xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาขีดเส้นตาย 25ม.ค.ไม่ได้เงินปิดอีสาน โยนกลับแผนกู้1.3แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายชาวนาภาคอีสาน 20 จังหวัดสุดทนถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลอก ขีดเส้นตายชำระหนี้ค่าจำนำข้าวถึง 25 ม.ค.หากยังเบี้ยวพร้อมฟ้องแพ่ง-อาญา ยกระดับปิดศาลากลาง-ถนนพร้อมกันทุกจังหวัดทั้งอีสาน และ 2 ก.พ.ไม่เลือกเพื่อไทย เช่นเดียวกับกลุ่มชาวนาภาคเหนือขู๋ปิด สนง.พาณิชย์ฯ-ศาลากลาง "โต้ง" รุดแจง กกต.ขอกู้เงินจำนำข้าว อ้างเป็นโครงการต่อเนื่อง อนุมัติก่อนยุบสภา แต่ถูก กกต.โยนกลับแผนกู้เงิน 1.3 แสนล้านชำระหนี้ชาวนา ชี้ไม่อยู่ในอำนาจ แต่เป็นดุลยพินิจรัฐที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบเอง "สมชัย" โพสต์เฟซบุ๊กแฉรัฐตอบไม่ได้กู้ 1.3 แสนล้านแล้วขายข้าวมาชำระได้คืนก่อนรัฐบาลใหม่หรือไม่

วานนี้ (21 ม.ค) ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น เครือข่ายชาวนาภาคอีสาน 20 จังหวัดประมาณ 500 คนเดินทางมาชุมนุมเพื่อทวงหนี้ค่าข้าวเปลือกโครงการจำนำข้าว พร้อมประชุมหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เนื่องจากเดือดร้อนจากโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลยังไม่จ่ายเงินให้ชาวนา โดยตัวแทนชาวนาทั้ง 20 จังหวัดได้ชูป้ายข้อความโจมตีโครงการจำนำข้าวและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เช่น "เอาข้าวกูไป เอาเงินกูมา", "ครม.โจร ปล้นชาวนา" ฯลฯ

นางพิทยา หาปันนะ ตัวแทนชาวนาจากอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลเอาข้าวไปกว่า 4 เดือนแล้วแต่ไม่ยอมจ่ายค่าข้าว ทำให้ไม่มีเงินไปชำระหนี้ ทั้งถูก ธ.ก.ส.ทวงหนี้เงินกู้ ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม บางพื้นที่ที่ชาวนาปลูกข้าวนาปรังได้ แต่ก็ไม่สามารถเริ่มเพาะปลูกได้เพราะไม่มีเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์

" รัฐบาลพรรคเพื่อไทยหลอกลวงชาวนามาตลอด ไม่เคยเห็นความสำคัญของชาวนา เงินเดือนข้าราชการมีจ่ายให้ แต่เงินค่าข้าวชาวนากลับไม่จ่าย ซ้ำร้ายยังมาหลอกลวงชาวนาอีสานให้พร้อมใจกันไปเลือกตั้ง 2 ก.พ.และให้เลือกพรรคเพื่อไทยไปก่อน หลังจากนั้นจะโอนเงินค่าจำนำข้าวกลับมาให้ ซึ่งถึงขณะนี้ชาวนาไม่เชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกต่อไปแล้ว หากต้องไปเลือกตั้งจะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยเด็ดขาด แต่จะลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนแทน"

หลังจากนั้นเครือข่ายชาวนาได้ออกแถลงการณ์ในนามชาวนาภาคอีสานเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ 4 ข้อ 1.ต้องจ่ายเงินที่ค้างชำระให้แก่ชาวนาภายใน 25 ม.ค.นี้ 2.ต้องจ่ายดอกเบี้ยจากเงินที่ค้างชำระให้แก่ชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินสดหรือนำไปหักดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. 3.หากไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนดเครือข่ายชาวนาภาคอีสานจะฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ฐานปล่อยปละละเว้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาวนา และใช้นโยบายโกหกหลอกลวงจำนำข้าวจะได้เงินภายใน 7 วัน และ 4.หากไม่ได้รับการตอบสนองอีก เครือข่ายชาวนาอีสานจะจัดชุมนุมในแต่ละจังหวัด กดดันรัฐบาล ปิดศาลากลาง ปิดถนน แล้วแต่เห็นสมควร พร้อมกันทุกจังหวัด

