xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุกสำนักปลัดกห. ดักพบปูทวงค่าข้าว จี้ลาออก-กปปส.หาเงินเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวนาบุกสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจี้ "ยิ่งลักษณ์" จ่ายค่าข้าว ทำไม่ได้ให้ลาออก ตจว.เตรียมบุกกรุงสมทบ ด้าน "สมชัย" โพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งรัฐบาล หากจะหารือเรื่องใช้งบกลาง 1,200 ล้าน ไปจ่ายดอกเบี้ยจำนำใบประทวนให้แก่โรงสี ต้องออกเป็นมติ ครม.ก่อน นายกสมาคมโรงสีปัดรับจำนำใบ ประทวน หวั่นผิดกฎหมาย "ธีระชัย" ค้านคลังขายพันธบัตรหาเงินค่าข้าวไปจ่ายชาวนา ด้าน กปปส.เผยหาเงินช่วยชาวนาได้กว่า 9 ล้านแล้ว เตรียมเดินย่านสุขุมวิท หา เพิ่ม "สุริยะใส" อัดรัฐบาลเลิกบิดเบือน โยงการเมือง จับชาวนาเป็นตัวประกัน

วานนี้ (9 ก.พ.) ที่กระทรวงพาณิชย์ ยังคงมีการชุมนุมของกลุ่มชาวนา ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ โดยการชุมนุมค่อนข้างบางตา แต่ก็มีการนัดหมายเพื่อ ให้มาร่วมชุมนุมกันในวันนี้ (10 ก.พ.) เพื่อกดดันให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา ส่วนบรรยากาศบนเวที ก็มีการขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไข ปัญหาให้กับชาวนาได้

นายระวี รุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนภาคตะวันตก กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวนาเดินทางมาน้อย เพราะชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีเงินสำหรับการเดินทาง เพราะ รัฐบาลไม่จ่ายค่าข้าว แต่ทางแกนนำได้พยายามช่วยเหลือ และสนับสนุนการเดินทาง เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่ามีชาวนาที่เดือดร้อนจริงๆ โดยจะมีชาวนาจากภาค ตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก เดินทางมาสมทบมากขึ้น ในเช้าวันที่ 10 ก.พ. และจะปักหลักชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีคำตอบเรื่องเงินจำนำ ข้าวให้กับชาวนา

ทั้งนี้ เวลา 09.00 น.วันนี้ กลุ่มชาวนาจะเคลื่อนขบวนจากกระทรวงพาณิชย์ ไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีที่รัฐบาลฉ้อโกงชาวนา จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปต่อที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษษการนายกรัฐมนตรี นั่งทมำงานอยู่ เพื่อเรียกร้องให้ นายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ออกมารับผิดชอบกับเงินที่ยังค้างชำระชาวนา หากทำไม่ได้ นายกรัฐมนตรี ก็ควรลาออกเพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่มาบริหารจัดการต่อไป

**ชาวนาพิษณุโลกขึ้นรถไฟเข้ากรุง

ส่วนที่ จ.พิษณุโลก ที่สถานีรถไฟพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก กลุ่มชาวนาจาก ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก จำนวน 20 คน โดยการประสาน งานของนายเทพทัฬห์ เตียวตระกูล แกนนำ กปปส. พิษณุโลก ได้เดินทางด้วยรถไฟฟรี ขบวน 202 ต้นทางพิษณุโลก-ปลายทางกรุงเทพ เพื่อเตรียมเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส.ส่วนกลาง และกลุ่มชาวนาจากทั่วประเทศ หลังแกนนำชาวนา นัดหมายเคลื่อนไหว ไปที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในวันจันทร์ ที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ โดยชาวนาที่เดินทางไปในครั้งนี้ มีการจัดเตรียมสัมภาระสำหรับพักค้างแรมกันด้วย

นายเทพทัฬห์ เตียวตระกูล แกนนำ กปปส.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตลอดทั้งวันนี้ จะมีชาวนาจาก จ.พิษณุโลกทยอย เดินทางเข้า กรุงเทพเพื่อไปสมทบการ ชุมนุมเคลื่อนไหวกับชาวนาทั่วประเทศ เพื่อทวงเงินรับจำนำข้าวจากรัฐบาล คาดว่าเฉพาะในจังหวัดพิษณุโลก จะมีชาวนาไปสมทบไม่ต่ำกว่า 500 ราย

