xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผล 12 ประการ ทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน (ฝากถึงกำนันสุเทพ)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ผมรู้สึกดีใจเมื่อได้ยิน “กำนันสุเทพ” ประกาศบนเวที กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เพื่อเรียกร้องให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยกันคิดว่าจะ “ปฏิรูป” อะไรบ้าง และอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 ด้านใหญ่ๆ แม้ลุงกำนันจะได้เอ่ยถึงประเด็นพลังงานบ้างเพียงแค่ชื่อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ผมก็ยังไม่ได้ยินคำว่า “ปฏิรูปพลังงาน” อย่างชัดๆ จากปากของลุงกำนันเลย

ลุงกำนันอาจจะคิดเอาเองว่าประเด็นพลังงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าใจยาก หรืออาจจะสร้างความแตกแยกในกระบวนการต่อสู้เสียก่อน ผมไม่อาจจะทราบได้ แต่ผมในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา 37 ปี และได้ให้ความสนใจกับประเด็นพลังงานมาอย่างต่อเนื่องร่วม 20 ปี ผมขอถือโอกาสนี้นำเสนอทั้งต่อลุงกำนันและสาธารณะด้วยเหตุผลเป็นข้อๆ โดยที่บางประเด็นสามารถทำได้ง่าย ดังต่อไปนี้ครับ

หนึ่ง พลังงานที่ผูกขาดได้รับการส่งเสริม แต่พลังงานที่เป็นประชาธิปไตยถูกกีดกัน

ข้อมูลเชิงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า “พลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์ที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้นเท่ากับพลังงานที่พระอาทิตย์ส่องให้ผิวโลกเพียงแค่ 8 นาที เท่านั้น” แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันพบว่ากว่าร้อยละ 80 ของพลังงานที่ชาวโลกใช้เป็นพลังงานฟอสซิลซึ่งได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่ได้ถูกผูกขาดโดยพ่อค้าพลังงาน ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนที่มีการกระจายอยู่ทั่วไป (อันเป็นหลักการสำคัญเดียวกันกับหลักการประชาธิปไตย ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล) ได้ถูกกีดกันและเบียดให้ตกตลาดไปมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

กระบวนการกีดกันไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ตั้งแต่การใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนพลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์ สร้างระบบความคิดที่ผิดๆ ผ่านการศึกษาในระบบ รวมถึงการใช้สื่อมวลชนที่รับเงินจากพ่อค้าพลังงานมาล้างสมอง เช่น “พลังงานแสงอาทิตย์ไม่มั่นคง ราคาแพง”, “ถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด” ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Sturdguard พบว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินคือฆาตกรเงียบ” ประกอบกับการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารถึงความสำเร็จของพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

สอง พลังงานครอบคลุมทุกมิติของชีวิต

เรื่องพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องน้ำมันแพง ก๊าซขึ้นราคา หรือการทวงคืน ปตท. ตามที่เป็นกระแสในสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของไฟฟ้าทั้งในเรื่องราคาที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบต่อชีวิตของชุมชนดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะและอีกหลายจังหวัดในทุกภาคของประเทศที่กำลังมีการต่อต้านกันอยู่ในขณะนี้

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่มีหลายมิติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งต่อชุมชนโดยตรงและต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน เรื่องสิทธิชุมชน รวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายพลังงานของประชาชนด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของโอกาสในการคอร์รัปชันของนักการเมืองและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนด้วย จากการเปิดเผยของกลุ่ม Occupy Wall Street พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเข้าสู่กระเป๋าของคนเล่นหุ้น รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้มีการก่อสงครามต่อประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมด้วย

การที่สื่อโทรทัศน์ วิทยุและสิ่งพิมพ์ต่างได้รับเงินก้อนโตจากพ่อค้าพลังงานรวมทั้งกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นส่วนราชการด้วย จึงเป็นเหตุให้สื่อทำหน้าที่สองอย่างคือ (1) นำเสนอเรื่องบิดเบือนความจริง และ (2) ถ้าเป็นเรื่องจริงก็มักจะเป็นเรื่องไม่สำคัญ เช่น ข่าวหมีตั้งท้อง เป็นต้น ดังนั้นข่าวความก้าวหน้าของบางประเทศ หรือข่าวผลกระทบต่อชุมชนจึงไม่นำเสนอ

ดังนั้น เรื่องพลังงานจึงเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้กับความเป็นประชาธิปไตย ถ้าความเป็นประชาธิปไตยมี 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ (1) การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยกระบวนการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม (2) การมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของประชาชน (3) การเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และ (4) การใช้หลักนิติธรรม ประเด็นพลังงานมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ใน 4 ซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2514 แต่ได้ถูกแก้ไขโดยการให้คำปรึกษาของพ่อค้าพลังงานเพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม

สาม ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยเพิ่มจาก 1 ใน 10 เป็น 1 ใน 5 ของรายได้

เพื่อให้เห็นถึงขนาดและความรุนแรงของปัญหาด้านพลังงาน โปรดดูข้อมูลนี้ ในปี 2555 คนไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่า 2.14 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถ้าใช้ตัวเลขกลมๆ พบว่าคนไทยต้องใช้เงิน 1 ใน 5 ของรายได้เพื่อซื้อพลังงานอย่างเดียวซึ่งถือว่าเป็นรายจ่ายที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

และหากย้อนหลังไปถึงปี 2535 และปี 2529 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยอยู่ที่ 1 ใน 10 และ 1 ใน 15 ของจีดีพีเท่านั้น

สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อจีดีพีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ จริงอยู่มันสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่ต้องขึ้นอยู่กับการพึ่งพาเครื่องทุ่นแรง การเดินทางขนส่งและเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น แต่ก็ได้สะท้อนถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้นด้วย

สี่ กิจการไฟฟ้าน่าจะปฏิรูปง่ายกว่าน้ำมัน

หากจำแนกรายจ่ายตามชนิดของพลังงานในปี 2555 พบว่า เป็นค่าน้ำมัน 1.3 ล้านล้านบาท หรือ 61% ของรายจ่ายพลังงาน ค่าไฟฟ้า 5.5 แสนล้านบาท (26%) และก๊าซธรรมชาติ (แอลพีจีและเอ็นจีวี) 1.2 แสนล้านบาท (และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 แสนล้านบาทเมื่อการขึ้นราคาเดินไปครบตามแผนการในปลายปี 2557) สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหมุนเวียนที่คนธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ง่าย กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงแดด และลม ในภาคไฟฟ้าแทบจะไม่มีเลย

อนึ่ง แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้ามีน้อยเมื่อเทียบกับค่าน้ำมัน แต่มีความจริงเพิ่มเติมอีก 2 อย่างครับ คือ (1) ยังไม่รวมค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า (ตามแผนพีดีพี 2010) อีกโดยเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท และ (2) ในการตัดสินใจเลือกชนิดเชื้อเพลิง ข้าราชการจะคิดเฉพาะต้นทุนภายใน (Internal Cost) ของกิจการ แต่ไม่สนใจต้นทุนภายนอก (External Cost) ซึ่งก็คือต้นทุนของชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้านั่นเอง โดยที่ต้นทุนภายนอกหรือความเสียหายของโรงไฟฟ้าถ่านหินสูงถึง 3-4 เท่าของต้นทุนภายใน

ดังนั้น มูลค่าจากกิจการไฟฟ้าจึงอาจจะสูงพอๆ กับกิจการน้ำมันก็เป็นไปได้ แต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีสูงมากกว่าน้ำมัน และโอกาสในการปฏิรูปน่าจะมีความเป็นไปได้ง่ายกว่า (ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

ห้า อันดับความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมันของคนไทยติดอันดับโลก

เมื่อมีการร้องว่า ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าบางประเทศ ทางราชการก็จะหยิบเอาประเทศที่มีราคาแพงกว่าบ้านเรามาเกทับ ความจริงแล้วความถูกหรือแพงต้องเทียบกับรายได้ของประชาชน ไม่ใช่แค่การเทียบราคาสินค้าอย่างเดียว (เรื่องแค่นี้ก็โกงเสียแล้ว)

ตารางข้างล่างนี้เป็นบางส่วนของการศึกษาของ Bloomberg วิธีการศึกษาเขาสุ่มประเทศต่างๆ มา 61 ประเทศ กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของโลก เขาใช้รายได้เฉลี่ยต่อวัน ราคาน้ำมัน (ที่ปั๊ม) เฉลี่ยต่อลิตร และ “อันดับความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมัน” โดยที่ความเจ็บปวดก็คือ “ร้อยละของรายได้ในหนึ่งวันเพื่อซื้อน้ำมันหนึ่งลิตร” ซึ่งอันดับแรกหมายถึงมีความเจ็บปวดมากที่สุด อันดับต่ำๆ หมายถึงมีความเจ็บปวดน้อย หรือน้ำมันมีราคาถูกเมื่อเทียบกับรายได้

ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนของประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกามีอันดับความเจ็บปวดเป็นอันดับแรกและอันดับที่ 56 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 9 ซึ่งมีความเจ็บปวดมากกว่าประเทศจีนเพียงนิดเดียว โดยที่เมื่อต้นปีประเทศไทยเคยอยู่อันดับที่ 11 (นับวันยิ่งแย่มากขึ้น)

