xs
xsm
sm
md
lg

10 ยุคพยากรณ์ : เหตุสะท้อนการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านที่เป็นโหร หรือมิได้เป็นโหร แต่มีความสนใจในศาสตร์พยากรณ์ประเภทนี้ คงจะเคยได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านคำพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งออกเป็น 10 ยุค

ผู้เขียนได้พบคำพยากรณ์ 10 ยุคที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในหนังสือสองเล่มคือ

1. หนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดี รวบรวมโดย เทพ สาริกบุตร ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้า 11-12 ดังนี้

“สิ่งซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขรหัสอันเงื่อนงำนี้ให้กระจ่างแจ้งว่า พระองค์ท่านทรงใช้หลักวิชาใดเป็นเครื่องพยากรณ์ก็คือ คำพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็นยุคๆ ทั้งหมด 10 ยุคด้วยกันเป็นของคู่กับคำพยากรณ์ที่ว่า เมื่ออายุกรุงเทพฯ จำเริญถึง 150 ปีแล้ว จะมีการผลัดการปกครอง และตามเหตุผลที่บ่งชี้แล้วว่าคำพยากรณ์ดังว่านี้เป็นพระราชดำรัสของ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ฉะนั้น ก็คงจะเป็นของพระองค์ท่านเยี่ยงเดียวกับคำพยากรณ์นี้มีท่านผู้ใหญ่พยายามจดจำเล่าบอกสืบๆ กันมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คือ การแบ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น นับแต่เริ่มอายุชะตาพระนคร (พ.ศ. 2325) นี้แบ่งออกเป็น 10 ยุคด้วยกันคือ”

ยุคที่ 1 เรียกว่า ยุค “มหากาฬ”

ยุคที่ 2 เรียกว่า ยุค “พันธุ์ยักษ์”

ยุคที่ 3 เรียกว่า ยุค “รักษ์บัณฑิต”

ยุคที่ 4 เรียกว่า ยุค “สนิทธรรม”

ยุคที่ 5 เรียกว่า ยุค “จำแขนขาด”

ยุคที่ 6 เรียกว่า ยุค “ราชโจร”

ยุคที่ 7 เรียกว่า ยุค “นนท์ร้องทุกข์”

ยุคที่ 8 เรียกว่า ยุค “ทมิฬ”

ยุคที่ 9 เรียกว่า ยุค “ถิ่นตาขาว”

ยุคที่ 10 เรียกว่า ยุค “ชาววิไล”

คำพยากรณ์ 10 ยุคนี้แหละที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญอันจะไขปัญหาที่เคลือบคลุมออกให้กระจ่างแจ้งว่า พระองค์ท่านได้ใช้ศาสตร์ใดประกอบพยากรณ์ เหตุผลที่ว่า คำพยากรณ์ 10 ยุคนี้เป็นคำพยากรณ์ของ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็เนื่องมาจากความสัมพันธ์เกี่ยวโยงของคำพยากรณ์ทั้งสองบท บทแรกพยากรณ์เหตุการณ์ชิ้นสำคัญอันเกี่ยวกับการประดิษฐานพระราชวงศ์ ว่าจะยืนยงทรงพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปได้สักเพียงไร และบทที่สองนั้นแยกแยะ แจกแจงเหตุการณ์ต่างๆ ออกเป็นยุคๆ ไป

2. หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี รวบรวมโดย ธาดา ธาราดล

ในหนังสือเล่มนี้ได้ระบุที่มาของคำพยากรณ์ 10 ยุคว่าเป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ดังปรากฏในข้อความว่า

“เรื่องราวของปริศนาแห่งคำทำนายของสมเด็จโตเกี่ยวกับ 10 ยุคของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น กลายเป็นเรื่องราวฮือฮาที่มีคนจำนวนมากสนใจใคร่รู้ถึงข้อเท็จจริง หรือความเป็นไปได้ของการพยากรณ์ของสมเด็จโต ด้วยเหตุว่าสมเด็จโตท่านมรณภาพในยุคของรัชกาลที่ 5 แต่ท่านได้ทำนายล่วงหน้าไว้ถึง 10 ยุคและยุคต่างๆ หลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้วนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองก็ไม่ผิดเพี้ยนไปจากคำทำนายที่สมเด็จโตพยากรณ์ไว้ในอดีต”