**ชาวนากาญจน์เข้ากรุงบุกพาณิชย์

ขณะที่ชาวนาในพื้นที่ ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี นำโดยนายสมบุญ ชูใจ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.หนองขาว ได้นำชาวนาประมาณ 70 คนขึ้นรถบัส เหมาจ้าง 2 คัน เดินทางไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสมทบกับกลุ่มชาวนา ต.หนองขาว ที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้ โดยทุกคนได้จัดเตรียมสัมภาระ เช่น เสื้อผ้า อาหาร และน้ำดื่ม เพื่อดำรงชีพปักหลักที่กระทรวงพาณิชย์ ไปด้วยเป็นจำนวนมาก

นายราเมต ประพันธ์ ชาวนา ต.หนองขาว ที่ร่วมเดินทางไปกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนทำนา 20 ไร่ ฤดูกาลผลิต 2556/57 ตนกู้เงินจากสหกรณ์เพื่อนำมา ลงทุนปลูกข้าว 50,000 บาท แต่หลังจากนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลแล้วปัจจุบันก็ยังไม้ได้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน

นางปรารถนา ปานธรรม ชาวนา ต.หนองขาว เปิดเผยว่า ตนเช่านาเขาทำจำนวน 25 ไร่ ผลผลิตที่ได้มาจะต้องแบ่งจ่ายค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่นา 1 ส่วน สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำนาคนเช่ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ปัจจุบันตนเป็นหนี้สหกรณ์ประมาณ 30,000 บาท เป็นหนี้ค่ายปุ๋ย และค่ายากว่า 10,000 บาท เป็น หนี้ค่ารถเกี่ยวข้าวอีกกว่า 10,000 บาท และเป็นหนี้อื่นๆ อีก รวมเบ็ดเสร็จเป็นหนี้อยู่ประมาณ 100,000 บาทในเมื่อรัฐบาลไม่มีเงินมาจ่ายให้ชาวนาทำให้ตนและครอบ ครัวเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

**ชาวนาอ่างทองน้ำตาตกหนี้ท่วมหัว

นางสมพร กลิ่นจันทร์ ชาวนา อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 58 หมู่ 5 ต.สายทอง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ชีวิตความเป็นอยู่แสนลำบากมาก หลังจำนำ ข้าวแล้วไม่ได้เงินนานกว่า 5 เดือน ต้องกู้หนี้นอกระบบในอัตราร้อยละ 10 มาใช้จ่ายในครอบครัว ส่งลูกสาววัย 14 ปี เรียนหนังสือ ตนเป็นหม้ายสามีเสียชีวิต เป็นหนี้ ธ.ก.ส. เกือบ 3 แสนบาท เงินที่จะได้จากจำนำข้าว 88,101 บาท ยังไม่ได้รับ ส่วนเงินกู้นอกระบบ 40,000 บาท และต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 4,000 บาท ขณะนี้ไม่ได้ จ่ายเจ้าหนี้นอกระบบนานกว่า 4 เดือนแล้ว ด้านเงินใช้จ่ายในครอบครัวไม่มีเหลือ ต้องขายรถไถนา 1 คัน

"ในขณะนี้ต้องหาอาชีพรับจ้างเพื่อประทังชีวิต ทำทุกอย่างที่มีคนจ้าง และอยากวิงวอนขอความช่วยเหลือเงินค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลยังไม่ได้จ่าย อยากนำมา ใช้จ่ายหนี้นอกระบบและเหลือใช้ทำมาหากิน"

** คาด"ปู"หายหัวไม่มาสู้หน้าชาวนา

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มชาวนาจากภาคตะวันตก จะเดินทางมาชุมนุมด้านหน้าสำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันนี้(10 ก.พ.) ว่า ในเบื้องต้นชาวนาจะเดินทางมาชุมนุมเพื่อแสดงสัญลักษณ์เท่านั้น และจะไม่ปักหลักชุมนุมที่สำนักงานปลัดฯ เนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย โดยหลังจากแสดงสัญลักษณ์แล้ว จะเดินทางกลับไปปักหลักที่กระทรวงพาณิชย์เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายกังวลว่ากลุ่มชาวนาจะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ที่เวทีแจ้งวัฒนะ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. นำโดยหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้ปราศรัยเชิญชวนชาวนาให้มาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลอยู่ตลอด จึงอาจมีชาวนาบางส่วนที่เดินทางไปร่วมชุมนุม
พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า หากวันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เดินทางเข้าสำนักงานปลัดฯ ก็จะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าว ออกมารับหนังสือและพูดคุยกับชาวนา