แค่เรื่องที่คนไทยมีความเจ็บปวดมากกับเรื่องราคาน้ำมันก็มีเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะต้องปฏิรูประบบพลังงาน แต่ผมยังมีประเด็นที่สำคัญอีกมากครับ

หก ยกเลิกของทุนน้ำมัน

ฟังเพียงผิวเผิน กองทุนน้ำมันเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นเครื่องมือให้นักการเมือง เช่น ในช่วงการเลือกตั้งปี 2548 รัฐบาลยอมให้กองทุนน้ำมันติดลบกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันในช่วงหาเสียง ปัจจุบันมีการเก็บเงินเข้ากองทุนจากน้ำมันบางประเภทถึงลิตรละ 10 บาท ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีให้กับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นของ ปตท.)

เจ็ด ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ความจริงจากเยอรมันที่คนไทยไม่เคยรู้

ทั้งๆ ที่ความเข้มต่อตารางเมตรของพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศเยอรมนีมีน้อยกว่าประเทศไทยเยอะ (คือ เยอรมนีมี 12.4 แต่ไทยมี 18.2 หน่วย) แต่พบว่าในปี 2556 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 29,300 ล้านหน่วย ปริมาณไฟฟ้าจำนวนนี้มีจำนวนมากว่าที่คนไทยในภาคเหนือ 17 จังหวัดและภาคใต้ 14 จังหวัดรวมกัน

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราพบว่าถ้าใช้พื้นที่เพียงหนึ่งอำเภอมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็จะสามารถป้อนไฟฟ้าได้เพียงพอใช้ทั้งประเทศ (ย้ำ) โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยมาก ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ในขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี 2013) ที่กำลังปรับปรุงใหม่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่เป็นถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศโดยกลุ่มพ่อค้าพลังงาน และนักวิชาการถือว่าเป็นฆาตกรเงียบตั้งแต่ในครรภ์จนถึงเชิงตะกอน

แปด กลไกความสำเร็จของเยอรมนีกับความล้มเหลวของกลไกรัฐสภาไทย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเยอรมนีประสบผลสำเร็จก็คือการผ่านกฎหมายที่ริเริ่มโดยสมาชิกรัฐสภาโดยพรรคฝ่ายค้านเพียงแค่ 2-3 คนเท่านั้น แต่ด้วยกระแสสังคมของชาวเยอรมันที่กลัวผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ทำให้รัฐสภาจำเป็นต้องผ่านกฎหมายฉบับนี้ในปี 1999

ชื่อเต็มของกฎหมายนี้มีชื่อว่า “Law for the Priority of Renewable Energies (กฎหมายเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนก่อน)” แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของกลุ่มผู้เสนอกฎหมายนี้ก็คือ

“นี่เป็นการต่อสู้เชิงโครงสร้าง มันเป็นการต่อสู้ระหว่างการรวมศูนย์ (และทำให้มีขนาดใหญ่) กับการกระจายศูนย์ (และทำให้มีขนาดเล็ก) ระหว่างเผด็จการพลังงานกับการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยพลังงาน”

“วิธีเดียวที่จะทำให้สำเร็จ ความสำเร็จต่อการต่อต้านทั้งหลาย ต่อพวกกระแสหลัก ต่อผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว ผลประโยชน์ที่ใหญ่โต คือการต่อสู้กับเขาเหล่านั้นในที่สาธารณะ เพื่อเอาชนะในสาธารณะ เราสามารถเอาชนะต่อโครงสร้างอำนาจได้ และพันธมิตรที่ดีที่สุดก็คือประชาชน”


ผมว่าโอกาสที่ดีของสังคมไทยได้มาถึงแล้วครับ อาศัยพลังของ “มวลมหาประชาชน” ประกาศกฎหมายฉบับนี้ (ซึ่งผมมีรายละเอียดอยู่แล้ว)

อ้อ อยากถามถึงรัฐสภาไทยสักนิด เคยไหมครับที่พรรคฝ่ายค้านสามารถผ่านกฎหมายได้ ภาคประชาชนเสนอกฎหมายผู้บริโภค (ตามมาตรา 61) มา 16 ปี แต่ก็ได้ถูกกฏหมาย “ลักหลับ” มาแซงเฉยเลย