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ยังได้นำคำอธิบายขยายความคำทำนายของแต่ละยุคของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) พร้อมคำอ้างที่มาของคำทำนาย 10 ยุค ซึ่งอ้างว่าเป็นของสมเด็จโตไว้ดังนี้

“หลังจากที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โตฯ พรหมรังสี ได้มรณภาพลงเมื่อวันเสาร์แรม 2 ค่ำเดือน 8 ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415”

ตอนเที่ยงคืน เช้าวันรุ่งขึ้นนายอาญาราช (อิ่ม) ศิษย์ก้นกุฏิของเจ้าประคุณสมเด็จเข้าไปเก็บกวาดในกุฏิของท่าน ขณะทำความสะอาดพื้นกุฏิ นายอาญาราชได้พบเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซุกอยู่ใต้เสื่อเป็นลายมือของเจ้าประคุณสมเด็จเขียนสั้นๆ โดยสังเขป เป็นคำทำนายชะตาเมือง 10 กาลยุค มีความว่า “มหากาฬ ภาณยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราษฎร์จน ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาววิไล”

เมื่อเปรียบคำพยากรณ์ 10 ยุคซึ่งปรากฏในหนังสือ 2 เล่มดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่าง 2 ประการคือ

1. ชื่อของยุคแตกต่างกันในยุคที่ 2 โดยที่เล่มแรกเป็นพันธุ์ยักษ์ แต่เล่มที่ 2 เป็นภาณยักษ์ ในยุคที่ 3 เล่มแรกเป็น รักษ์บัณฑิต แต่เล่มที่ 2 เป็นรักมิตร ในยุคที่ 6 ในเล่มแรกเป็นราชโจร แต่เล่มที่ 2 เป็นราษฎร์จน ในยุคที่ 7 ในเล่มแรกเป็นนนท์ร้องทุกข์ แต่เล่มที่ 2 เป็น ชนร้องทุกข์ ในยุคที่ 9 ในเล่มแรกเป็น ถิ่นตาขาว แต่เล่มที่ 2 เป็นถิ่นกาขาว นอกนั้นตรงกัน

2. ข้อแตกต่างเกี่ยวกับที่มาเล่มแรกบอกว่าเป็นของรัชกาลที่ 1 ส่วนเล่มที่ 2 บอกว่าเป็นของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับที่มาของคำพยากรณ์นี้ ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้ว ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยใช้วัตถุพยานเป็นเครื่องตัดสิน จึงทำให้เชื่อได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าจะให้เลือกเชื่อคนใดคนหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าที่มาซึ่งปรากฏในหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดีมีน้ำหนักมากกว่า ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะอนุมานได้ดังนี้

1. ผู้รวบรวมหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดีคือ อาจารย์เทพ สาริกบุตร เป็นผู้ที่รอบรู้ในเรื่องโหราศาสตร์เป็นอย่างดี ดังนั้น เรื่องนี้นำมาเป็นข้อสันนิษฐานจึงน่าจะมีน้ำหนักในทางวิชาการ

2. การที่ผู้เขียนหนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อ้างเพียงการค้นพบข้อเขียนซึ่งเป็นลายมือของเจ้าประคุณสมเด็จโตอยู่ใต้เสื่อ มิได้หมายความว่าเจ้าประคุณสมเด็จโตจะเป็นผู้ทำนาย อาจเก็บบันทึกจากคำบอกเล่า และเขียนเก็บไว้ก็ได้ ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้อสันนิษฐานของผู้เขียนหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดี แล้วมีน้ำหนักน้อยกว่า

3. การทำนายหรือพยากรณ์นั้น ถ้าพิจารณาในแง่ของความหมายที่แท้จริงแล้วคือการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก ส่วนการพยากรณ์อดีตนั้น จะกระทำเพื่อการทดสอบความถูกต้องของการคำนวณดวงชะตาเท่านั้น เพราะอดีตเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าอะไรได้เกิดขึ้น และผลเป็นอย่างไร