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ยังคงใช้การสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารจำนวนเท่าเดิม ซึ่งตนเชื่อว่าเพียงพอ เพราะชาวนาเป็นกลุ่ม คนที่เดือดร้อนไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยมาตรการความปลอดภัยจะใช้กำลังทหาร 3 กองร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจล 7 กองร้อย พร้อมชุดเคลื่อนที่ เร็ว วางกำลังรอบสำนักงานปลัดฯ และตึกสูง เพื่อเฝ้าระวังมือที่สามที่เข้ามาสร้างสถานการณ์ จนก่อให้เกิดความรุนแรง

**'นิวัฒน์ธำรง' พร้อมคุยชาวนาด้วยตัวเอง

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มชาวนาจะเดินทางจากกระทรวงพาณิชย์ มาที่สำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม เเจ้งวัฒนะ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับกลุ่มชาวนาเพื่อพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนพร้อมจะไปพบ และพูดคุยด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นที่ กลุ่มชาวนาจะต้องเดินทางมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมส่งหนังสือถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามถึงการใช้งบกลางจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนานั้น เรื่องนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อได้คำตอบจาก กกต.ก็จะนำเข้า ครม.พิจารณา และที่ต้องสอบถามกกต. เพราะการจะใช้งบประมาณในระหว่างรักษาการ มีข้อกฎหมาย กำหนดไว้

**'สมชัย'ชี้จะใช้งบกลางต้องเป็นมติครม.ก่อน


เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า " ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ จะทำเรื่องขอใช้งบกลาง 1,200 ล้านบาท เพื่อเป็นดอกเบี้ยจำนำใบประทวนให้แก่โรงสี มาถึงกกต.ในวันจันทร์ที่ 10 ก.พ.นี้ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร และเกิด ประโยชน์แก่ชาวนา ด้วยความรวดเร็วที่สุด จึงขอแจ้งแก่ผู้เกี่ยวข้องให้รีบพิจารณาดังนี้
1. เป็นการขอใช้งบกลางของรัฐบาลรักษาการ ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินที่ต้องขออนุมัติจากกกต.ก่อน ตามมาตรา 181 (2) ของรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ หากใช่ ขอให้ ครม.มีมติมาก่อน กกต.จึงจะพิจารณาได้ หากกระทรวงส่งตรงมาที่กกต. ก็ต้องถูกตีกลับไป เสียเวลาเปล่าๆ เพราะเคยมีหลายเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ หน่วย งานเสนอเรื่องตรงมาที่ กกต. แต่พอซักไซ้ไล่เรียง ปรากฏว่า ยังไม่ผ่านครม. เลยตีกลับไป แม้ว่าเรื่องนี้จะมีความสำคัญเร่งด่วน ดังนั้นขอให้ทำให้ถูกขั้นตอน จะได้ไม่ เสียเวลา

2. หรือเป็นการขอปรึกษาหารือก่อนจะนำไปเป็นมติ ครม. ในกรณีนี้ กกต.ก็จะมีคำตอบ ตามแนวกฎหมาย คือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่า เป็นความจำ เป็นเร่งด่วนหรือไม่ มีผลผูกพันต่อครม.ชุดต่อไปหรือไม่ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่ และให้รัฐบาลไปพิจารณาเอง ก่อนมีมติ ครม.มาถึง กกต. ซึ่งกกต. คงไม่สามารถรับปากในขั้นของการปรึกษาหารือได้ ว่าจะให้ได้หรือไม่ จนกว่าจะมีรายละเอียดของมติครม.ของจริงที่ส่งมาถึง กกต.

เรื่องทั้งหมดนี้เป็นแนวปฏิบัติในการลงมติของกกต. ที่ทำมาตลอดในช่วง เกือบ 2 เดือน ที่ทำหน้าที่นี้ครับ จึงเรียนมาเพื่อให้รัฐบาลและประชาชนทราบ "

**โรงสีปัดรับจำนำใบประทวน

นายมนัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสียังไม่ตัดสินใจในการที่จะปล่อยกู้ให้กับชาวนา โดยใช้ใบ ประทวนค้ำประกัน ตามแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ร้องขอ โดยจะรอความชัดเจนในหลักเกณฑ์ต่างๆ ก่อน รวมถึงจะต้องพิจารณาว่า มีข้อขัดข้องกับเรื่องของ กฎหมายหรือไม่ หลังจากมีหลายองค์กรออกมาเตือนก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยืนยันว่า สมาคมโรงสีฯ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวนา แต่ขอให้เป็นการช่วยเหลือในแนวทางที่ได้รับ ความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และไม่ขัดกับกฎหมาย หรือข้อตกลงต่างๆ

