xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบชาวนาปะทุ-ป.ป.ช.จ่อเชือด พิษจำนำข้าว ฝันร้าย “ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

หลังที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เห็นชอบให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนโครงการทุจริตรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี ของ ป.ป.ช.

ยิ่งลักษณ์ก็ต้องรอหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวของ ป.ป.ช.ที่คาดว่าจะส่งไปถึงโดยเร็ว โดยหนังสือคำสั่งดังกล่าว ป.ป.ช.นอกจากแจ้งคำสั่งแล้วก็จะแจ้งชื่ออนุกรรมการไต่สวนในคดีนี้ให้ยิ่งลักษณ์ทราบทั้งหมดทุกคน เพื่อให้ยิ่งลักษณ์ได้ใช้สิทธิตามระเบียบของ ป.ป.ช.ในการโต้แย้งรายชื่ออนุกรรมการไต่สวนว่าจะขอให้ ป.ป.ช.มีการเปลี่ยนตัวอนุกรรมการไต่สวนบางคนออกไปหรือไม่

หากยิ่งลักษณ์จะขอใช้สิทธิดังกล่าว นอกจากต้องแจ้งชื่ออนุกรรมการคนดังกล่าวแล้วจะต้องให้เหตุผลต่อ ป.ป.ช.ด้วยว่า ต้องการให้เปลี่ยนตัวเพราะเหตุใด

หลังได้รับหนังสือดังกล่าวจากยิ่งลักษณ์แล้ว ทาง ป.ป.ช.ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ยิ่งลักษณ์ ให้เหตุผลอะไรในการขอเปลี่ยนตัวอนุกรรมการไต่สวน เหตุผลฟังขึ้นหรือไม่ หากเหตุผลฟังไม่ขึ้นที่ประชุมก็มีสิทธิจะไม่เห็นชอบตามที่ยิ่งลักษณ์ขอใช้สิทธิดังกล่าว แต่หากยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีการโต้แย้งรายชื่ออนุกรรมการไต่สวน ตัวยิ่งลักษณ์ก็ต้องเซ็นชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวต่อไป

ก็จะทำให้ขั้นตอนคดีก็จะเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น คือ อนุกรรมการไต่สวนก็ต้องเดินหน้าสอบสวนเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เห็นว่า จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหายิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ อนุกรรมการไต่สวนฯ ชงเรื่องมาให้ที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.ไปก่อนแล้วว่า ยิ่งลักษณ์สมควรจะต้องมีชื่ออยู่ในการสอบสวนของอนุกรรมการไต่สวนคดีรับจำนำข้าวด้วย ในฐานะประธาน กขช. แม้ยิ่งลักษณ์จะมีการมอบให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ทำหน้าที่แทนเพราะก่อนหน้านี้ได้มีหลายฝ่ายแม้แต่ ป.ป.ช.เองก็ได้เคยทำหนังสือเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งแต่เข้าบริหารประเทศแล้วว่าให้ระวังการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว เพราะจะก่อให้เกิดการรั่วไหลในงบประมาณ และเป็นนโยบายที่จะเปิดช่องให้มีการทุจริตกันได้ คนที่ท้วงติงให้สติเรื่องนี้ยังมีนักวิชาการจากสถาบันทีดีอาร์ไอ รวมทั้งนิด้า ก็เคยออกมาเตือนเรื่องนี้แล้ว

แต่ยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้นำรัฐบาล กลับเพิกเฉย ไม่สนใจต่อเสียงเตือนดังกล่าว จึงอาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ทางอนุกรรมการไต่สวนฯ ก็จะสอบสวนกันไป แล้วดูว่าทางคดีแล้วพอจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ หากเห็นว่าสมควรจะแจ้งข้อกล่าวหากับยิ่งลักษณ์ได้ ก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหากันไป ซึ่งทุจริตจำนำข้าว ป.ป.ช.แจ้งไปแล้วล็อตแรกรวม 15 ราย

