xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารสื่อขานรับปฏิรูปฯ ต้องไม่กลัว-ไม่เป็นขี้ข้าทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18ธ.ค.) มีการจัดเวทีระดมความเห็น "สถานการณ์การเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง สถานการณ์การเมืองและการปฏิรูปประเทศไทย โดยบรรณาธิการสื่อมวลชนหลายสำนักได้ให้มุมมองขององค์กรวิชาชีพต่อจุดยืนในสถานการณ์ขณะนี้ ว่าสื่อต้องกำหนดท่าทีและจุดยืนที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้าน รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้กลุ่มที่ขัดแย้งได้เจรจาหาข้อตกลงกัน ขณะเดียวกันสื่อต้องยึดมั่นในวิชาชีพ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เจ้าขององค์กรที่อาจไม่เข้าใจในจรรยาบรรณด้านนี้ได้ตระหนักเห็นความสำคัญ และสื่อจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยนายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาคมวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นความท้าทายของสื่อกระแสหลัก 36 องค์กรวิชาชีพ ที่จะกลับมามีบทบาท ทำให้สังคมเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองอย่างถ่องแท้รอบด้าน เที่ยงธรรม เพราะปัจจุบันสื่อใหม่มีอิทธิพลในการชี้นำทางสังคม ซึ่งการแสดงจุดยืนถือเป็นเรื่องรอง
นายวิวัฒน์ จันทรสุวรรณโณ รองหัวหน้าแผนกข่าวในประเทศ ททบ.5 มองว่า สื่อหลักต้องเป็นตัวยืน ในการนำเสนอข่าวสาร แต่ปัญหาคือ สื่อ โซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาท และล้ำหน้าสื่อหลักไปแล้ว เข้าถึงคนมาขึ้น ทำให้สังคม รับสารจากสื่อหลักน้อยลง ดังนั้นจึงต้องทบทวนว่า สื่อหลักจะทำอย่างไรในการนำเสนอข้อเท็จจริง ให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น
นายสำราญ ฉัตรโท รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าว ช่อง 3 มองว่า การปฏิรูปประเทศเป็นคำตอบระยะต้น เพื่อหาทางออกประเทศ ซึ่งวิกฤตประเทศเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ก้าวข้ามประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการนำเสนอให้สังคมรับรู้และเข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องสร้างกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ต้องแยกประเด็นปัญหาให้ออก หากทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ หรือรัฐประหาร เพราะกระบวนการการมีส่วนร่วมถือเป็นแก่นแท้ที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาภายใต้ ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นสื่อควรกำหนดบทบาทความเป็นกลาง ในสถานการณ์ที่จะปฏิรูปประเทศ ว่าจะเสนอข่าวอย่างไรให้ประเทศหลุดพ้นวิกฤติไปได้
นายคฑาธร อัศววิรัฐติกรณ์ ตัวแทนช่อง 7 เห็นว่า บทบาทของสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อแรงกดดันให้การชุมนุมเป็นไปตามกรอบความสันติ ขณะเดียวกันเสนอให้สื่อเป็นคนกลางประสานให้เวทีปฏิรูปประเทศของรัฐบาลและเวทีสภาประชาชน มาหารือผนวกรวมกัน โดยต้องไม่เปลี่ยนแปลงโมเดลของทั้ง 2 เวที
นายอาคม เรือนแก้ว ตัวแทนช่อง 9 มองว่า ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ต้องทบทวนตัวเอง สื่อต้องทบทวนตัวเองด้วย รวมถึงนักวิชาการ คณาจารย์ ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในการนำเสนอข่าวสาร และการเสนอข้อเท็จจริงจำต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และผลที่จะตามมา โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งสื่อมีบทบาทสำคัญต่อการนำเสนอข่าวสาร
นายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยอมรับสื่อหนังสือพิมพ์ มีบทบาทความสำคัญลดน้อยลง หากเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดีย แต่สื่อใดยิ่งมีอำนาจมากที่สุดก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเช่นกัน ดังนั้น การเสนอข่าวจึงต้องยึดมั่นบนพื้นฐานความเป็นจริง โดยไม่ต้องกลัวและมีอคติ แต่ยอมรับว่าการพูดเป็นเรื่องง่ายแต่การกระทำ ทำได้ยาก เช่นเดียวกับคำว่า ปฏิรูป ที่ใครๆก็พูดได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ
นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เชื่อสังคมคาดหวังว่า องค์กรวิชาชีพสื่อจะมีความเห็นต่อวิกฤติทางการเมืองขณะนี้อย่างไร ดังนั้นแต่ละองค์กรสื่อ ควรแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ต้องทำทันที โดยไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะต้องปฏิรูปประเทศก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตน์วิสุทธิ์ ตัวแทนสำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อหลัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ให้พื้นที่และเวลาต่อการรายงานสถานการณ์ น้อยเกินไป เนื่องจากยังติดขัดในช่วงเวลาของรายการที่ทำรายได้ให้กับสถานี
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในที่ประชุมตึงเครียดเล็กน้อย ระหว่างการให้ความเห็นของนายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ต้องมีจรรยาบรรณ และจริยธรรมของวิชาชีพ และต้องทำหน้าที่รักษาวิชาชีพตัวเองด้วย ซึ่งการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นอาชีพที่มีผลบวก และลบในสังคม ที่อาจจะนำมาสู่ความเสียหายหรือ ประโยชน์ให้กับประเทศ เพราะสื่อไม่ได้ทำหน้าที่แค่เสนอข่าวสาร และต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำหน้าที่ของสื่อในการถ่ายทอดข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูล ที่ปราศจากความเป็นจริง ภายใต้จรรยาบรรณสื่อ ดังนั้น สื่อต้องทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ ลุกออกจากห้องประชุมทันที ภายหลังให้ความเห็นเสร็จสิ้นเนื่องจากไม่พอใจที่มีการจำกัดเวลาการให้ความเห็น ทำให้ไม่สามารถได้ข้อสรุปในประเด็นปัญหา ที่ถกเถียงกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น