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิติมศักดิ์ นายกสมาคมโรงสีไทย กล่าวว่า การปล่อยกู้ตามแนวทางของรัฐบาลดังกล่าว มีความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพราะ โรงสีไม่ได้ รับใบอนุญาตประกอบธุรกรรมทางการเงิน หากมีการฟ้องร้อง จะมีความผิดทางกฎหมาย ที่สำคัญเชื่อว่าโรงสีที่มีอยู่ประมาณ 700-800 แห่ง ปัจจุบันมี เป็นสภาพคล่องของตัวเองน้อยมาก คงไม่สามารถให้กู้กับชาวนาได้อย่างครบถ้วน
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเชิญหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่มีเงินออมจำนวนมากมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล เพื่อนำเงินไปจ่ายค่า จำนำข้าว เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. และสำนักงานสลากกินแบ่งนั้น พล.ต.ต. อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าว ยืนยันว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงการคลัง และปกติขั้นตอนการนำเงินออกไปลงทุนของสำนักงาน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ อำนาจของฝ่ายจัดการ ขณะที่สำนักงานสลากฯ ได้ฝากอยู่ในบัญชีของธนาคารรัฐเป็นส่วนใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. ยังไม่ครบอายุกำหนด จึงไม่สามารถถอน ออกมาได้ และยังมีสภาพคล่องที่เหลือไม่มากนัก สำหรับการซื้อพันธบัตรของรัฐบาล

**"ธีระชัย"ค้านคลังขายพันธบัตรหาเงินค่าข้าว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก คัดค้านกรณีที่กระทรวงการคลัง จะออกพันธบัตรขายให้หน่วยงานรัฐ 3 แห่ง คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานประกันสังคมที่บริหารกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการ รับจำนำข้าว ในลักษณะไม่โปร่งใส โดยเห็นว่า 3 องค์กรดังกล่าว ต่างมีคณะกรรมการ หรือ บอร์ดบริหาร รัฐมนตรีคลังไม่สามารถสั่งการได้ เหมือนเช่นข้าราชการ ในกระทรวง และหากข้าราชการกระทรวงการคลัง ยินยอมเอาตัวเองเข้าไปผูกพัน อาจเข้าข่ายผู้สนับสนุนรัฐมนตรีคลังในการพยายามนำทรัพยากรประเทศไทยไปใช้ เพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้งหรือเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4)

** กปปส.เดินระดมทุนช่วยชาวนา

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. แถลงยืนยันว่า จะไม่ใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดย 1. ขอให้ยกเลิกการข่มขู่ชาวนาที่ต้องการออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องเงินจำนำข้าว 2. ให้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี เลิกกล่าวหาว่าชาวนาที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่ชาวนาที่แท้จริง 3. ขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และเลิกโยนความผิดให้หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กปปส. ธนาคารของรัฐ

นอกจากนี้ นายเอกนัฏ ยังเปิดเผยว่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กปปส. ได้เดินรับบริจาคเพื่อรวบรวมให้ชาวนาใช้ต่อสู้กับรัฐบาล ได้เงินจำนวน 9,209,440 บาท โดยแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. แบ่งเป็นทุนสำหรับชาวนาใช้ในการต่อสู้คดีความ 2. แบ่งเป็นกองทุนสำหรับค่าเดินทาง ค่าอาหาร ของชาวนาที่ต้องการออกมา เคลื่อนไหว โดยจะมีการตั้งกรรมการในการบริหารจัดการ พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้(10ก.พ.) จะมีการเดินขบวนระดมทุนอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นโซนถนนสุขุมวิท แต่อย่าง ไรก็ตาม อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

** รัฐบาลเลิกเอาชาวนาเป็นตัวประกัน

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และกรรมการ กปปส. กล่าวว่า วิกฤติจำนำข้าวที่รัฐบาลรักษาการยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ชาวนากว่า 1.25 แสนล้านบาทนั้น กำลังจะกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะความดื้อด้านของรัฐบาล โดยเฉพาะการดื้อดึงอยู่ในตำแหน่งนายกฯรักษาการ นานไปเท่าไหร่ ยิ่งทำ ให้การเยียวยาช่วยเหลือชาวนาตีบตัน และยุ่งยากมากขึ้นอีก เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจกู้เงินใดๆ และจะไม่มีสถาบันการเงินใดๆ ปล่อยกู้เพราะเต็มไปด้วยความ เสี่ยง

การที่รัฐบาลพยายามกดดัน กกต. ให้เร่งจัดการเลือกตั้งเพื่อเปิดสภาฯ เลือกนายกฯ รัฐบาลจะได้มีอำนาจเต็มในการกู้ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะเลือก ตั้งอาจเป็นโมฆะและมีความเสี่ยงจนอาจยืดเยื้อไปอีกมากกว่า 5-6 เดือน ยิ่งเป็นการฆ่าซ้ำชาวนา

