ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลายสัปดาห์ก่อน มีการเปิดเผย “ดัชนีคอร์รัปชั่นไทย” ที่ลดฮวบจากอันดับ 88 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 102จาก 177 ทั่วโลก
เท่ากับประเทศเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่อันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากข้อมูลของ มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ที่ได้รับผลการจัดอันดับคอร์รัปชันโลก ประจำปี 2556 หรือดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2556 ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)
สัปดาห์ที่ผ่านมามีเวทีเรื่องความโปร่งใส ต่อสู้กับคอร์รัปชัน 2 เวที
เวทีแรก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "สร้างประเทศไทยให้โปร่งใส เตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC" ความตอนหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ทุกหย่อมหญ้า โดยยอมรับว่า ตัวเองทำงานอยู่ในตำแหน่งประธานองค์กรเครือข่ายต้านคอร์รัปชันมา 10 ปี ยังไม่สามารถหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้หมดสิ้น และยอมรับว่า ปัญหานี้ยากต่อการแก้ไข
"มนุษย์มีสัญชาตญาณสัตว์อยู่ เมื่อหิวแล้วก็กิน ต่างกับสัตว์เดรัจฉานที่รู้จักพอ อิ่มแล้วหยุด ส่วนมนุษย์ที่ร่ำรวยแล้ว ก็ไม่รู้จักพอ ปล่อยใจไปตามกิเลส ตัณหา" ดร.สุเมธกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ยังบอกว่า ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้ว เมื่อปี 2537-2539 ก่อนฟองสบู่แตก ธุรกิจขนาดใหญ่ล้มลง เพราะความอยากโต ในขณะที่ฐานยังไม่มั่นคง องค์กรธุรกิจ และสิ่งต่างๆ ในประเทศจะดีขึ้น ต้องเข้าใจคำว่า ความดี จริยธรรม ส่วนคนในสังคมต้องรู้กาลเทศะ และรู้จักแบ่งปัน เดินตามรอยทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะที่ การทำธุรกิจในอนาคต จะต้องนำกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม ทดแทนทรัพยากรโลกที่นำมาใช้ให้มากขึ้น โดยเชื่อว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเข้ามาดูแลตรงส่วนนี้
อีกเวที เป็นเวทีสาธารณะ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว.ในเวทีที่ชื่อ “ สกว. : ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น”
มี “ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมทำวิจัย อาจารย์ เห็นว่า คอร์รัปชั่นแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ 1. ภาคราชการ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะข้าราชการเป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ 2. ภาคการเมือง มักเป็นการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมือง โดยมีวงเงินค่อนข้างสูง จากการสำรวจทั่วประเทศในปี 2543 พบว่าร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั่วประเทศต้องจ่ายเงินเมื่อไปติดต่อราชการ และมีการกระจุกตัวของการคอร์รัปชั่นในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสูง อาทิ ตำรวจ ที่ดิน สรรพากร และกระบวนการยุติธรรม
ซึ่ง อาจารย์ บอกว่า ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2557 จะทำการสำรวจซ้ำทั่วประเทศอีกครั้ง จำนวน 6,000 ครัวเรือน โดยการสนับสนุนของ สกว. เพื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงการซื้อเสียงด้วย
"การคอร์รัปชั่นทางการเมืองยากจะแก้ไขเพราะเกี่ยวโยงกับขบวนการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการจ่ายสินบนหรือใช้ตำแหน่งอิทธิพลในการเข้าถึงสัมปทานหรือใบอนุญาตในการเข้าถึงทรัพยากรหายาก เช่น ที่ดินสาธารณะ หรือทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ เช่น เหมืองแร่ ดาวเทียม โครงการขนาดใหญ่ทางด้านสาธารณูปโภค วงเงินที่เกี่ยวข้องมีอัตราสูง
"ทำให้เป็นแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องแสวงหากำไรที่เกินปกติ และพบว่าถ้านักการเมืองหรือนักธุรกิจรวมถึงข้าราชการเข้าไปในวงจรจะมีครอบครัวเศรษฐีได้หลายชั่วอายุคน แม้ในปี 2544 จะมีการก่อตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ทำให้องค์กรมีเขี้ยวเล็บมากขึ้นและดำเนินคดีกับนักการเมืองได้ แต่ก็น่าจะทำได้มากกว่านี้ เช่น กรณีจำนำข้าวยังเอาผิดใครไม่ได้" ศ.ผาสุก ระบุ
นักวิชาการผู้นี้ ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างการต้านคอร์รัปชั่นในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในระดับนานาชาติ
"ภายหลังการจัดตั้งองค์กรกำจัดคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซีย (KPK) ในปี 2002 ที่มีกรณีสืบสวนสอบสวน 236 คดีในเวลา 10 ปี ทุกคดีประสบความสำเร็จ จับกุมข้าราชการระดับสูง นักการเมือง สส. ซีอีโอ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงประมาณ 400 คน จึงน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษาของไทยในการมีศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองเป็นกรณีเฉพาะ รวมถึงการมีองค์กรภาคประชาชนและสื่อเป็นมิตรที่สำคัญของ KPK
