xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชี้ช่องเลื่อนเลือกตั้ง ดันทุรังวุ่นวายแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 19 ธ.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน นำโดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ร่วมกันแถลงข่าวถึงท่าทีและข้อเสนอ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อรัฐบาล และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ (กปปส.) โดยนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า กกต.เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และเห็นว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน หลังจากที่มีพระราชกฏษฏีกายุบสภาและกำหนด ให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 กลายเป็นประเด็นนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างอย่างรุนแรงในสังคมไทย
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการรักษาการ และควรมีการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรรักษาการควรมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 6-8 เดือน ตั้งสภาประชาชน ปฏิรูปกลไกลกฎหมาย แล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้งนี้ยังอยู่ไม่แก้ไข การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 อาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไปจนถึงอาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
กกต.เห็นว่า หนทางที่ดีในการคลี่คลายในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องประนีประนอมทางความคิด ไม่สุดขั้วในด้านใด ลดความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้อยู่ในจุดที่ยอมรับได้ เพราะไม่มีฝ่ายใดแพ้ หรือชนะ แต่จะเป็นทางออกให้ประเทศไทย ที่จะทำให้บ้านเมืองไม่เสียหาย โดยกกต.ยืนยันพร้อมทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 อย่างเต็มความสามารถ แต่ก็มีความเห็นว่า แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นไร เราไม่ควรให้วันที่ 2 ก.พ.มาเป็นตัวจำกัดโอกาสในการทำให้คนไทย เข้าใจ หรือทำความปรองดองกันไม่ได้ เราหวังว่าจะมีความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลืออกตั้ง ได้อธิบายถึงจุดยืนของกกต. ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเลือกตั้งที่มีความเรียบร้อยเป็นไปได้ยาก จากการประเมินสิ่งที่ทุกฝ่ายแสดงออก เชื่อว่าจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นพอสมควร เพราะนี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งหากฝ่ายรัฐ และกปปส.ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ก็อาจจะทำให้การเลอืกตั้งไม่มีปัญหาได้ และการพูดคุย อย่าเอาเงื่อนไขว่า จะต้องจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นข้อจำกัด โดยอาจจะคุยทำเป็นข้อตกลงกัน แล้วมีการเลือกตั้ง หรือคุยแล้วตกลงกันไม่เลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ก็ได้ ซึ่งถ้าคุยกันได้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ก็ต้องไปหาช่องทางทางกฎหมายในการดำเนินการ แต่หากที่สุดไม่สามารถคุยกันได้ หรือจะยืนยันให้จัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ต่อ กกต.ก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการศึกษาข้อกฏหมายเห็นว่า มีช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ ถ้าฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่า วันที่ 2 ก.พ. เป็นวันที่ไม่เหมาะสม
"ข้อเสนอของ กกต.วันนี้ เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราสะท้อนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้มีหน้าที่ตามฏหมายก็ต้องไปพิจราณา ยืนยันว่า มีช่องทางกฎหมายที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ ส่วนช่องทางจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีหน้าที่จะพิจราณา แต่ขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเกิดภัยพิบัติ เราก็สามารถเลื่อนการเลือกตั้งในบางหน่วยบางแห่ง แต่ขณะนี้มีปรากฏการณ์ทางสังคมแล้วตกลงกันไม่ได้เลย เลือกไม่ได้เลย มันต้องเลื่อนออกไป มันก็ทำได้หมด "นายสมชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้ว ประธาน กกต.พยายามตัดบทไม่ให้มีการซักถาม แต่เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามว่า การเลื่อนเลือกตั้ง จะทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าฝ่ายการเมืองไม่มีการเลือกตั้ง จะทำอย่างไร นายศุภชัย กล่าวว่า กกต.ไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้ง กฏหมายกำหนดให้ กกต. มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม เราเพียงสะท้อนสถานกาณ์ ถึงสถานกาณ์ที่จะเกิดขึ้น และกกต.ไม่มีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็จะถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 229 ได้กำหนดลักษณะพิเศษ ต้องวางตัวให้เป็น กลาง "เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราเสนอให้กลับไปคิด"