พรรคเพื่อไทยต้องหยุดเอาชาวนาเป็นตัวประกัน เลิกหลอกลวง และบิดเบือนว่าต้องเร่งเลือกตั้งแล้วจะได้เงิน หรือกล่าวหาว่า เพราะม็อบ กปปส.ขัดขวาง ธนาคารจนไม่กล้าปล่อยกู้ ทั้งที่รู้กันอยู่ว่ารัฐบาลถังแตกมาก่อนที่ กปปส. จะชุมนุมด้วยซ้ำ

วันนี้ความจริงถูกเปิดโปงแล้วว่า โครงการจำนำข้าว เป็นโครงการที่เอาชาวนาบังหน้า แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยการทุจริต และในวันที่ถังแตก ก็ป้ายสีโทษ กปปส. และในวันที่อยากอยู่ในอำนาจต่อ ก็เอาชาวนามาเป็นตัวประกัน

โศกนาฏกรรมของชาวนาไทยครั้งนี้ เกิดจากทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ และเพื่อไทยพยายามจะกลบเกลื่อน ถือว่าอำมหิตต่อคนจนมาก ขนาดชาวนาถือใบ ประทวนมาทวงหนี้ ยังกล่าวหาว่าเป็นชาวนาปลอม

วิกฤติชาวนาครั้งนี้ทำให้เราเห็นหายนะจากนโยบายประชานิยมและเป็นโอกาสที่สังคมจะช่วยกันคิดแก้ปัญหาชาวนาและความยากจนอย่างยั่งยืนเสียที

** หยุดโยงปัญหาชาวนาเป็นเรื่องการเมือง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีชาวนาชุมนุมประท้วง ทวงเงินจำนำข้าว ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ และเตรียมไปเรียก ร้องที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งทำงานอยู่ว่า รัฐบาลรับทราบดีถึงปัญหาของชาวนา แต่กลับบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ความเดือดร้อนของชาวนา ซึ่งเป็นความผิดพลาดซ้ำสองจากที่เริ่มโครงการจำนำข้าว เท่ากับกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด สุดท้ายไม่สามารถแก้ ปัญหาได้ เพราะชาวนาไม่ได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่มาขอในสิ่งที่เขาควรจะได้ตามสิทธิของชาวนา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดมองการชุมนุมของชาวนาว่า เป็น เรื่องการเมือง เพราะรัฐบาลเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับชาวนา ทำให้ชาวนาต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองเท่านั้น แต่ถ้่ายังมองปัญหาไม่ถูก ก็จะทำให้มีอคติแก้ ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาไม่ได้ เพราะมุ่งแต่จะแก้ปัญหาทางการเมืองให้กับตัวเองมากกว่า

การที่ชาวนาออกมาประท้วงนั้น ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่สะท้อนความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าว ที่ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มโครงการ มีการสวมสิทธิ ทุจริต โกงความชื้น ขั้นตอนเก็บรักษา และระบายข้าว ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถนำเรื่องยุบสภามาใช้เป็นเหตุผลในการแก้ตัวได้ เพราะโครงการนี้ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลมีเวลาถึง 2 เดือนก่อนยุบสภา ในการหาเงินมาจ่ายชาวนา ทั้งเงินกู้และการระบายข้าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า นายกฯโทษรัฐธรรมนูญ โทษคนอื่น ทั้งที่ ควรจะกล่าวโทษตัวเองที่ปล่อยให้โครงการผิดพลาดมาโดยตลอด

ทั้งนี้ การหาเงินให้ชาวนามี 2 วิธีคือ

1. เร่งระบายข้าวขายในตลาด แต่มีปัญหาเพราะมีการทุจริตในขั้นตอนนี้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเงินหมุนเวียนจ่ายชาวนา อีกทั้งข้าวในสต๊อก ก็ไม่ครบตาม จำนวนที่มีการแสดงไว้ในบัญชี มีการเล่นแร่แปรธาตุ เอาข้าวไปขายแล้วบางส่วน และยังมีข้าวด้อยคุณภาพปนอยู่ด้วย จนทำให้ไม่มีคนสนใจที่จะประมูล เนื่องจากไม่ มั่นใจในคุณภาพข้าว จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้

2. การกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่วิธีการนี้ต้องทำตั้งแต่เดือนตุลาคมที่มีมติครม. ไม่ใช่ทำในเวลาที่ยุบสภา และมีข้อจำกัดทางกฎหมายว่ารัฐบาลไม่ สามารถก่อหนี้ผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ได้ สถาบันการเงินจึงไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะเกรงว่าจะต้องรับผิดร่วมกับรัฐบาล นอกจากนี้สถาบันการเงินยังไม่ต้องการสร้าง ความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ขององค์กร ในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพราะโครงการนี้ทุจริตอย่างมโหฬาร สถาบันการเงินจึงไม่ร่วมมือสนับสนุนโครงการที่ มีการทุจริต