“แม้คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่แก้ยาก แต่จากประสบการณ์ของอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่าสามารถทำได้ถ้ามีการปรับปรุงหน่วยงานคอร์รัปชั่น และได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและรัฐบาล ทั้งนี้อยากเสนอให้มีการจัดตั้งศาลคดีคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ น่าจะเป็นไปได้ในประเทศไทยเพราะขณะนี้กระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นสูงมาก และสามารถใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงได้ สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียที่เกิดหลังวิกฤติเศรษฐกิจและประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต”ศ.ผาสุกกล่าว
ขณะที่ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า
“ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น” นั้น คอร์รัปชั่นเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งมีสาหตุส่วนหนึ่งมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอันเนื่องจากคดีคอร์รัปชั่น และการที่ไทยมีดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศตกลงมามากก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง การคอร์รัปชั่นจะเป็นปัญหาทำให้การพัฒนาประเทศไปต่อไม่ได้
แรกจะทำให้การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนต่างชาติที่มีธรรมาภิบาลจะไม่จ่ายใต้โต๊ะ หรือถ้าจ่ายก็จะผ่องถ่ายโดยหาตัวแทนแต่ผลการตอบแทนจะต้ำลง ทำให้การลงทุนจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะต้องมีการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลเพื่อลดการคอร์รัปชั่น
นอกจากนี้ การที่ไม่สามารถลงโทษนักการเมืองระดับสูงในคดีคอร์รัปชั่นได้อย่างที่ควรจะเป็น เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ได้ไม่หมดแต่ก็ทำให้ลดลงได้ เราต้องคิดเชิงระบบไม่ใช่เพียงคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมเพียงอย่างเดียว จึงขอเสนอกรอบความคิดที่เป็นประโยชน์คือ สมการคอรัปชั่น ของ ศ.โรเบิร์ต คลิตการ์ด ที่สรุปว่าคอร์รัปชั่นเกิดจากดุลยพินิจและการผูกขาด โดยขาดกลไกความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใส
นักวิชาการผู้นี้ ระบุว่า จึงมีข้อเสนอแนะให้ลดดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายเรื่อง เช่น กำหนดกรอบเวลาและจัดทำคู่มือพิจารณาใบอนุญาต อธิบายและเปิดเผยเหตุผลต่อสาธารณะกรณีไม่อนุญาต การจะแก้ปัญหาต้องเปิดเสรีและลดการผูกขาดเศรษฐกิจ เช่น เลิกโควต้านำเข้าสินค้าต่าง ๆ รวมถึงเลิกผูกขาดทางการค้า เช่น การค้าข้าว สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจให้ออกแบบขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดคอร์รัปชั่น
รวมถึงให้องค์กรแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ และควรให้การฟ้องร้องคดีสู่ศาลควรให้ผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง นอกจากนี้ยังควรแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐมากขึ้น เปิดให้สังคมเข้าตรวจสอบ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรมในโครงการขนาดใหญ่ แก้กฎหมายให้คดีคอรัปชั่นไม่มีอายุความ และให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD
ทั้งนี้ การจะหวังให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกลไกสร้างความเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่มีกลไกตรวจสอบ ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังจัดทำคู่มือประชาชนในการต้านคอร์รัปชั่น โดยจะเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และจัดพิมพ์แจกประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกลไกการเกิดคอร์รัปชั่น ผลเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ตลอดจนให้ประชาชนช่วยกันจับตาและมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า “คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรัง สร้างผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ” และยังเป็นปมใหญ่ของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการให้เร่งแก้ไขปัญหานี้
หากข้อเสนอแนะทางวิชาการดังกล่าวนี้เผยแพร่ในสาธารณชน ฝ่ายการเมือง ฝ่ายธุรกิจและภาคประชาชนที่นำไปใช้ จะสามารถกระตุ้นภาคปฏิบัติ เพื่อทำให้อันดับคอร์รัปชันโลก ประจำปีต่อ ๆไปของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ดีขึ้นหรือวูบลงในระดับโลก เพราะอันดับ 102 จาก 177 ประเทศในปีนี้ หลายคนก็เบือนหน้าหนี
เชื่อว่าข้อเสนอ“ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น” น่าจะเป็น 1 ในชุดทางเลือกในการปฏิรูปประเทศของภาคประชาชนในอนาคต เป็นสมการ คู่มือต้านคอร์รัปชั่น ตามที่ 2 อาจารย์บอกไว้