จากนั้น นายธีรวัฒน์ ได้กล่าวเสริมว่า ที่ กกต.มาแถลงเพราะเรามีจุดยืนที่ห่วงใยบ้านเมือง ถ้าเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ ของกกต.โดยตรงเราชี้ขาดไปแล้ว แต่กฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.ทำเองได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ไมเหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้ง หรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าว เหมาะสม ไม่เหมาะสม หรือไม่ คิดว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจ เพราะประเด็นนี้อย่าถามกกต. เพราะเราไม่อยากถูกดึงไปยังวังวนทางการเมือง และเมื่อถามต่อว่า กกต.อึดอัดใจใช่หรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า เราห่วงใยประเทศ เราอยากให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
ด้านนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจัดเวทีทางออกหลายครั้ง แต่สังเกตว่า ทุกเวทีที่จัดขึ้น มีฝ่ายหนึ่งไป อีกฝ่ายหนึ่งไม่ไป ซึ่งเราอยากให้ก่อนการเลือกตั้งมีการคุยกันของ 2 ฝ่าย และน่าเสียดายถ้า 2 ฝ่ายไม่ได้คุยกัน เรามั่นใจว่าเสียงสะท้องของ กกต.ในวันนี้ ทำให้คนต้องฟังบ้าง

**กกต.จังหวัด ยัน 14 จว.ใต้วุ่นแน่

ในวันเดียวกันนี้ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นประธานหน่วยงานสนับสนุนเพื่อเตรียมพร้อมจัดการเลืออกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ. โดยมี กกต.จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งปรากฏว่า ในการประชุมครั้งนี้กกต.จังหวัดต่างแสดงความกังวลกับความขัดแย้งทางการเมือง ขณะนี้ที่อาจทำให้การเลือกตั้งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
โดย นายวิศาล เพชรคง กกต.จว.ตรัง กล่าวว่า การเลือกครั้งนี้ทุกคนรู้ว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ โดยเฉพาะ 14 จว.ภาคใต้ ตนขอตั้งสมมุติฐานว่า จะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2549 คือหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพราะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ( กปน.) ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ มีการก่อความวุ่นวายบางหน่วย หน่วยที่เลือกตั้งประกาศแล้วใช้ไม่ได้ เช่น ประตูเลือกตั้งไม่เปิด ครั้งนี้คาดว่าน่าจะหนักกว่านั้นอีก ดังนั้นขอให้จัดตั้ง กปน.จากส่วนราชการ อย่าง กระทรวงมหาดไทย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
นายชัยเลิศ ภิญโญรัตนโชติ ประธาน กกต.จว.กระบี่ ในฐานะ กกต.ภาคใต้ กล่าวว่า กกต.ค่อนข้างเป็นเสือกระดาษ เรารู้ว่าเบื้องหลังการเลือกตั้งมาจากวิธีการที่หวานอมขมกลืน กกต.จว.รู้แต่ทำอะไรไม่ได้ ทำอย่างไรจะทำให้เป็นเสือจริง ๆ หากมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เจ้าหน้าที่ไม่ว่าตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องรับผิดชอบด้วย
พล.ท.ประเสริฐ หวานฉ่ำ ประธาน กกต.นครนายก กล่าวว่า จะมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 แล้ว แต่ไม่สบายใจ ที่ กกต.ให้สัมภาษณ์ยังไม่แน่ แล้ววันนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ เป้าหมายไม่ชัดเจน ไม่พุ่งตรง จึงอยากฝากไว้ และอีกเรื่องคือการเลือกตั้งคราวนี้ไม่ปกติ ในแต่ละพื้นที่อาจจะมีความผิดปกติแตกต่างกันออก ไม่ทราบว่าเตรียมแผนอย่างไรเพื่อเตรียมการเผชิญปัญหา เช่น วันรับสมัครมีคนมาก่อกวน เป่านกหวีด แต่ละจังหวัดจะทำอย่างไรให้เป็นไปในลักษณะคล้าย ๆ กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมยังมีการสะท้อนความเห็นจาก กกต.จว. บางคน ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประธาน กกต.ต้องเด็ดขาด ไม่ควรอ่อนซ้าย อ่อนขวาให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างการชุมนุม ทุกคนก็รู้ว่าพรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลัง

**ชี้ 22 ธ.ค. ม็อบบุกยึดรอบที่รับสมัคร

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ การรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อส่วนกลางจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่สุดสายป่าน มีแผนอยู่แล้ว เพื่อเตรียมการให้เรียบร้อยระหว่างวันที่ 23-27ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ไม่รู้วันที่ 23 ธ.ค.จะรอดหรือไม่ แม้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 จะยากเข็ญ แต่เชื่อว่าทุกคนจะทำงานเต็มความสามารถ
“ในทางข่าวทราบว่าผู้ชุมนุมมาแน่ตั้งแต่คืนวันที่ 22 ธ.ค. แต่คิดว่าคงเป็นการปิดถนน ไม่ให้สามารถเข้าไปในสถานที่รับสมัครคืออาคารกีฬาเวสน์ 2 ได้ เพราะถ้าไปล้อมสถานที่รับสมัคร ก็จะมีข้อกฎหมายบังคับอยู่ แต่เราก็ต้องทำให้เต็มที่ หากเข้าไม่ได้จริงๆ ได้มีการเตรียมสถานที่ไว้สำรองไว้แล้ว 4-5 แห่ง ซึ่งในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่ กกต. ก็ต้องเตรียมและออกประกาศในราชกิจจา เพราะต้องมีกฎหมายรองรับ”นายภุชงค์ กล่าว
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า หากในวันที่ 23 ธ.ค.รับสมัครไม่ได้เลย วันที่ 24 ธ.ค. คงไม่มีการจับฉลากแล้ว ถ้าพรรคการเมืองมาพร้อมกันเท่าใดก็ให้ตกลงกัน เรื่องหมายเลขสมัคร 54 พรรคการเมืองถ้าเข้ามาสัก 10 พรรค ก็ตามนั้น แต่ถ้าทั้ง 5 วันเปิดรับสมัครไม่ได้เลย หนีไปที่ไหนเขาก็ตามไป ไม่ได้ก็คือ ไม่ได้เลย กกต.ก็ต้องรายงานรัฐบาลเพราะรัฐบาลเสนอพระราชกฤษฎีกา ถามว่ากังวลใจไหม กังวลใจมากอยากให้เดินไปตามระบอบประชาธิปไตย.

"มาร์ค"ยันต้องเลื่อนวันเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการแถลงของ กกต. ที่เสนอให้ฝ่ายการเมืองไปหารือเกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้ง ว่า กกต.มีความเห็นสอดคล้องกับที่หลายฝ่ายออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งตนก็ได้เสนอแล้วว่า เป็นห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความวุ่นวายได้ ซึ่งจะเป็นความเสียหายกับระบบ ในส่วนตัวแทนนักธุรกิจ ก็ฟันธงว่าสังคมไม่เชื่อถือสัตยาบันของพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจของนักการเมืองเท่านั้นเอง พรรคภูมิใจไทย ก็ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย และ กกต.ก็ชี้ให้เห็นว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เริ่มต้นในการแสดงเจตนาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ตนในฐานะเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ยืนยันว่า การเลือกตั้งโดยยึดวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นปัญหาแน่นอน และจะทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ตนมั่นใจว่านักการเมืองในทุกพรรค ถ้าไม่ปฏิเสธความจริงน่าจะรู้สึกเหมือนกับตน พรรคภูมิใจไทย และ กกต. จึงอยากให้ทุกฝ่ายถอดความเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ถอดหมวกออกมาว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ทางการเมือง กล้าพูดหรือว่าเมื่อเดินไปสู่การเลือกตั้้ง 2 ก.พ.แล้วทุกอย่างจะเดินได้ ถ้าไม่กล้ายืนยัน วันนี้มาช่วยกันป้องกันไม่ดีหรือ เพราะ กกต.ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ถ้านักการเมืองเห็นตรงกันในเรื่องนี้ก็เป็นเสมือนฉันทามติ ที่จะทำให้รัฐบาลกับ กกต.ที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายจัดการเลือกตั้งมีเหตุผลพิจารณาว่าสมควรจะทำอย่างไร
ส่วนวิธีการต่างๆ จะต้องช่วยกันต่อไป อย่าได้เอาอะไรมาเป็นตัวตั้ง แล้วบอกว่าอะไรก็ทำไม่ได้ ปล่อยให้บ้านเมืองเดินเข้าสู่ความเสียหาย นี่คือสิ่งที่ตนอยากเรียกร้อง
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เห็นว่าสถาการณ์วันนี้ ไม่ใช่เรื่องจะส่ง หรือไม่ส่งผู้สมัคร เพราะทุกคนก็ยอกมรับว่า ต้องมีการเลือกตั้ง แต่เห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งที่ยังมีปัญหาหลายเงื่อนไข น่าจะไม่ราบรื่น จึงไม่ใช่เรื่องว่าจะลงสมัครหรือไม่ หรือปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เป็นภาวะการที่เรามองเห็นว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ น่าจะนำไปสู่ความเสียหายให้กับบ้านเมือง ทำไมพวกเราทุกคนไม่มาขจัดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความเสียหาย แล้วเปิดทางให้ร่วมกันแก้ปัญหา เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะปล่อยให้สถานการณ์ไหลไปสู่จุดที่ไม่พึงประสงค์ เท่ากับว่า นักการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายของประเทศ
ทั้งนี้ เห็นว่าการหาฉันทามติของพรรคการเมือง คงไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องดูว่า กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีแนวคิดหรือไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ แต่ถ้าพรรคการเมืองแสดงเจตจำนงเหมือนที่ตนแสดงในนามพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ก็แสดงท่าทีแล้ว พรรคอื่นก็ควรแสดงท่าทีถ้าพรรคหลักๆ เห็นด้วย คนคิดว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง
“มาช่วยกันหาทางออกดีกว่า โดยต้องทำอย่างเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการรับสมัครบัญชีรายชื่อ วันที่ 23ธ.ค. เพราะยิ่งล่าช้าออกไป ปล่อยให้เดินไปตามขั้นตอนเรื่อยๆ จะยิ่งมัดตัวเองจนปิดทางให้แคบลงเรื่อยๆ ซึ่งต้องถามพรรคพื่อไทย เพราะรัฐมนตรีบางคนยังบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ และสุดท้ายก็บอกว่าอาจไม่ลงสมัครด้วย แสดงว่ามีคนแสดงเจตนาไม่ลงสมัครกันแล้ว เป็นสิ่งเตือนว่าคนที่พยายามปลอกตัวเองว่าสถานการณ์ปกติจะก้ปัญหาให้บ้านเมืองไม่ได้ แต่ถ้ายอมรับว่าไม่ปกติ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ก็น่าจะมาร่วมกันหาทางออกได้ นายกฯมีหน้าที่ในฐานะนักการเมือง ผมคิดว่าถ้าท่านไม่หลอกตัวเอง ก็จะรู้ว่าที่ต้องเดินสายอยู่วันนี้ก็เพราะเลี่ยงสถานการณ์ผิดปกติ แต่ท่านหนีไม่ได้ และหากใครยังมาคิดถึงเรื่องความได้เปรียบในการเลือกตั้ง จากสถานการณ์นี้อยู่ก็แย่เต็มที หากเดินหน้าไปจนเกิดความรุนแรง คนที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายคือ นายกฯ และประธานกกต.”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ยิ่งลักษณ์ยังกั๊กขอถามกฤษฎีกาก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โดยหลักแล้วเป็นหน้าที่ของกกต. ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้มีการเลือกตั้งภายใน 40-60 วัน ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะเอาอำนาจหน้าที่ไหนไปดำเนินการ รัฐบาลเรายุบสภาไปแล้ว และพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งได้ออกมาแล้ว เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นผู้พิจารณา เพราะรัฐบาลต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า กกต.ให้รัฐบาลและ กปปส.ไปหารือกัน โดยระบุว่าไม่จำเป็นที่จะต้องยึดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. นายกฯกล่าวว่า คงต้องมีการหารือกับทางกฤษฎีกา เพื่อช่วยให้ความชัดเจนเพิ่มเติม เมื่อถามว่า ถ้ามีช่องทางรัฐบาลพร้อมที่จะทำหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หน้าที่หลังมีพระราชกฤษฎีกา ต้องเป็นของกกต.ที่จะต้องดำเนินการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐบาล ฉะนั้นการที่จะส่งคืนมายังรัฐบาลเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาอำนาจส่วนไหนมา ซึ่งเราได้ทูลเกล้าฯ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาออกมาแล้ว
เมื่อถามว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง คิดว่าหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คงไม่ตอบตรงนั้น เพราะทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม พยายามบนหลักของความเข้าใจ และเวทีต่างๆ ก็เปิดกว้าง ขอร้องผู้ชุมนุมเพราะสิ่งที่เราเป็นห่วง ถ้าเราไม่มีกติกาเลยแล้วประเทศจะเดินอย่างไร วันนี้เรามีระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญมีกติกา ให้คนทั้งประเทศปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ยึดกติกาเลยยกเลิกหมด จะตอบนานาประเทศอย่างไร นี่คือสิ่งที่เป็นคำถามมากว่า ไม่ใช่คำถามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือเปล่า แต่เราจะยึดเอากฎหมายอะไรมาใช้สำหรับประเทศตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันหาทางออก เราเข้าใจในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ต้องขอความกรุณาว่าบนหลักที่เราสามารถปฎิบัติได้ เพราะว่าวันนี้เวทีของฝ่ายวิชาการพยายามที่จะคุยกันอยู่ ขอเวลาให้ทางนั้นได้พูดคุยกัน
เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ส่งผู้สมัครลงในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อที่จะให้กกต.มีอำนาจในการขยายเวลาเลือกตั้งออกไป นายกฯยิ้มและตอบว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามพรรคการเมือง เพราะโดยหน้าที่ของนักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทุกคนก็ต้องไปเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น