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการที่สุด คือ ต้องแสดงความรับผิดชอบออกมายอมรับความจริงกล่าวโทษตนเองให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แสวงหาความร่วม มือจากทุกภาคส่วน ในการช่วยชาวนา แทนที่จะไม่ยอมรับความจริงโทษคนอื่น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องออกมาตรการที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยเหลือชาวนาไม่ใช่ออกมาตรการที่ไม่ สามารถปฏิบัติได้จริง โยนบาปให้ กกต. ตบตาชาวนา เช่น กรณีนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ออกมาระบุว่า จะให้ กกต.พิจารณาว่า สามารถให้ชาวนานำใบ ประทวนไปจำนำกับโรงสี แล้วรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยนั้นไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งนายยรรยง ทราบอยู่แล้ว แต่ต้องการทำเพื่อใช้ เป็นข้ออ้างในการกล่าวโทษคนอื่น

ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความจริงใจต่อชาวนา ด้วยการเร่งจ่ายเงินชาวนาในสิ่งที่ทำได้จริงตามกฎหมาย และขอให้ดีเอสไอ นำคดีทุจริตจำนำข้าว เป็นคดีพิเศษ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ที่ไม่กล้ารับเป็นคดีพิเศษ เพราะเกรงว่าผู้ต้งหาจะชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว .พาณิชย์ ใช่หรือไม่

***กปปส.จัดกิจกรรมบอกรักประเทศไทย

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ประกาศว่า วันที่ 14-16 ก.พ. กปปส.จะจัดกิจกรรมบอกรักประเทศไทย โดยเฉพาะในวันที่ 14 ก.พ. เวทีประทุมวัน จะจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลาเที่ยงวันต่อเนื่องไปจนถึงเที่ยงคืน พร้อมกันนี้ ได้ประกาศนัดหมายสำหรับผู้ชุมนุมที่ต้องการเดินขบวนกับ นายสุเทพ ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) ขอให้รวมตัวกันในเวลา 08.00 น. บริเวณหน้าเวที เพื่อเคลื่อนขบวนไปสมทบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เวทีอโศก

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร ที่ 11 ก.พ.2557 จะนำมวลชนเคลื่อนขบวนอีกครั้ง ในส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบในวันนี้
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่เวทีสีลม แยกศาลาแดง วานนี้ (9 ก.พ.) ยังคงคึกคักโดยมวลชนทยอยเข้าพื้นที่ชุมนุมต่อเนื่อง ขณะที่ นายอิสสระ สมชัย แกนนำ กปปส. แถลงข่าวว่า ในช่วงเย็น จะมีกลุ่มชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มาขึ้นเวทีสะท้อนปัญหา นำโดย นางนวลจันทร์ ญาติบรรทุง ชาว อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร และ วันนี้ เวทีสีลม จะนำมวลชนร่วมเดินรณรงค์ร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เพื่อหาเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวนาด้วย

ทั้งนี้ ตนมีความต้องการเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ หลวงปู่พุทธะอิสระ หลังจากที่มีเหตุระเบิด M 79 เมื่อคืนวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่เวทีแจ้งวัฒนะ เพราะมีความเป็นห่วงเป็นอย่างมาก และส่วนตัวมองว่า เหตุระเบิดดังกล่าว เป็นการมุ่งร้ายเอาชีวิต ไม่ใช่การข่มขู่ แต่ทั้งนี้ ต้องประสานกับหลวงปู่พุทธะอิสระ ก่อน ว่าจะให้ไปหรือไม่ เพราะการต่อสู้ของกลุ่มหลวงปู่ ยังเป็นการต่อสู้อย่างสันโดษ แม้แกนนำกปปส. ที่สีลม จะเคยร้องขอให้ยุบเวทีมารวมกันที่สีลม แต่หลวงปู่ ไม่ได้ตอบตกลง

