“คลัง” ส่งสัญญาณให้แบงก์รัฐเร่งปล่อยกู้หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่ออุ้มจีดีพีปี 57 ประเมินการเมืองวิกฤตส่งผลกระทบหนัก
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ประเทศมีรัฐบาลรักษาการทำได้เพียงการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเร่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการเพื่อทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
สำหรับในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณ 2557 โดยเฉพาะงบลงทุน ได้มีการเร่งมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ยังต้องมีการเร่งเบิกจ่ายต่อไปเพราะเป็นมาตรการที่ต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ผ่านมาดูจะนิ่งๆ ไปบ้าง กระทรวงการคลัง จึงต้องมีการสั่งการให้มีการดำเนินการปล่อยสินเชื่อ โดยให้มีการเรียกลูกค้ามาคุยเพื่อปล่อยสินเชื่อเพิ่ม หรือหาลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แบงก์รัฐต้องไม่เกียร์ว่าง สินเชื่อปกติที่ไม่ได้ขอชดเชยดอกเบี้ยไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ที่ผ่านมาอาจจะสะดุดเพราะกลัวเรื่องการปล่อยกู้จำนำข้าวกันอยู่ แต่สินเชื่อตัวอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาก็ต้องช่วยกันเร่งปล่อยไม่ใช่หยุดหมดเลย จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรงขณะนี้
นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสามารถปล่อยกู้กระตุ้นเศรษฐกิจทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ฐานราก ทางธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ทำได้ การปล่อยกู้บ้านก็มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การปล่อยกู้ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมก็มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารเพื่อส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ก็สามารถปล่อยกู้ผู้ส่งออกนำเข้าได้เช่นกัน หากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก
สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีปัญหาทั้งเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ทางกระทรวงการคลัง ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปตามแผนฟื้นฟู แม้ว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเพิ่มทุนให้อีกในปีนี้ ซึ่งมีการตั้งงบในงบประมาณปี 2557 เรียบร้อยแล้ว แต่ติดปัญหาต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกครั้ง ซึ่งหาก ครม.รักษาการอนุมัติไม่ได้ ก็จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะถือเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 จะไม่ถึง 3% ต่อปี จากที่ประมาณการไว้เดิม 3.1% เนื่องจากการเลือกตั้ง และการมีรัฐบาลยืดเยื้อกว่าที่กระทรวงการคลังประมาณการไว้ ทำให้เป็นข้อจำกัดด้านการบริหารเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถออกนโยบายใหม่มาดูแลเศรษฐกิจที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวันในขณะนี้ได้