กิจกรรมในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ นอกจากจะมีการสังสรรค์เฮฮา รวมตัวกันเคานต์ดาวน์ในช่วงข้ามปีแล้วนั้น อีกหนึ่งกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันกระทำก็คือ “สวดมนต์ข้ามปี” ซึ่งในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้มีวัด หรือสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยพร้อมใจกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นในช่วงคืนวันที่ 31 ธันวาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี
จุดเริ่มต้นของกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ไม่ใช่เพิ่งเริ่มกันขึ้นมาในยุคที่คนต้องการที่พึ่งพึงทางจิตใจอย่างในปัจจุบัน แต่เริ่มกันมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 หรืออาจเกิดก่อนหน้านั้น เนื่องจากพบหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งเดิมเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในราชสำนักในแต่ละเดือน ได้ระบุไว้ว่า
พระราชพิธีประจำเดือน 4 มีชื่อเรียกว่า “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์” คือพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ ที่จะมีการนิมนต์พระสงฆ์เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงคืนที่เป็นรอยต่อระหว่างแรม 15 ค่ำเดือน 4 กับ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยนั้น (นับตามจันทรคติ) โดยมีบทสวดมนต์ที่ใช้กันคือ บทอาฏานาฏิยปริตร เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชน (ปัจจุบัน บทสวดนี้นิยมใช้เป็นบทสวดภาณยักษ์เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้าย)
นอกจากนี้ ในหนังสือขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้บันทึกพระราชพิธีการขึ้นปีใหม่ไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์เข้ากับพระราชพิธีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน รวมเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน (ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาเป็นวันที่ 1 เมษายนของทุกปี)
โดยยังมีการสวดบทอาฏานาฏิยปริตร ในวันที่ 29 มีนาคม ส่วนในวันสิ้นปี คือ 31 มีนาคม จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะยังมีการสวดบทอาฏานาฏิยปริตรอยู่ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในคืนรอยต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่แล้ว และนอกจากนี้ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานอีกด้วยว่าการสวดมนต์ข้ามปีนั้นหายไปในยุคสมัยใด
แต่สำหรับการสวดมนต์ข้ามปีที่ปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อปี 2547 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารในขณะนั้น ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ โดยสวดบทพระนพเคราะห์เป็นหลัก ซึ่งมีบทอาฏานาฏิยปริตรรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นการสวดมนต์ข้ามปีที่ห่างหายไปนานจากสังคมไทย
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ การสวดมนต์ข้ามปีค่อยๆ ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2549 สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการสวดมนต์ข้ามปีอย่างเป็นทางการที่วัดสระเกศในทุกปี มาถึงในปี 2553 มหาเถรสมาคมก็มีมติให้วัดที่มีความพร้อมได้จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้น โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลาง
สำหรับในคืนส่งท้ายปี 2556 และต้อนรับปี 2557 นี้ ก็มีการจัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมมือกัน โดยเฉพาะในวัดสำคัญๆ ทั่วประเทศ ที่เปิดให้พุทธศาสนิกชนร่วมสวดมนต์ข้ามปีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว (คลิก!! ดูสถานที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีต้อนรับปี 2557) ซึ่งหากใครอยู่ใกล้วัดไหน หรือสะดวกในย่านใดก็สามารถเข้าร่วมสวดมนต์ข้ามปีได้เลย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com