**ให้กำลังใจ'สาธิต'หน้าสถานทูตอินเดีย

วานนี้ (9 ก.พ.) กลุ่มประชาคมชาวสีลม - เพชรบุรีตัดใหม่ - เยาวราช นำโดย นางชุมศิลป์ โสตถิปรีดาวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่ม ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อให้กำลังใจนายสาธิต เซกัล นายกสมาคมนักธุรกิจอินเดีย-ไทย จากกรณีที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ประกาศคำสั่งเนรเทศ นายสาธิต ให้ออกจากประเทศ จากการที่นายสาทิต เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง และได้แสดงความคิดเห็นต่อต้านผู้ที่จาบจ้วงสถาบันฯ และวิจารณ์การทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองไทย อย่างตรงไปตรงมา
นางชุมศิลป์ กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นการกลั่นแกล้งประชาชนโดยใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งยังมีการนำกำลังตำรวจไปที่บ้านพัก และถ่ายภาพทั้งที่ยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการ จึงถือเป็นการข่มขู่คุกคามอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ นายสาธิต เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการโต้แย้งและอยู่ในแผ่นดินไทยตามเดิมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจกรรมการยื่นหนังสือเสร็จสิ้น ทางกลุ่มได้เดินทางไปทำกิจกรรมรณรงค์ให้กำลังใจนายสาธิต ต่อที่ย่านเยาวราช โดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ

ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล พร้อมด้วยตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ รวม 30 นาย ดูแลพื้นที่โดยรอบ พร้อมอำนวยความสะดวกทางด้านการจราจร ด้านหน้าสถานทูตภายในซอยสุขุมวิท 23 ด้วย นอกจากนี้ มีรายงานว่าตำรวจสันติบาล ที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ด้านหน้าสถานทูต ยืนยันว่าเอกอัครราชทูตรวมทั้ง นายสาธิต ไม่ได้อยู่ภายในสถานทูต แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาธิต เซกัล ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมที่แยกศาลาแดง โดยมีผู้ชุมนุมที่พบเห็นต่างเข้ามาให้กำลังใจจำนวนมาก โดยนายสาธิตให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้ไม่ได้มีการทำเรื่องขอลี้ภัยไปยังสถานทูตอินเดีย ตามที่เป็นข่าวในโซเชียลมีเดีย แต่ยอมรับว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามจริง มีตำรวจเข้าไปถ่ายรูปที่บ้านพักในช่วงที่มีข่าวเรื่องเนรเทศ แต่ก็เข้าใจการทำงานของตำรวจ ซึ่งตนก็ไม่จำเป็นต้องร้องขอให้ใครเข้ามาช่วยคุ้มครองเป็นพิเศษ

นายสาธิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ยุติบทบาททางการเมืองชัดเจนแล้ว และไม่ขึ้นเวทีปราศรัยที่ใดอีก แต่จะยังทำกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์ต่อไป ซึ่งตนขอบคุณผุ้ชุมนุมที่ให้กำลังใจในครั้งนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า การเดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมในวันนี้ นายสาธิตไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยแต่อย่างใด

พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการเนรเทศ นายสาธิต เซกัล แกนนำประชาคมนักธุรกิจสีลม ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทย ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน หลังผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ซึ่งหากคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นให้ยกเลิกถิ่นที่อยู่จึงจะยื่นเรื่องผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ลงนาม เพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

**"ธาริต"คุย 58 ท่อน้ำเลี้ยงหลักฐานชัด

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดี ดีเอสไอ ตรวจสอบกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อในวันนี้ (10 ก.พ.) โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบรายชื่อ และพฤติกรรมอย่างละเอียด เบื้องต้นมี 58 รายชื่อจากทั้งหมด 139 รายชื่อ ค่อนข้างชัดเจนว่าจะต้องถูกเรียกเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมาจากการติดตามข้อมูลของดีเอสไอ 30 ราย ซึ่งปรากฏการข่าวว่า เป็นผู้สนับสนุนเงินสด ตั้งแต่หลักล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบธุรกรรมท่อน้ำเลี้ยงจะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงเริ่มการชุมนุม ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากมองว่าการบริจาคเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวทำให้เกิดการชุมนุมต่อเนื่องจนต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายธาริต กล่าวว่า ก่อนออกหมายเรียกกลุ่มดังกล่าวเข้ามาให้ปากคำ ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) จะต้องออกคำสั่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นคณะทำงานตรวจสอบธุรกรรม ประกอบด้วย พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ กรมสรรพากร และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ขณะนี้ ปปง.ยังไม่ได้รับข้อมูล หลักฐานที่เกี่ยวข้องการตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มที่ให้การสนับสนุน กปปส.อย่างเป็นทางการ คาดว่าข้อมูลน่าจะอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของ ศรส. ซึ่งในกระบวนการตรวจสอบไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงิน แต่ใช้อำนาจของศรส. สืบเนื่องจากการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยการประกาศธุรกรรม จะทำได้ต่อเมื่อ ศรส.ประกาศตั้งคณะพนักงานขึ้นตรวจสอบธุรกรรม ส่วนจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงเริ่มการชุมนุม หรือจะเริ่มตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขึ้นอยู่กับคำสั่งรายละเอียดในคำสั่ง ศรส.

