xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดปรมาณูเศรษฐกิจไทย : Bank Run

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

                                              เมื่อพี่ชายน้องสาวเสียพนันข้าว
                                              จึงสมคบปล้นเงินเด็กที่ออมสิน

ความวิบัติย่อยยับทางเศรษฐกิจจากโครงการซื้อเสียงชาวนาที่เรียกว่า “จำนำข้าว” ของระบอบทักษิณได้ลามมาถึงภาคการเงินไทยก่อให้เกิดผลกระทบดุจดังระเบิดปรมาณูจากกรณี Bank Run ที่ธนาคารออมสิน

เหตุเกิดจากการไม่ยอมรับผิดชอบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พยายามจะแก้ไขการไม่มีเงินไปใช้ค่าข้าวที่ชาวนามาขายให้ในฤดูกาลล่าสุดจำนวน 1.3 แสนล้านบาทโดยการเลี่ยงกฎหมายที่ไม่ให้อำนาจรัฐบาลไปก่อหนี้หรือภาระผูกพันในขณะที่เป็นรักษาการ สั่งให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยอ้างเพื่อการเสริมสภาพคล่อง

ผลเท่าที่ปรากฏในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็คือมีประชาชนผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงินจากธนาคารออมสินถึง 3 หมื่นล้านบาทจนเงินสดเกลี้ยงธนาคารเกือบทุกสาขาในเวลาอันสั้นชั่ววันเดียว ทำให้เกิดสภาวะ Bank Run จนผู้บริหารคือนายวรวิทย์จำเป็นต้องออกมาแถลงยกเลิกการให้กู้เงินดังกล่าวในตอนเย็นวันจันทร์ ขณะที่ในวันที่สองเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท

แน่นอนว่ารัฐบาลและผู้ที่สนับสนุนต่างดาหน้าออกมากล่าวโทษไปต่างๆ นานา แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจฝากเงินกับธนาคารออมสินหรือ ธ.ก.ส. ต่อไปหรือไม่ก็คือ Bank Run ที่ธนาคารออมสินเกิดจากสาเหตุอะไรและจะมีผลกระทบไปถึงสถาบันการเงินอื่นๆ หรือไม่

Bank Run เกิดจากผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจธนาคารที่รับฝากเงิน การถอนเงินฝากจึงเป็นวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงที่ง่ายของผู้ฝากเงิน ไม่มีอะไรผิดเป็นสิทธิอันชอบธรรมเพราะผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้จะฝากต่อหรือไม่จึงเป็นการตัดสินใจจากพฤติกรรมของธนาคาร ส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่มาทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็น 1 ใน 4 ธนาคารของรัฐ (อีก 3 แห่งคือ ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) ที่รับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปเอามาปล่อยกู้อีกทีหนึ่ง

แต่ที่ธนาคารทั้ง 4 แห่งนี้แตกต่างเป็นพิเศษไปจากธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปก็คือมิได้อยู่ในกำกับของธนาคารกลางคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เหมือนเช่น ธนาคารกรุงไทยที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือธนาคารพาณิชย์เอกชนอื่นๆ ธปท.ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบทำรายงานให้กับต้นสังกัดคือกระทรวงการคลังที่จะกำกับดูแลสั่งการต่อไป

ธนาคารรัฐทั้ง 4 นี้จึงมีโอกาสไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มีเพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินงาน เช่น การดำรงเงินสำรองตามกฎหมาย หรือการดำรงเงินกองทุนให้พอเพียงต่อสินทรัพย์เสี่ยง ธปท.ทำได้เพียงตรวจสอบแล้วรายงานไป แต่ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะสั่งการให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับที่ ธปท.กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์อื่นๆ หรือไม่ ธนาคารอิสลามที่เจ๊งอย่างย่อยยับไม่เป็นท่าเพราะไปปล่อยสินเชื่อตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในอดีต

ผลของการไม่มีการกำกับดูแลที่ดีจึงทำให้ธนาคารรัฐทั้ง 4 ไม่ถูกเข้มงวดที่จะต้องดำรงเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ธ.ก.ส.ก็ดี ธนาคารออมสินก็ดีรับฝากเงินมาเท่าใดก็สามารถปล่อยกู้ได้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกันเงินฝากส่วนหนึ่ง เช่น ร้อยละ 7 ของเงินฝากมาสำรองเอาไว้ตามกฎหมายซึ่งจะทำให้เหลือเงินไปปล่อยกู้ได้เพียง 93 บาทเท่านั้น

เงินสำรองตามกฎหมายทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องหาเงินกู้มาเสริมเมื่อเงินสำรองขาด เมื่อมีเงินฝากลดหรือมีเงินกู้เพิ่มและจะทำกลับกันเมื่อมีเงินเหลือเกินกว่าเงินสำรองที่ต้องใช้ ตลาดกู้เงินระยะสั้นมากๆ เช่น ชั่วข้ามคืนสำหรับธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสภาพคล่องของตนเองให้มีครบถ้วนตามกฎหมายก่อนที่ ธปท.จะมาตรวจสอบจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า Interbank Loan Market

การกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจึงเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อให้ตนเองมีเงินสำรองครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หาใช่การกู้ยืมเงิน 5,000 ล้านบาทจากธนาคารออมสินเพื่อมาให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาทให้ลูกค้าแต่อย่างใดไม่ เป็น Interbank Loan ก็จริงแต่มิใช่ Interbank Loan Market

การกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจึงเกิดกับธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในกำกับดูแลของ ธปท.เท่านั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายครบร้อยละ 7 ของเงินฝาก หากธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องพร้อมๆ กันการกู้ยืมเงินจาก ธปท.จึงอาจเป็นแหล่งสุดท้ายหรือ Lender of Last Resort ที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถกระทำได้

ธนาคารรัฐทั้ง 4 ที่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ ธปท.จึงไม่จำเป็นต้องบริหารสภาพคล่องเช่นธนาคารพาณิชย์และไม่สามารถขอกู้ยืมเงินจาก ธปท.ได้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

การออกมาอ้างของนายวรวิทย์ว่าเป็นการกู้ยืมระหว่างธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่องจึงเป็นการโกหก เช่นเดียวกับคณะกรรมการธนาคารที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ลำพังนายวรวิทย์คงไม่มีอำนาจจะอนุมัติเงินกู้ได้สูงถึง 5,000 ล้านบาทโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารและเป็นการกู้ที่น่าสงสัยว่าใช้อะไรมาค้ำประกัน หากไม่มีอนุมัติไปได้อย่างไร?

การไม่กำกับดูแลเพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานของกระทรวงการคลังจึงเป็นปฐมบทของหายนะจากความเสี่ยงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาแทรกแซงให้ธนาคารรัฐ เช่น ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับโครงการของรัฐบาลเช่นจำนำข้าวในปัจจุบันหรือโครงการกองทุนหมู่บ้านในอดีตซึ่งไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ได้แต่อย่างใด

เมื่อไม่ยั่งยืน อยู่ด้วยตัวโครงการเองไม่ได้เพราะขาดทุนตลอดเวลาจะเป็นโครงการช่วยเหลือคนอื่นๆ เช่น ชาวนาไปได้อย่างไร ในขณะที่การค้าข้าวไม่เข้าเงื่อนไขที่รัฐจะเข้าไปมีบทบาทดำเนินการแข่งกับเอกชนแต่อย่างใด จำนำข้าวจึงเป็นการเมืองล้วนๆ เพื่อซื้อเสียงหาใช่เพื่อช่วยชาวนาแต่อย่างใดไม่

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักของความไม่น่าไว้วางใจอันเป็นต้นเหตุของ Bank Run ที่ธนาคารออมสิน หากยังฝืนกระทำต่อไปก็คงจะลุกลามไปถึงธนาคารรัฐอื่นๆ เช่น ธ.ก.ส.อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ในส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้นหากยังคงฝืนให้กู้ตามนโยบายของรัฐโดยปราศจากการบริหารจัดการที่ดี เช่นให้กู้กับโครงการจำนำข้าวทางอ้อมผ่านโรงสีเป็นกรณีพิเศษ ผลที่ตามมาก็คือการขาดความไว้วางใจจากผู้ฝากเงินเช่นกัน

อย่าลืมว่าธุรกิจธนาคารนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการบริหารความไว้วางของผู้ฝากเงินที่เป็นแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะนำไปปล่อยกู้ หนี้สินดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกถอนออกโดยผู้ฝากเงินได้ตลอดเวลาขณะที่ด้านทรัพย์สินหรือเงินให้กู้นั้นไม่สามารถเรียกคืนได้ตามใจปรารถนา แม้จะมี Interbank Loan Market และ ธปท.เป็น Lender of Last Resort แต่ก็ไม่สามารถหยุดการเกิด Bank Run ได้หากประชาชนคิดเห็นเหมือนกันว่าธนาคารไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะฝากเงินต่อไป ธนาคารรัฐทั้ง 4 แห่งที่รับฝากเงินจากประชาชนก็เป็นเช่นเดียวกัน

ระบอบทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์นอกจากจะทำลายเศรษฐกิจประเทศด้วยโครงการจำนำข้าวแล้วยังทิ้งระเบิดปรมาณูทำให้เกิด Bank Run ขึ้นมาอีก เพียงเพื่อหวังจะเอาชนะทางการเมืองให้ได้เสียงเพื่อเข้ามาช่วยพี่ชาย

ซื้อเสียงด้วยจำนำข้าว “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ วิบัติเกิด” ช่างเป็นโครงการที่อัปยศอดสูเสียนี่กระไร
กำลังโหลดความคิดเห็น