ทำไม? โครงการนี้จึงอาจจะกลายเป็น อภิมหากาพย์ของการโกงชาติครั้งยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ ที่กระทำกัน แบบบูรณาโกง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เม็ดเงินกว่า 2.65 แสนล้านบาท จะถูกจัดสรร และผันไปเข้ากระเป๋าให้กับใครต่อใครที่อยู่ในระหว่างทางตั้งแต่ต้นจนจบ โดยในขํ้นตอนการบริหารจัดการ ต้นทุนที่แท้จริงไม่น่าจะเกิน 6.4 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่า อาจจะบานปลายไปไม่ต่ำกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างราวหมื่นล้านบาท ถูกจัดสรรหรือตกหล่นระหว่างทางไปกับกระบวนการในระดับปฎิบัติ

อีก 10% หรือราว 9.34 หมื่นล้านบาท คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการที่โรงสีรับซื้อข้าวมาจากชาวนา และนำไปแปรสภาพเข้าโกดัง ที่อาจจะมีการซื้อสิทธิ์ สวมสิทธิ์ ไปจนถึงหมุนสต็อค ที่อยู่ในช่วงกลางน้ำ

ส่วน 10.25% สุดท้าย หรืออีกราว 9.5 หมื่นล้านบาท หรืออาจจะมากไปกว่านี้ในอนาคต หากมีการกดราคาขาย จนมีส่วนต่างกับราคาตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จะถูกผันไปเข้ากระเป๋าบรรดาผู้ส่งออก และเครือข่ายพ่อค้าผู้ใกล้ชิดรัฐบาล โดยอาศัยการฟันกำไรจากส่วนต่างราคาตลาดกับราคาที่คนกลุ่มนี้ไปประมูลซื้อข้าวในราคาถูกๆมาจากรัฐบาล

ทั้งหมดคือ คำตอบในเชิงคณิตศาสตร์ ที่สามารถ”แกะรอย” ได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งหลาย ที่สามารถรวบรวมมาได้ ณ ปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นเพียงตัวเลขประมาณการขั้นต่ำที่คาดว่า จะเกิดความสูญเสีย ณ เวลานี้

ถึงเวลาหรือยังครับ ที่จะ “ยุติ”โครงการที่สุดแสนอัปยศโครงการนี้เสียที เพราะปัญหาเรื่อง ไม่มีปัญญาจ่ายเงินค่าข้าว ให้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาทนั้น มันเป็นเพียง ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งลูกมหึมาที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำจนเห็นกัน”เต็มหูเต็มตา” แต่ไอ้ส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง ที่อยู่ใต้น้ำนั้น และกำลังค่อยๆพังทะลายอยู่ข้างล่างนั้น มันกำลังจะสร้างหายนะครั้งยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มันอาจยากที่จะเยียวยาได้จริงๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น