จึงต้องตามดูว่ายิ่งลักษณ์และทีมฝ่ายกฎหมายประจำตัวจะตั้งหลักสู้คดีเรื่องนี้กันอย่างไร

จะเล่นเกมยื้อ หรือจะปล่อยไหลแล้วไปวัดดวงกันในลำดับขั้นตอนคดีต่อไป ตรงนี้ต้องติดตามกันว่า คดี ป.ป.ช.สำนวนนี้จะเป็นอย่างที่นิตยสารไทม์ สื่อทรงอิทธิพลของโลกตะวันตกเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์ไว้ว่า ตอนนี้ยิ่งลักษณ์กำลังถึงคราว “ฝันร้าย” หลังถูก ป.ป.ช.ตั้งแท่นไต่สวนจะเอาผิดในคดีรับจำนำข้าว

สำหรับปัญหานี้หลายคนก็คงเห็นด้วยว่า เรื่องรับจำนำข้าวกำลังกลายเป็นฝันร้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างหนัก เพราะนอกจากคดีความที่อาจมีการเอาผิดยิ่งลักษณ์แล้ว ก็ยังพบว่าปัญหาเรื่องรับจำนำข้าวก็กำลังกลับเป็นอาการ “ฝีแตก” ของรัฐบาลอีกครั้ง

โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินค่าข้าวในโครงการรับจำนำข้าวให้แก่ชาวนาในหลายจังหวัดได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร พ่วงด้วยชาวนาสุพรรณบุรี ที่ตอนนี้กำลังจับมือกันก่อหวอดกันอย่างหนัก มีการรวมกลุ่มกันปิดถนนประท้วงรัฐบาล ที่ผัดผ่อนการจ่ายเงินค่าข้าวกันมาแล้วหลายงวด

ล่าสุดบอกจะได้ข้อยุติภายในไม่เกิน 15 มกราคม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาเงินไปจ่ายได้ตามที่รับปากกันไว้ ส่งผลให้ชาวนาหลายจังหวัดไม่พอใจอย่างมาก จนมีชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันประท้วงปิดถนนบริเวณถนนทางหลวง 117 พิจิตร-นครสวรรค์ ที่เป็นถนนเส้นสำคัญในการสัญจรระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯ

และยังจะมีการยกระดับการชุมนุมเพื่อทวงเงินค่าข้าวมากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น การประกาศจะยกขบวนบุกไปยังหน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร เพื่อประท้วงรัฐบาลผ่าน ผวจ.พิจิตร ต่อไป เพราะนับแต่มีชาวนาภาคเหนือตอนล่างออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ปรากฏว่ายังไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนมาเจรจารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นเลย

ทำให้มีแกนนำชาวนาที่เคลื่อนไหวอยู่เวลานี้บางส่วนออกมาสำทับว่า หากรัฐบาลยังเพิกเฉยไม่ลงมาแก้ปัญหาให้ชาวนา ก็อาจจะยกพลไปร่วมสบทบกับการชุมนุมของมวลมหาประชาชนในกรุงเทพฯ เสียเลย

เวลานี้หากเรื่องปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวที่มีการทวงเงินมาแล้วหลายเดือนยังไม่คลี่คลาย เรื่องม็อบชาวนาก็อาจกลายเป็นปัญหาใหม่ของรัฐบาลในไม่ช้านี้

ขณะที่ในฟากฝั่งของรัฐบาลก็เล่นใช้วิธีตั้งป้อมยันกับชาวนาว่า ที่จ่ายเงินล่าช้าไม่ใช่เพราะนโยบายล้มเหลว รัฐถังแตก ขาดสภาพคล่องในการหาเงินมาให้ชาวนา แต่ติดขัดปัญหาทางเทคนิคหลายอย่าง โดยเล่นโทษไปถึงเรื่องการเมืองว่าเป็นสาเหตุให้การจ่ายเงินล่าช้า

หน้าด้านออกมาบอกว่า เป็นเพราะม็อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยฯ (กปปส.) ไปปิดล้อมกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ ทำให้การดำเนินการต่างๆ ของกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเรื่องนี้ ติดปัญหาเรื่องการประสานงานการจ่ายเงิน

รวมถึงโทษว่าเป็นเพราะสาเหตุเรื่องการเมือง เนื่องจากมีการยุบสภา ทำให้การจัดหาเงินมาจ่ายชาวนาไม่คล่องตัว เพราะอยู่ในสภาพรัฐบาลรักษาการ การอนุมัติเงินขนาดใหญ่-การกู้เงินต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนทุกครั้งไป โดยยกกรณีที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง จะต้องไปพบกับ กกต.เพื่อชี้แจงเรื่องการปรับเปลี่ยนรายการอนุมัติเงินกู้ 130,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการชำระหนี้ชาวนาซึ่ง กกต.ได้เรียกกิตติรัตน์ไปพบในวันอังคารที่ 21 มกราคม ก็ยังไม่รู้ว่าชี้แจงไปแล้วทาง กกต.จะว่าอย่างไร จะอนุมัติให้หรือไม่

นอกจากนี้ รมต.ในรัฐบาลอย่าง วราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็บอกว่า “ถ้ามีการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่เร็ว เกษตรกรจะได้รับการดูแลโดยเร็ว”

ท่าทีของรัฐบาลก็คือ พยายามปัดความรับผิดชอบออกไปจากตัวให้มากที่สุด ไม่พอ พยายามเถียงคอเป็นเอ็นว่านโยบายไม่ได้ผิดพลาด แต่ติดปัญหาเทคนิค แถมยังตั้งแง่ว่าหากชาวนา-เกษตรกรอยากได้เงินเร็วๆ ก็ต้องสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อหวังกันไม่ให้ชาวนาเข้าไปเป็นแนวร่วมกับ กปปส.ขับไล่รัฐบาล ไม่งั้นจะอดได้เงิน

จนถูกบางฝ่ายเช่นฝ่ายค้านสวนกลับเข้าไปหลายดอก เพื่อจับเท็จรัฐบาลว่าที่ผ่านมาเริ่มมีการเคลื่อนไหวทวงเงินค่าข้าวจากชาวนามาร่วมเกือบ 5 เดือนแล้วตั้งแต่ยังไม่มี กปปส. ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดช่วงนี้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ก็เคยเตือนรัฐบาลแล้วว่าจะเกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีเงินไปจ่ายชาวนาแต่รัฐบาลก็นั่งทับปัญหาไว้

เนื่องจากไม่ต้องการให้คนรับรู้ว่า การดำเนินการในโครงการมีปัญหาเพราะรัฐบาลไม่ได้มีการขายข้าวในโครงการผ่านจีทูจี อย่างที่บอกมาตลอดอีกทั้งที่ผ่านมาสองปีกว่าในการทำโครงการ ก็มีการกู้เงินจนเกินเพดานเงินกู้ทำให้การกู้เงินมาถมไปเรื่อยๆ ประสบปัญหา

รวมถึงฝ่ายค้านแย้งว่าที่ผ่านมา กปปส.ไปปิดล้อมก็ปิดล้อมกระทรวงการคลัง-สำนักงบประมาณแค่ไม่กี่วัน ไม่ได้ไปปิดล้อม ธ.ก.ส.ที่รับผิดชอบเรื่องการจ่ายเงินดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นเหตุให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินล่าช้าไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นหลายเดือน

จากปัญหาเรื่องรับจำนำข้าว ที่ยิ่งลักษณ์-รัฐบาลกำลังเผชิญแถมพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้บอกจะเลิกนโยบายรับจำนำข้าว หากกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. ดูแล้วที่ทำโครงการกันมาสองปีกว่าแล้ว ขาดทุนไปแล้วขั้นต่ำ 4 แสนกว่าล้าน

หากปล่อยให้รัฐบาลเพื่อไทย กลับมาทำโครงการเน่าๆ แบบนี้อีก หายนะประเทศรออยู่ข้างหน้าชัวร์
กำลังโหลดความคิดเห็น