ในภาวะการเมืองเข้มข้นที่กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังผู้มีอิทธิพลในฐานะสื่อที่ผู้คนในสังคมต่างติดตามได้เลือกที่จะนำเสนอข่าวแพนด้าเป็นประเด็นข่าวสำคัญ นำมาซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนเจ้าตัวทนไม่ได้ถึงขั้นบอกว่า “ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง”
จุดให้กระแสตีกลับต่อการทำหน้าที่สื่อของสรยุทธมากขึ้น กลายเป็นคำถามย้อนกลับไปว่า “ใครกันแน่ที่เป็นเหยื่อ?”
จากการทำหน้าที่ที่ผ่านมาในฐานะ “นักเล่าข่าว” ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดกระแสเปลี่ยนแปลงวงการข่าว กระทั่งความนิยมพุ่งสูง ส่งให้เขามาอยู่แถวหน้าในฐานะนักเล่าข่าวระดับประเทศ สิ่งนี้เองที่ทำให้หน้าที่ในการคัดเลือกประเด็นข่าวมาเสนอในแต่ละวัน ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความคิดของเขาที่แฝงอยู่ในข่าวก็ยิ่งถูกเผยแพร่เข้าสู่คนดูไปโดยไม่รู้ตัว
และแล้วเมื่อถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ หลายคนมองว่า สรยุทธไม่สามารถทำหน้าที่สื่อได้อย่างที่ควรจะเป็น จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามย้อนไปถึงสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิต หรือที่ผ่านมาคนดูต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของสรยุทธ?
เสนอข่าวแต่ผิดช่วงเวลา
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงการชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามติดมาด้วยการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนถึงข้อเสนอสภาประชาชน แม้บรรยากาศในการชุมนุมจะคลาคล่ำไปด้วยมวลมหาประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่ในพื้นที่สื่อมากมายกลับยังคงดำเนินรายการตามปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
กระทั่งผู้ชุมนุมเดินหน้าทวงถามถึงบทบาทจากหลายองค์กรสื่อ รวมไปถึงการทำหน้าที่ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในครั้งนั้นเจ้าตัวได้ร่วมเป่านกหวีดเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการร่วมเป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คาดหวัง เมื่อเนื้อหารายการยังคงไม่ได้ให้พื้นที่ข่าวในส่วนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร
ต่อการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า ส่วนหนึ่งมีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ทำให้สื่อหลักในฟรีทีวีที่ต้องทำตัวเป็นกลางทำหน้าที่ได้ยากขึ้น ประกอบกับตัวสรยุทธเองนั้นถือว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและได้รับความนิยมสูงจึงได้รับความคาดหวังมากเป็นพิเศษ
“ตอนนี้ต้องบอกว่าเมืองไทยแบ่งกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ชุมนุมในแต่ละฝ่ายก็จะมีมุมมองของตัวเอง รับสื่อที่แตกต่างและพอมาเป็นสื่อกระแสหลักมันก็ต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีความสมดุลในข้อมูลข่าวสาร มันทำให้ทำงานค่อนข้างลำบาก เพราะผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายก็คาดหวังว่ามาชุมนุมแล้วก็อยากให้พื้นที่ของตัวเองไปอยู่ในหน้าข่าว การเล่าข่าวมันจะมีลักษณะความคิดเห็นของคนเล่าเข้าไปด้วย ซึ่งเท่าที่ดูอย่างคุณสรยุทธบางที ก็เห็นถึงความพยายามของเขาที่ไม่เอาอารมณ์เข้าไปใส่เยอะ แต่ในเรื่องของการลำดับข่าว การจัดวาระของข่าวมันอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองนัก ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนมีอคติอยู่แล้ว ทำให้มองว่านักเล่าข่าวมีการเซตประเด็น”
สอดคล้องกับความคิดของ สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาประชาสัมพันธ์และการสื่อสารสงค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่มองว่าสรยุทธนั้นมีแฟนรายการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเขาได้อธิบายถึงการจัดลำดับข่าวในช่วงที่ผ่านมาของสรยุทธว่า มีนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของกปปส.มากขึ้น แต่อยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่แปลกๆ
