xs
xsm
sm
md
lg

การจับตามหมายจับของศาล

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

28 ม.ค.57

การที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า จะดำเนินการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมที่มีหมายจับภายใน เร็ววันนี้ การประกาศเช่นนี้เป็นการกระทำที่มีลักษณะข่มขู่คุกคามซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นการใส่ความผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้ผู้มีชื่อในหมายจับได้รับความเสียหายเพราะเหตุ

1. การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (11 ) ได้กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญ เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องและลงโทษ ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งในชั้นอัยการและศาล

2. การสอบสวนสามารถกระทำได้โดยผู้ต้องหาไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วย ไม่เหมือนการสืบพยานในชั้นศาลซึ่งกระทำต่อหน้าคู่ความ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 )

3. เมื่อการสอบสวนเสร็จถ้ายังจับกุมตัวผู้ต้องหาไม่ได้ ให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา ( ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 , 141 )

4. เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา พนักงานอัยการจะต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ( ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 )

พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการ ถ้าผู้ต้องหามีหมายจับของศาลอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการจับกุมตัวส่งพนักงานอัยการและถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ก็ให้ดำเนินการโดยวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ( ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 ) ฉะนั้นการจับกุมผู้ต้องหาจึงไม่ต้องเร่งรีบจับตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมประกาศต่อสาธารณชน

หมายจับแกนนำผู้ชุมนุมที่ได้ออกไปแล้ว ไม่ใช่เป็นเครื่องบ่งชี้ ( Identify) ได้ว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (11) , 131 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นความผิดและเป็นสิทธิที่กระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

กำลังโหลดความคิดเห็น