**ชาวนาภาคเหนือยกระดับทวงหนี้

ด้านความเคลื่อนไหวของชาวนาภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ จ.อุตรดิตถ์ นายจีระพงษ์ แป้นเพ็ชร ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร ต.นาอิน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ชาวนาจาก อ.พิชัย ทองแสนขัน ท่าปลา น้ำปาด บ้านโคก ตรอน และ อ.ฟากท่า จะยังคงปักหลักชุมนุมปิดทางหลวงหมายเลข 11 ที่ทางแยกร้องกวาง หมู่ 2 ต.นายาง อ.พิชัย ต่อไป เพื่อเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มาเจรจาจ่ายเงินที่ค้างจ่ายอีกกว่า 3,411 ล้านบาทมานานกว่า 5 เดือนแล้ว และหากไม่ได้รับการตอบรับก็จะยกระดับการชุมนุมขึ้นไปอีก

ส่วนกลุ่มชาวนา จ.พิจิตร ที่ได้ยกระดับการชุมนุมทวงเงินจำนำข้าวเป็นการขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยการปิดทางเข้า-ออกศาลากลางจังหวัดพิจิตรมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 19 ม.ค. ได้มีการนัดชุมนุมกันอีกครั้งในวันนี้ (22 ม.ค.) โดยจะระดมเครือข่ายชาวนาและกลุ่ม กปปส.พิจิตรเข้าร่วมชุมนุมเพื่อทวงเงินจำนำข้าวและขับไล่รัฐบาลไปพร้อมกันต่อไป

**ปรึกษาสภาทนายฟ้อง"ปู"ฐานเบี้ยว

ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ได้นำตัวแทนชาวนาจากทั่วประเทศเข้าพบสภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านข้อกฎหมายในการฟ้องร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย กรณีไม่ยอมจ่ายเงินให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 และปี 2556/57 ตั้งแต่ ต.ค.56 จนถึงปัจจุบันทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยหลังจากได้ร่างคำฟ้องจะแจกจ่ายไปยังเครือข่ายชาวนาภาคต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการต่อไป

**"โต้ง"แจง กกต.กู้เงินจำนำข้าว

วันเดียวกันที่ตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มาชี้แจงกรณีที่รัฐบาลเสนอแผนบริหารหนี้สาธารณะโดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือกปี 2557 จำนวน 1.3 แสนบ้านบาท ซึ่ง กกต.ต้องพิจารณาว่า การกู้เงินดังกล่าวจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หรือไม่

นายกิตติรัตน์ กล่าวก่อนการชี้แจงกกต.ว่า ตามที่กระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ เราก็เสนอให้ ครม.รับทราบและอนุมัติ แต่เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่มีอะไรเคลือบแฝงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ก็เสนอเรื่องให้ กกต.รับทราบและพิจารณา

ซึ่งเรื่องข้าวเป็นการกู้เงินมาเพื่อชำระข้าวที่เรารับจำนำไว้แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ไปก่อภาระผูกพันใหม่ โดยมีการรับจำนำตั้งแต่เดือน ก.ย.56 มีการออกใบประทวนตั้งแต่เดือน ต.ค.56 มีการชำระค่าจำนำข้าวไปแล้วจำนวนหนึ่งแล้ว เมื่อมีการยุบสภา ความผูกพันที่มีต่อเกษตรกรที่เราออกใบประทวนไปแล้ว รัฐก็มีหน้าที่จ่ายค่าจำนำตรงนี้ ขอเรียนว่า เป็นเงินที่จะจ่ายตรงผ่านบัญชีเกษตรกร ดังนั้นการดำเนินการเชื่อว่าเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ไม่มีอะไรที่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้

**กกต.โยนกลับแผนกู้เงิน1.3แสนล้าน

ภายหลังการประชุม นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ได้แถลงว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณากรณีรัฐบาลส่งหนังสือขอหารือตามที่กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 ซึ่งจะมีการขอให้ กกต.พิจารณาอนุมัติกู้เงินวงเงิน 1.3 แสนล้านเพื่อนำไปชาระหนี้ให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวตามมาตรา 181 ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ให้อำนาจ กกต.พิจารณาอนุมัติได้ใน 3 วงเล็บที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การใช้งบกลางฉุกเฉินและการใช้ทรัพยากรของรัฐ แต่ในเรื่องของการปรับปรุงแผนบริหาร

เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า กกต.ยังได้พิจารณาแผนการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 โดยเชิญนายกิตติรัตน์ มาชี้แจง และมีความเห็นว่า กกต.มีอำนาจให้ความเห็นชอบเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (1) (2) และ (4) เท่านั้น การที่นายกิตติรัตน์ เสนอแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ที่อนุมัติเมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 กกต.เห็นว่าการเสนอแผนปรับปรุงหนี้ครั้งที่ 1 นี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปี โดยไม่เกินวงเงินที่ ครม.ได้อนุมัติ ซึ่งส่วนนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะที่จะดำเนินการได้ตามมาตรา 35 (2) ของ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ 2548 จึงไม่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจของ ครม.และรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) และ (2) และ (4) ที่อยู่ในอำนาจของ กกต.จะพิจารณา ประกอบมาตรา 10 ( 6) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2550 และระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง 2551

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญมาตรา181(3 ) ระบุว่า ไม่ให้ ครม.และรัฐมนตรีรักษาการไม่ดำเนินการอันมีผลเป็นอนุมัติโครงการหรือเป็นผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป กกต.เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อห้ามเด็ดขาด มิได้กำหนดให้ยกเว้น และมิได้กำหนดให้ กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนั้น การขอให้ กกต.ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ กกต.หากรัฐบาลจะดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากมีการวินิจฉัยชี้ขาด โดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและทางการเมือง

**"สมชัย"โพสต์เฟซบุ๊กแฉรัฐตอบไม่ได้

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า "ขยายมติ กกต.เรื่องเงินกู้จำนำข้าว" ดังนี้ 1.เรื่องที่รัฐบาลขอให้ กกต.อนุมัติ ขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้านเพื่อไปชำระหนี้ชาวนา กกต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก่ กกต.ในการอนุมัติประเด็นดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา181(3) เขียนไว้เพียงว่า รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป (ไม่มีเขียนว่า เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก กกต.) 2.ดังนั้นการพิจารณาในวันนี้ จึงมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นแรก เรื่องขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้าน อยู่ในอำนาจอนุมัติ กกต. หรือไม่ คำตอบคือ ไม่

3.ประเด็นที่สองการกู้เงินดังกล่าว เป็นการผูกพันกับ ครม.ชุดต่อไปหรือไม่ ซึ่งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบายว่าไม่ผูกพัน แต่คำถามที่ถามในที่ประชุม เพื่อนำไปสู่คำตอบว่า ผูกพันหรือไม่ มีหลายคำถามเช่น เงินกู้ 130,000 ล้าน เป็นเงินที่รัฐบาลรักษาการ สามารถขายข้าวมาใช้คืนก่อนมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ คำตอบคือไม่ อีกทั้งข้าวในสต็อก มีเท่าไร มีมูลค่าเท่าไร และจะใช้เวลาเท่าไรในการขายข้าวเพื่อให้ได้เงินคืน คำตอบคือ มีประมาณ 14 ล้านตัน เป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และจะใช้เวลาในการขายประมาณ 2 ปี และนโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดต่อไปจำเป็นต้องยึดเป็นนโยบายต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ ไม่

4.ดังนั้นประเด็นที่จะถือว่าผูกพันหรือไม่จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาเอง หากแน่ใจว่าไม่ผูกพันก็ดำเนินการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้ชาวนาได้เลย แต่หากคิดว่าผูกพันก็ไม่ควรดำเนินการ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ และ 5.มติ กกต.จึงไม่ใช่ ก.อนุมัติ หรือ ข.ไม่อนุมัติ แต่เป็น ค.คือไม่รับพิจารณาและให้รัฐบาลตัดสินใจเอง

***'กิตติรัตน์'อ้างหากไม่ขัดกม.เดินหน้ากู้

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่อ่านคำวินิจฉัยของ กกต.อย่างเป็นทางการ จึงไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวได้หรือไม่ ดังนั้น กระทรวงการคลังของกลับไปพิจารณาว่า หากไม่ขัดข้อกฎหมายตามที่กกต.ระบุ ก็จะตัดสินใจเดินหน้ากู้เงิน 1.3 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น