“ต้องบอกว่าในช่วงต้นของการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส.มีข่าวน้อยมาก แต่ในช่วง 2 อาทิตย์หลังมานี้ตั้งแต่มีชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในตัวของเนื้อหาข่าวของกปปส.จะมีค่อนข้างเยอะ แต่จะถูกวางไว้ในช่วงต้นของรายการประมาณช่วง 6 - 7 โมงเช้า และช่วง 8 โมงที่เป็นช่วงพีกสุดของรายการอาจจะมีการนำเสนอข่าวในลักษณะอื่นแทน”
โดยสิงห์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการวางจังหวะช่วงเวลาในการนำเสนอข่าวจะมีช่วงเวลาที่คนดูเยอะที่สุด ซึ่งประเด็นข่าวที่ถูกนำเสนอในช่วงเวลาดังกล่าวจะถือว่า เป็นเรื่องสำคัญของวันนั้น ดังนั้น เขาจึงมองว่าอาจมีการวางช่วงของรายการที่ผิดแปลกไปบ้าง
“การวางช่วงเวลาที่กปปส.ข่าวมา 6 - 7 โมงช่วงเวลานั้นคนดูยังไม่ลุกขึ้นมาดูทีวีไงครับ แต่จะเป็นไปด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจที่จบข่าวกปปส.แล้วต่อด้วยรัฐบาลเพื่อให้น้ำหนักเท่าๆ กัน กลับกลายเป็นว่าช่วงเวลาของรัฐบาลเป็นช่วงที่คนรับชมมากกว่า ต้องดูว่าการจัดช่วงเวลาของรายการว่าเป็นอย่างไร”
ทว่าถึงตอนนี้ จากการได้ดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ในวันที่ผ่านมา เขาเห็นว่าในรายการมีการจัดให้ข่าวของกปปส.อยู่ในช่วงที่คนดูมากที่สุดอยู่ด้วย
“ช่วงเวลาหลังจากชัตดาวน์กรุงเทพฯ ช่วงพีกของรายการเป็นข่าวกปปส.ด้วยซ้ำ แต่ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงของรายการผู้ชมได้ชมจบหรือเปล่า เพราะพฤติกรรมของผู้ชมทั่วไปของคนในประเทศไทยพอถึงช่วงข่าวที่ตัวเองไม่สนใจเขาก็จะเปลี่ยนช่อง มันกลายเป็นเขาไม่ได้ดูสิ่งที่ต้องการจะดู”
อย่างไรก็ตาม การกดดันของประชาชนที่มีต่อสื่อนั้นต้องบอกว่า ส่งผลให้ท่าทีในการลำดับประเด็นข่าวของสรยุทธเปลี่ยนแปลงไปด้วย สิงห์มองว่า เป็นจุดที่อันตรายซึ่งจะแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนซึ่งควรจะมีอิสระ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผศ.พิจิตรา เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สื่อทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีขึ้น โดยเธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เพียงกลุ่มการเมืองเท่านั้นที่จะจับตามองสื่อ หากแต่กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มที่ทำงานด้านครอบครัวหรือเด็กก็สามารถร่วมกันจับตาดูการทำงานของสื่อได้
“เราไม่มองแต่รายการสรยุทธเท่านั้น เวลาสื่อทำหน้าที่ สื่อใช้พื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นสื่อต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองจะนำเสนอ เนื้อหาข่าวน่าจะมีผลกระทบในเชิงของผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นที่คนจับตามองก็ดี ถือว่าสังคมไทยก็เติบโต มีกลุ่มก้อนต่างๆ ไม่ว่าจะกลุ่มการเมือง กลุ่มใดๆที่จับจ้องสื่อในการทำหน้าที่”
รายการข่าวที่ไม่ใช่ข่าว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหากมองรูปแบบรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ของสรยุทธในแง่ของการเป็นรายการยอดนิยมรายการหนึ่ง รวมทั้งเป็นรายการเล่าข่าวรูปแบบรายการก็ดูจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง ต่างจากการรายการข่าวทั่วไป จนกระทั่งเมื่อรายการมีเวลาออกอากาศยาวถึง 2 ชั่วโมง สัดส่วนของการแสดงโชว์จึงมีมากขึ้นจนบางครั้งเส้นแบ่งของการเป็นรายการข่าวกับรายการวาไรตี้บันเทิงแทบจะหายไป
สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การคนเดิมมองว่า ถึงตอนนี้รายการของสรยุทธไม่ใช่รายการข่าว หากแต่เป็นรายการกึ่งวาไรตี้ที่มีการพูดถึงข่าวเท่านั้น