เก้า พรรคการเมืองของผู้ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา

มีการเสนอทีเล่นทีจริงว่า หากชาวอเมริกัน 100 ล้านหลังคาเรือนรวมตัวกันตั้งพรรคการเมือง ด้วยนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน พรรคนี้ต้องชนะแน่นอน เพราะหนึ่งบ้านมี 2 เสียงโหวต ไม่ใช่ 1 ดอลลาร์ 1 เสียง (ตามที่เป็นอยู่)

สิบ การใช้พลังงานอย่างประหยัด

นอกจากคนไทยต้องมีความเจ็บปวดที่ปั๊มน้ำมันแล้ว ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทยก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับชาวโลก

ข้อมูลข้างล่างนี้ได้สะท้อนว่า ถ้าต้องการให้เกิดรายได้ที่เท่ากัน (คือหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ) คนไทยเราต้องใช้พลังงานถึง 0.235 หน่วย ในขณะที่ชาวมาเลเซีย และเยอรมันใช้เพียงแค่ 0.199 และ 0.121 หน่วยเท่านั้น

แม้ชาวจีนจะต้องใช้พลังงานมากกว่าเราเล็กน้อย แต่แนวโน้มของชาวจีนลดลง ในขณะที่ของพี่ไทยเรากลับมีแนวโน้มสูงขึ้น และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของเอเชีย (กราฟด้านบน ขวามือ)

ประเด็นนี้เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพของคนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงานด้วย อย่างไรก็ตามการรณรงค์เพื่อประหยัดพลังงานก็สามารถทำได้ทันที

สิบเอ็ด ผลประโยชน์จากการสัมปทานปิโตรเลียม ไทยได้รับน้อยมาก

ประเด็นนี้ข้าราชการระดับสูงได้ออกมาปกป้องแทนบริษัทรับสัมปทานมาตลอดว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งคุณภาพปิโตรเลียมไม่ดีพอ เป็นต้น

นอกจากนี้ได้อ้างตัวเลขผลตอบแทนของรัฐที่ค่อนข้างซับซ้อนในการคิด แล้วสรุปว่า คนไทยได้รับผลประโยชน์มากกว่าบริษัทในสัดส่วน 59 ต่อ 41 เป็นต้น

ตารางข้างล่างนี้ ผมคำนวณมาจากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2524 จนถึง 2554 ประเทศไทยได้ผลิตปิโตรเลียมไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 3.42 ล้านล้านบาท โดยบริษัทรับสัมปทานได้กำไรสุทธิ (หลังหักต้นทุน ภาษีเงินได้และค่าภาคหลวงแล้ว) คิดเป็นร้อยละ 54.6 ของเงินลงทุน

แต่ถ้าคิดในช่วง 5 ปีสุดท้าย พบว่า ผลกำไรสุทธิของผู้รับสัมปทานสูงมากเฉลี่ยร้อยละ 65.5% และใน 2 ปีสุดท้ายกลับสูงถึง ร้อยละ 73.2 และ 96.6% ของเงินลงทุน ผมว่านี่คือวิธีคิดผลกำไรที่ตรงไปตรงมาของการลงทุนทั่วไป แต่พ่อค้ากลับคิดให้สับสนแล้วยอมจำนน ท่านผู้อ่านคงคิดเองได้มาเป็นอัตรากำไรที่สูงมากหรือไม่

วิธีการปฏิรูปที่ง่ายที่สุดคือ ขอให้ระงับการให้สัมปทานรอบใหม่ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ โดยอาศัย พ.ร.บ.รายได้ปิโตรเลียม 2514 ที่ระบุว่าให้คิดภาษีเงินได้ที่ร้อยละ 50 ถึง 60 แต่ปัจจุบันรัฐบาลไทยเก็บที่ 50% เท่านั้น ผมไม่เข้าใจครับ

สิบสอง พลังงานฟอสซิลเป็นต้นเหตุสภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนคือเกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล และถ้าจำแนกตามภาคการผลิตก็มาจากโรงไฟฟ้ามากที่สุดนั่นแหละ

สภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ร้อยละ 96% ของผู้สูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติดังกล่าวอยู่ในประเทศยากจน เหตุการณ์ซูเปอร์ไต้ฝุ่นในฟิลิปปินส์เมื่อปีกลาย และเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยปี 2554 ก็ยังจำกันได้นะครับ

นี่คือ 12 เหตุผลที่ต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานทั้งประเทศไทย นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว กระจายรายได้ สร้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อคนไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งภายในประเทศและโลกด้วยครับ

หากนโยบายพลังงานยังขึ้นต่อแหล่งพลังงานที่ผูกขาด โดยประชาชนถูกล้างสมองและไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มแข็งแล้ว ไม่ใช้แหล่งพลังงานที่เป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ (หนึ่งหัว หนึ่งตารางเมตร) แล้วประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ไม่ได้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น