xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สาแหรกข้างแม่ “จิตภัสร์” ไม่ใช่แค่ “กฤดากร” แต่ยังมี “สนิทวงศ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุลกฤดากร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- น่าสนใจของ “น้องตั๊น” จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี มิได้มีแค่เพียงนามสกุล “ภิรมย์ภักดี” ซึ่งเป็นนามสกุลข้างพ่อ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ผู้สืบสายสกุลมาจาก “เจ้าพระยาภิรมย์ภักดี” เจ้าของผลิตภัณฑ์ “สิงห์” เท่านั้น หากแต่นามสกุลข้างแม่ของนางสาวจิตภัสร์ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

แม่ของน้องตั๊นคือ มล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือคุณหญิงต้นนั้น มีสกุลเดิมว่า “กฤดากร” ซึ่งสืบสาแหรกชั้นเดียวเชิงเดียวก็รู้แล้วว่า เป็น “ราชสกุล” อย่างมิต้องสงสัย

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ความเป็นกฤดากรของมล.ปิยาภัสร์ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์และราชวงศ์ของสยามประเทศหลายต่อหลายคนด้วยกัน

มล.ปิยาภัสร์ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคุ้นชินกันดีกับบทของสมเด็จพระสุริโยไทย จากภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” ซึ่งสร้างและกำกับการแสดงโดย “ท่านมุ้ย-มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” นั้น เป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โอรสของ หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร กับ หม่อมหลวงแส กฤดากร (สกุลเดิม สนิทวงศ์ โดยมีศักดิ์เป็นพี่สาวของ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) กับ ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา ซึ่งเป็น นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เฮลิคอปเตอร์ผู้ตามเสด็จตก ที่จังหวัดนราธิวาส

คุณหญิงต้นมีน้องชาย 1 คน คือ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร และมีบุตร 3 คน คือจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี นันทญา ภิรมย์ภักดี ณัยณพ ภิรมย์ภักดี

ทั้งนี้ ต้นราชสกุลกฤดากรก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2398 ประสูติแด่เจ้าจอมมารดากลิ่น ธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี หลานปู่ของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ทรงว่าราชการกรมพระนครบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นเรียกชื่อว่า "คอมมิตตี กรมพระนครบาล" ทรงเป็นผู้ปรับปรุงและจัดระเบียบกิจการตำรวจกรมกองตระเวน ตามแบบอย่างของสิงคโปร์ หลังจากได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสสิงคโปร์ เมื่อ ร.ศ. 109 (พ.ศ.2433) ต่อมาได้พัฒนามาเป็นกิจการตำรวจไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็น กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2442 และทรงราชการเป็นสมุหมนตรี และเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

สำหรับพระโอรสและพระธิดานั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงมีพระโอรสกับหม่อมสุภาพทั้งหมด 7 องค์ คือ 1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร 2.พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช 3.หม่อมเจ้าเสรษศิริ กฤดากร 4.หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร 5.หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร 6.หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร และ 7.หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

มีพระโอรสและพระธิดากับหม่อมแช่มทั้งหมด 4 องค์ ประกอบด้วย 1.หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร 2.หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร 3.หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร 4.หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ กฤดากร

มีพระโอรส-ธิดากับหม่อมเจิมทั้งหมด 3 องค์ 1.หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร 2.หม่อมเจ้าหญิงผจงรจิตร์ กฤดากร 3.หม่อมเจ้าดิลกฤทธิ์ กฤดากร

อย่างไรก็ดี นอกจากราชสกุลกฤดากรแล้ว สาแหรกทางฝ่ายคุณหญิงต้นแม่ของน้องตั๊นที่มิอาจไม่เอ่ยถึงได้ก็คือ “ราชสกุลสนิทวงศ์” ซึ่งเป็นราชสกุลเดิมทางฝ่ายท่านแม่ของคุณหญิงต้นหรือท่านยายของน้องตั๊นคือ หม่อมหลวงแส สนิทวงศ์

โดยต้นราชสกุลสนิทวงศ์ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) สายราชนิกุลบางช้าง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอในรัชกาลที่ 3 และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นวงศาสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย ในรัชกาลที่นี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการเมือง ในระดับนานาชาติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูตพระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5

พระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีหลากหลายประการ ซึ่งนอกจากการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วยพระกรณียกิจด้านวรรณกรรมและการศึกษา ได้แก่ ทรงพระนิพนธ์นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจินดามณีฉบับพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท หรือประถมจินดามณี เล่ม 2 พระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ได้ทรงแต่งตำราสรรพคุณยาสมุนไพรไทย จำนวน 166 ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด

ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติในสยามเรียกขานพระองค์ว่า The Prince Doctor อีกทั้งพระองค์ยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และการออกกำลังกายในท่าต่าง ๆ ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์

ในด้านการต่างประเทศทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีจิตและพาณิชย์ระหว่างอังกฤษกับไทยในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก รวมทั้งการต้องเป็นแม่ทัพหลวงไปทำสงครามเมืองเชียงตุงด้วย

ในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงมีพระชนมายุครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2551 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านปราชญ์และกวี (Scholar & Poet)เป็นบุคคลลำดับที่ 18 ของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงมีโอรสและธิดาทั้งสิ้น 25 องค์ โอรสองค์ที่ 2 คือ "หม่อมเจ้าสาย" ประสูติแต่ หม่อมแย้ม บุตรีจาวางด้วง แห่งราชินิกุลบางช้าง

ครั้นถึงปีวอก พ.ศ. 2415 รัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าสายเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์" ต่อมาเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหาร ร.ศ. 129 ในการนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และได้รับพระราชทานยศเป็น "นายพลเรือตรี" และ "นายพลเรือโท" ตามลำดับ

นายพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มีบุตรธิดากับ หม่อมเขียน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 8 คน บุตรคนที่สาม คือ พลเอก มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ (หม่อมราชวงศ์สะท้าน (กลาง) สนิทวงศ์) ซึ่งเป็น "พระอัยกา" ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2483 สิริรวมอายุได้ 74 ปี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 14 คน

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ ธิดาคนที่ 9 เกิดแต่ ท้าววนิดา พิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) คือ "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

“ขอกราบขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มอบให้ตั๊นและครอบครัวค่ะ ตั๊นขอทำวันนี้ให้ดัที่สุด จะสู้ต่อเคียงข้างพี่น้องประชาชนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศชาติ จะยึดมั่นในอุดมการณ์ว่าชาติต้องมาก่อน สิ่งที่ตั๊นต้องเสียสละไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่พ่อแม่พี่น้องร่วมอุดมการณ์ได้เสียสละให้กับประเทศชาติ มานอนมาใช้ชีวิตกันอยู่กลางถนน ทิ้งครอบครัว ทิ้งธุรกิจ โดยเฉพาะพี่น้องจากต่างจังหวัดที่มาร่วมสู้กับมวลมหาประชาชนเป็นเดือนๆ ตั๊นเองสิ ที่ต้องกราบคารวะในการเสียสละของทุกๆ ท่านที่มาร่วมสู้เพื่อประเทศชาติของเราเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนค่ะ”

และนั่นคือข้อความที่นางสาวจิตภัสร์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556

วันนี้ ทั้งตัวและหัวใจของน้องตั้น-จิตภัสร์ กฤดากร สวยมาก....


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นสาแหรกข้างท่านย่าคือหม่อมหลวงแส สนิทวงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น