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) กล่าวถึงกรณี กปปส.ประกาศพร้อมชุมนุมยาวถึงช่วงสงกรานต์ว่า เป็นวิธีทางจิตวิทยา เพื่อให้กำลังใจกับมวลชน รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า การเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นั้นผิดกฎหมาย และขณะนี้ฝ่ายท่อน้ำเลี้ยงเอง ก็จะเริ่มชะงัก เพราะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินการสกัดกั้น รวมถึงท่อน้ำเลี่ยงที่เป็นกลุ่มทุนเอง ก็ได้รับผลกระทบจากผลประกอบการ เพราะการชุมนุมในพื้นที่เศรษฐกิจที่กลับมากระทบตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการสกัดท่อน้ำเลี้ยงของ กปปส.ได้ก่อนช่วงสงกรานต์ ในวันที่ 11 ก.พ. ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้มีหนังสือเรียกผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานี และโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เข้าสอบถามกรณีให้ที่พักกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส.นั้น จะได้ผล เพราะหลังจากการเข้าชี้แจง จะทำให้เหล่าผู้ประกอบการเข้าใจ และไม่กล้ากระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย

** สภาทนายความอาสาฟ้องให้ชาวนา

เมื่อเวลา 20.00น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยที่เวทีปทุมวัน ว่า สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังในตอนนี้ คือให้มวลชนเหนื่อย แล้วเลิกไปเอง แต่เราไม่เหนื่อย เราไม่เลิกจนกว่าจะได้ชัยชนะ และรัฐบาลคิดจะใช้การเลือกตั้งมาฟอกตัวเอง พยายามเร่งให้กกต.จัดเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ก็ให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้ง แต่รัฐบาลปฏิเสธ บอกว่าเป็นอำนาจของกกต. เรื่องเลือกตั้งจึงยังไม่รู้จะเลือกได้เมื่อไร

ตอนนี้รัฐบาลหันมาใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธ สั่งสมุนอย่างโกตี๋มาดำเนินการ ยั่วยุให้เราตอบโต้ แล้วจะใช้กำลังเข้าปราบ แต่เราไม่ตอบโต้ เพราะเรายึดหลัก สันติ อหิงสา ทำให้แผนของรัฐบาลไม่ประสบผลสำเร็จอีก

นายสุเทพ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ยิ่งลักษณ์ไม่เคยรับผิดชอบ ได้แต่โทษคนอื่น เลือกตั้งไม่ได้ ก็โทษ กกต. ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้พี่ชาย พอถูกคัดค้าน ก็บอกว่าเป็นเรื่องของสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เรื่องชาวนามาทวงหนี้ค่าข้าว เพราะรัฐบาลเอาข้าวไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายเงิน เวลาผ่านมาหลายเดือนแล้ว ยิ่งลักษณ์ก็ไม่รับผิดชอบ แถมยังพูดให้เจ็บใจว่าเป็นเรื่องการเมือง เป็นพวกชาวนาปลอมถูกชักจูงมาให้ร่วมไล่รัฐบาล พวกเราเห็นใจชาวนา จึงคิดหาทางช่วยเหลือ ก็เดิน วันเดียวได้ 9 ล้านสองแสน วันนี้จะเดินอีก เริ่มเวลา 100 น. จากสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย มาที่ถนนเพชรบุรี และ อโศก เพื่อหาเงินช่วยชาวนา เพื่อไปฟ้องรัฐบาล ฟ้องยิ่งลักษณ์ ฟ้องรัฐมนตรีพาณิชย์ และพวกที่เกี่ยวข้อง ทั้งฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหา ฟ้องอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชน

นอกจากนี้ ตนได้คุยกับสภาทนายความ ท่านเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความถึงเรื่องความเดือดร้อนของชาวนา ท่านอาสาจะว่าความให้ชาวนาโดยไม่คิดเงิน ฟ้องให้ทุกจังหวัด เข้าไปขอความช่วยเหลือจากตัวแทนของสภาทนายความที่มีประจำอยู่ทุกจังหวัดได้เลย

ถึงวันนี้ ประเทศกำลังวิกฤติทุกด้าน ทางออกของประเทศ คือเอายิ่งลักษณ์ออกไปให้เร็วที่สุด โค่นระบอบทักษิณให้หมดไป แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลของประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาต่างๆให้ประเทศเดินหน้าไปได้ นี่คือภารกิจของเรา ที่จะต้องทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น