ดังนั้น ถ้าพิจารณาในแง่ของการพยากรณ์ การที่ผู้เขียนหนังสือโหราศาสตร์ในวรรณคดีสันนิษฐานมีน้ำหนัก เพราะสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างเมืองกรุงเทพฯ และมีการวางฤกษ์เสาหลักเมืองจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพยากรณ์โดยอาศัยดวงฤกษ์นี้ไว้ล่วงหน้า

ส่วนข้อนิษฐานของผู้เขียนหนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีน้ำหนักน้อย เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เกิดในรัชกาลที่ 1 และมรณภาพในรัชกาลที่ 5 ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่พยากรณ์ในยุคที่ 1 และยุคที่ 2 ในขณะที่ยังเยาว์วัย และไม่น่าจะมีศักยภาพในด้านการพยากรณ์ในยุคที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ แต่ถ้าเป็นจริงก็เป็นการพยากรณ์ย้อนหลัง จึงไม่น่าจะเรียกว่า คาดการณ์ล่วงหน้า ทั้งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เองก็ยังบอกว่า สมเด็จคาดการณ์โดยการนั่งทางใน หรือใช้ญาณ และการจะได้ญาณนั้นตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องเกิดจากการสมาธิจนได้อภิญญา 6 ในข้อทิพย์จักษุคือ มองเห็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นข้างหน้า และมองเห็นอดีตที่ผ่านมาได้กว่าคนปกติทั่วไป

ส่วนคำอธิบายขยายความคำทำนายที่ปรากฏในหนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นของมหาอำมาตย์ตรี ทิพโกษานั้น มีข้อความโดยย่อเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าสอดคล้องกับชื่อของยุคดังนี้

1. รัชกาลที่ 1 ได้ทรงปราบดาภิเษก ในการนี้ได้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และมีพระบรมราชโองการปราบพวกไม่เห็นด้วย มีการสังหารล้างโคตรถึง 82 ครอบครัว จึงเรียกยุคมหากาฬ

2. ในปี พ.ศ. 2363 ได้เกิดโรคระบาดมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ 2 ได้ทรงรับสั่งให้ทำพิธียิงปืนใหญ่รอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง และให้อัญเชิญพระแก้วมรกตเป็นการขับไล่ และปลอบขวัญพลเมือง ในที่สุดโรคร้ายสงบในทำนองเดียวกับการสวดภาณยักษ์ขับไล่ภูตผี

3. มีการเริ่มต้นเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อันได้แก่อังกฤษ และอเมริกา เป็นต้น

4. สนับสนุนการเผยแพร่จริยธรรม ตลอดจนการพระศาสนาต่างๆ พระองค์เองก็ทรงฉลองพระองค์ชุดขาวถือศีล 8 อย่างเคร่งครัด ฟังธรรมทุกวันพระ

5. เสียดินแดนให้แก่นักล่าอาณานิคมบางส่วนเพื่อแลกกับส่วนใหญ่ให้คงอยู่

6. มีการฟุ้งเฟ้อเลียนแบบตะวันตก เป็นยุคเริ่มต้นแห่งภัยพิบัติด้านเศรษฐกิจ

7. พลเมืองประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากแร้นแค้น

8. มีการลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ถึงแก่สวรรคต

9. มีชาวตะวันตกเข้ามามาก จึงน่าจะเป็นที่มาของคำว่า ถิ่นตาขาว

10. เป็นยุคที่ยังมาไม่ถึงและต้องรอดูกันต่อไปว่าเป็นไปอย่างที่พยากรณ์หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าอนุมานจากพฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา ทางสังคม และทางด้านการปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะเห็นได้จากประชาชนได้พัฒนาและมีการตื่นตัวมากแล้ว จะเห็นได้จากการที่มวลมหาประชาชนลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบทักษิณ เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในขณะนี้ และน่าจะอนุมานได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าในอนาคตผู้คนในสังคมไทยจะมีความศิวิไลซ์มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น