“ณ ปัจจุบันรายการสรยุทธอาจจะไม่ใช่รายการข่าวแล้ว อาจจะเป็นรายการกึ่งวาไรตี้ด้วยซ้ำแต่มีลักษณะของการนำข่าวมาพูดถึง ซึ่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่า ประชาชนจะต้องมีการแยกแยะตรงนี้ให้ได้ด้วย ปัจจุบันคนมองว่ารายการเล่าข่าวเป็นรายการข่าวอยู่ ทำให้นักเล่าข่าวเล่าข่าวได้อย่างสื่อมวลชน ตรงนี้ผมมองว่าเป็นปัญหา”
โดยปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้น เขามองว่า การเล่าข่าวที่แทรกเอาความเห็นของนักเล่าข่าวเข้าไปในเนื้อเดียวกันนั้น คนส่วนใหญ่จะแยกข้อเท็จจริงกับความเห็นออกได้ยาก
“ตรงนี้จะมีส่วนในการชี้นำ มันถูกรวมเข้ามาด้วยกันในการเล่าข่าว มันถูกนำเสนอแบบรวมๆกัน และในการเล่าข่าวคุณสรยุทธใช้เทคนิคในการเล่าข่าวในลักษณะใช้น้ำเสียงหรือเรื่องราวในการกระตุ้นความสนใจ ในน้ำเสียงจะมีการเน้นในเรื่องนั้นๆมีความน่าสนใจ”
โดยเขาอธิบายว่า นักเล่าข่าวกับสื่อมวลชนแตกต่างกัน โดยสื่อมวลชนมีหน้าที่บอกข้อเท็จจริงเท่านั้น ขณะที่นักเล่าข่าวจะใส่ความเห็นได้ ดังนั้นถ้ามีการแยกให้ชัดเจนในอนาคตก็จะเห็นว่าจรรยาบรรณนักเล่าข่าวก็จะแบบหนึ่ง สื่อก็จะแบบหนึ่ง
“ยิ่งตอนนี้คุณสรยุทธเองก็มีปัญหากับสมาคมนักข่าวอยู่ ทางสมาคมเองก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ กับสรยุทธได้ ดังนั้นจรรยาบรรณสื่อก็ไม่สามารถจะเข้าไปควบคุมได้อีก สิ่งที่ควบคุมได้อยู่ในลักษณะของแรงกดดันทางสังคมเท่านั้น ซึ่งตอนนี้กปปส.พยายามที่จะใช้แรงกดดันตรงนี้ทำให้สรยุทธทำงานตามที่ควรจะเป็นในฐานะของสื่อมวลชน ไม่ใช่ในฐานะของผู้เล่าข่าว”
จรรยาบรรณนักเล่าข่าว
จากเรตติ้งที่สูงอย่างต่อเนื่องของรายการของสรยุทธ ต้องยอมรับว่า เขามีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อรูปแบบรายการของเขาเป็นรายการเล่าข่าวที่มีการเสมอข้อเท็จจริงไปพร้อมกับความคิดเห็นของเขาก็ยิ่งทำให้เขามีความน่าเชื่อถือ
ผศ.พิจิตรา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ตามทฤษฎีการทำรายการข่าวเช้าคือการเอาเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดของวันก่อนมานำเสนอเท่านั้น
“มันจะไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรมากนัก เพราะมันยังไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นและเท่าที่เห็นคุณสรยุทธเองเขาก็พยายามทำหน้าที่ด้วยการถ่วงดุลข่าวมีวาระข่าวสารมีเรื่องราวของข่าวและค่อนข้างระวังตัวมากด้วย”
เมื่อมองถึงการทำหน้าที่ของสรยุทธในช่วงที่ผ่านมาในมุมมองของเธอ เห็นว่า สรยุทธสามารถทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ทว่าการทำข่าวในช่วงวิกฤติการเมืองนั้น เธอมองว่า การเล่าข่าวโดยการใส่ความเห็นเข้าไปนั้นเป็นเพียงสีสันที่ไว้ขายข่าวในเชิงพาณิชย์แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่คนในสังคมต้องการจริงๆก็คือ ข้อเท็จจริงมากกว่า
“นักเล่าข่าวควรใส่ความเห็นให้น้อยที่สุด คือแน่นอนว่า สรยุทธเขาทำข่าวเป็นเชิงพาณิชย์ มันจะมีความดรามาต้องการจะกระชากเรตติ้ง แต่หลายอย่างพิสูจน์แล้วว่า พอถึงวิกฤตความดรามา การใส่ความเห็นเข้าไปมันไม่ยั่งยืน สิ่งที่ประชาชนต้องการคือข้อเท็จจริง ดังนั้นคิดว่า นักข่าวเอง คนเล่าข่าวเองเขาก็รู้อยู่แล้ว ในเชิงสื่อพาณิชย์มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการจะคอมเมนต์อะไรต่างๆ ดังนั้นอาจจะทำให้น้อยที่สุด อย่างเรื่องการเมืองตอนนี้มันแรง คนแบ่งฝ่าย แค่นำเสนอให้สมดุลไม่ต้องใส่ความเห็นเลยก็ยากแล้ว”
….
การทำหน้าที่นักเล่าข่าวที่ถูกตั้งคำถาม แม้ด้านหนึ่งอาจถูกมองว่าคุกคามสื่อ หากทว่าการทำหน้าที่สื่อให้สมบูรณ์ขึ้นนั้นก็เป็นวิถีทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว การที่ประชาชนหันมาตั้งคำถามกับบทบาทที่วางตัวอย่างนักเล่าข่าวที่ชี้นำสังคมมาโดยตลอดของสรยุทธอาจเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปสื่อในภาพใหญ่ของสังคมไทยก็เป็นได้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE