xs
xsm
sm
md
lg

กปปส. กับ ปชป. ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ***


ในความเห็นของผม “การปฏิรูปประเทศ” ควรเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่เอาเครื่องมือเข้าสู่อำนาจเป็นหลัก

เพราะมีคนเห็นด้วยจำนวนมากขึ้นแล้วว่าบ้านเมืองจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง และสงครามประชาชนจะไม่เกิดหากประชาชนรับรู้ได้ว่าถ้าปฏิรูปแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรแก่คนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน

และการปฏิรูปประเทศจะเกิดได้จากคน 2 กลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถเป็น “เครื่องมือ” ที่นำไปสู่การปฏิรูปได้คือ

1. คนที่มีอำนาจรัฐเดิมในปัจจุบัน หรือ 2. ผู้จะมีโอกาสมีอำนาจรัฐในอนาคต

สำหรับตัวผมไม่ควรปิดช่องทางเครื่องมือที่จะใช้ในการปฏิรูปอันไหนเลย หากเครื่องมือนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง

หากผู้ชุมนุมชูประเด็นการปฏิรูปเป็นหลักชัย เช่น การทำให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ, การปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์คนไทย 65 ล้านคน, การกระจายอำนาจบริหาร งบประมาณ และการตรวจสอบลงสู่ท้องถิ่น, การปรับโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติให้สามารถถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารได้จริงในทางปฏิบัติ ฯลฯ

การชูประเด็นประโยชน์ประชาชนเป็นเป้าหมายล้วนแล้วแต่เป็นความจำเป็นที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปได้จริง ถ้าสังคมเห็นพ้องเกิดกระแสสูงอย่างเป็นเอกภาพ เครื่องมือที่ใช้ก็จะมีมากขึ้น เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบัน หรือผู้จะมีโอกาสมีอำนาจรัฐในอนาคต ต่างก็ต้องปรับตัวมากขึ้น ไม่มากก็น้อย

จริงอยู่ที่ว่าการคาดหวังจากผู้ที่มีอำนาจรัฐ และผลประโยชน์ปัจจุบันในระบอบทักษิณจะมาปฏิรูปประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะขาดความไว้วางใจในสิ่งที่ทำในอดีต และหากปล่อยให้มีการปฏิรูปในมือคนเหล่านี้ก็จะสนใจแต่กระชับอำนาจตัวเองให้มากขึ้นไปอีก

แต่คำว่า “ยาก” หรือ “แทบ” เป็นไปไม่ได้ก็ยังไม่ถึงกับหมดโอกาส เพราะแม้แต่การถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, การขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืน พร้อมขอพระราชทานอภัยโทษ ยังเกิดขึ้นมาแล้วกับระบอบทักษิณ ทั้งๆ ที่หลายคนเชื่อว่า “เป็นไปไม่ได้” ก่อนหน้านี้ ทางเลือกนี้จะเกิดได้เพราะอำนาจรัฐปัจจุบัน “เสียสละ” เพื่อรักษาเสถียรภาพอำนาจตัวเองในอนาคต หากฝ่ายระบอบทักษิณใคร่ครวญแล้วว่า “มีอำนาจและผลประโยชน์น้อยลงแต่มีเสถียรภาพมากขึ้น ดีกว่า มีอำนาจและผลประโยชน์มากแต่ไม่มีเสถียรภาพเลย” ถ้าคิดได้เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่าน และสามารถปฏิรูปประเทศได้อย่างสันติวิธี และไม่มีการสูญเสียเลย

แต่เมื่อเครื่องมืออำนาจรัฐปัจจุบัน เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ และเป็นที่ไว้วางใจได้ยาก หลายคนจึงมาตั้งความหวังที่ “ผู้ที่จะมีโอกาสมีอำนาจในอนาคต” ที่มีความเป็นไปได้มากกว่า เช่น ฝ่ายค้านเสนอนโยบายการปฏิรูปผ่านการเลือกตั้ง, กปปส.ที่พยายามจะสถาปนาอำนาจรัฐ ผ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ 7, กองทัพที่อาจคิดรัฐประหาร, นายกฯ พระราชทาน หรือนายกฯ คนกลางเมื่อเกิดสุญญากาศ, พรรคการเมืองทางเลือก ฯลฯ

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ผมมองเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อเข้าไปปฏิรูปการเมืองให้ได้ทั้งสิ้น และไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด และไม่ควรจะตัดทิ้งทางเลือกไหนเลย เพียงแต่ต้องพิจารณาว่า

1. เครื่องมือใดที่จะมีความเป็นไปได้ในการเข้าสู่อำนาจรัฐได้จริงมากที่สุด? และ
2. เครื่องมือนั้นเมื่อเข้าสู่อำนาจรัฐแล้วจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยได้จริงหรือไม่?

จริงอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกหนึ่งในระบบที่อาจจะเสนอนโยบายการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมใช้ในการหาเสียงสำหรับเลือกตั้งได้

แต่ในความเป็นจริง การปฏิรูปหลายเรื่องจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องแก้ไขกติกาในการเลือกตั้งเสียก่อน เพราะระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันก็มีปัญหาอยู่มาก ขาดความหลากหลาย (ขาดตัวแทนตามสาขาอาชีพ สังคม ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง) จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสียก่อน ถ้าไม่สามารถแก้กติกาก่อนได้ ฝ่ายเสนอนโยบายปฏิรูปจะไม่สามารถเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อการปฏิรูปได้จริงเลย

และต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยมีอำนาจรัฐมาถึง 2 ปี แม้มีการตั้งคณะการปฏิรูปฯ แต่กลับไม่สานต่อใด และยุบสภาไปก่อนโดยที่ไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรเลย เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ประชาชน 65 ล้านคน, ความคิดเรื่องการปฏิรูปภายหลังจากที่ไม่มีอำนาจแล้วจึงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถึงเวลานี้มวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนแล้ว

ฝ่ายหนึ่งยืนหยัดจะลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยังเชื่อว่าดีกว่าปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจ

อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าประชาธิปัตย์ไม่ควรส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะเท่ากับเป็นการบั่นทอนเป้าหมายของ กปปส.ในการสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ และเท่ากับรับรองการเลือกตั้งในระบบปัจจุบันโดยปราศจากการปฏิรูปก่อน จึงเท่ากับส่งเสริมระบอบทักษิณให้เข้มแข็งขึ้น

การดำรงสภาพเครื่องมือของ กปปส. กับการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นความขัดแย้งกันเองที่จะบั่นทอนทั้ง กปปส. และประชาธิปัตย์ คือ กปปส.มวลชนอ่อนแรงแตกแยก ประชาธิปัตย์คะแนนเสียงแตก ไปโดยปริยายจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถ้าสภาพเป็นอย่างนี้ต่อไปจะสร้างความชอบธรรมในระบอบทักษิณมากขึ้นหลังการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

เว้นเสียแต่ กปปส. หรือไม่ก็ ประชาธิปัตย์ ต้องเสียสละ ให้เหลือเส้นทางเดียวเท่านั้น

เส้นทางที่เป็นไปได้มากที่สุดเท่านั้น!!!

คือ 1. กปปส.ยอมเสียสละ เพราะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของตัวเองถึงทางตัน หรือ 2. ประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มายืนเคียงข้าง กปปส. เพราะเห็นว่าการเข้าสู่การเลือกตั้งในระบบปัจจุบันเป็นทางตันที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และจะสร้างความชอบธรรมให้ระบอบทักษิณมากขึ้น

1. กปปส.ยอมเสียสละ เพราะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของตัวเองถึงทางตัน

เช่น การเสนอให้พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ทำสัญญาประชาคมการปฏิรูปให้เป็น “รูปธรรม” ตามข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน เช่น คดีทุจริตไม่มีอายุความ, ปฏิรูปพลังงาน ทวงผลประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชน, เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติให้สามารถถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารได้จริง เปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต้องกำหนดระยะเวลาให้เป็นรูปธรรม และเป็นจริงก่อนให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ดังนั้น ควรสนใจ “เนื้อหา” การปฏิรูป มากกว่า “รูปแบบ” การปฏิรูป แล้วยุติการชุมนุมไปเป็นข้อแลกเปลี่ยน

ถ้าพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ยินดีจะทำสัญญาประชาคม ก็ถือว่าเราได้ผูกมัดรัฐบาลชุดหน้าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แม้หลายคนอาจไม่เชื่อถือนักการเมืองเหล่านี้ แต่การตระบัดสัตย์จากข้อผูกมัดนี้จะเป็นเงื่อนไขในความชอบธรรมในการชุมนุมยิ่งกว่านี้อีก

ซึ่งจะว่ากันตามจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ชูกระแสปฏิรูปก็คงไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็คงเลือกพรรคประชาธิปัตย์

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่ยินยอมก็แปลว่า พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องเสนอเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปแทน

ถ้า กปปส. เสียสละ ก็แปลว่าต้องทิ้งเรื่อง “รูปแบบ” สภาประชาชน และรัฐบาลประชาชน ไปก่อน แล้วฝากการปฏิรูปผ่านพรรคการเมืองที่เป็นไปได้มากที่สุด

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นการเคลื่อนไหวที่นำโดย คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.อาจสิ้นสุดลงไปด้วย เพราะอาจมีมวลชนบางส่วนคิดว่าที่ทำมาทั้งหมดก็เพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจเท่านั้น หมายความว่า การต่อสู้ภาคประชาชนที่มีมวลชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ภายใต้การนำของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจสิ้นสุดลง หรือไม่สามารถมีใครทำได้เช่นนี้อีก!!!

เว้นเสียแต่ว่า คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จะสามารถอธิบายให้มวลชนเข้าใจ และยอมรับได้ในแนวทางนี้!!

หลังจากนั้น ทุกคนหันมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูป โดยต้องเสนอ “เนื้อหา” ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะถ้ามัวสนใจแต่ “รูปแบบ” สุดท้ายเนื้อหาการปฏิรูปอาจไม่ได้ตามที่ต้องการ และอาจกลายเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองอีก

ความเสี่ยงสูงสุดประการหนึ่งในการเลือกทางนี้คือ ถ้าเทน้ำหนักให้พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายเดียวเมื่อไหร่ แปลว่ายอมรับระบบการเลือกตั้ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้งในระบบนี้อีก การปฏิรูปที่ผูกไปกับพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจพ่ายแพ้ไปด้วย และอาจถูกตีความว่าหมดความชอบธรรมไปด้วย ตรงนี้จึงควรเป็นข้อพึงพิจารณาอย่างยิ่ง

2. ประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. มายืนเคียงข้าง กปปส. เพราะเห็นว่าการเข้าสู่การเลือกตั้งในระบบปัจจุบันเป็นทางตันที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และจะสร้างความชอบธรรมให้ระบอบทักษิณมากขึ้น

ตรงนี้แปลว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องไม่ส่ง ส.ส. เพื่อตอกย้ำภาพการเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งที่จะมีแต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยฝ่ายเดียวเป็นหลัก และถ้าจะทำเรื่องนี้ยังต้องมีภารกิจสำคัญคือ ต้องใช้การ “กดดันนอกสภา” เท่านั้น ถ้าไม่ใช่เพื่อให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยอมปฏิรูปตามที่ภาคประชาชนต้องการ หรือไม่ก็ต้องคิดทำ “ปฏิวัติประชาชน” เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐแทน ซึ่งในประการหลังไม่ใช่วิสัยของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นมาก่อนจึงอาจต้องปรับเครื่องมือให้มีความสอดคล้องกัน

ในหลักการนี้จะมีความชอบธรรมเมื่อประกาศยอมรับว่าการเลือกตั้งระบบนี้ก่อนการปฏิรูปจะนำไปสู่ “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” จึงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้ และหากมีการเลือกตั้งก็ควรรณรงค์ให้ประชาชน “ปฏิเสธการเลือกตั้ง” ครั้งนี้

อาจรวมถึงการรณรงค์เรียกร้องอารยะขัดขืน ไม่ให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง หรือเรียกร้องให้ กกต.ลาออก เพื่อหยุดการเลือกตั้งที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงกติกาก่อน และหากมีการเลือกตั้งก็ให้ประชาชนแสดงออกด้วยการปฏิเสธการเลือกตั้งในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

การปฏิเสธ “การเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป” แม้ผลการเลือกตั้งในระบบนี้ของพรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมาก แต่ความชอบธรรมของประชาชนที่ชุมนุมอยู่นอกสภาฯ ก็จะยังมีความชอบธรรมอยู่เพราะอาจถือว่า ถ้าการเลือกตั้งหลังการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยอาจไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างที่เป็นอยู่

แต่ถ้าจะเลือกหนทางนี้ ลำพังการเคลื่อนไหวมวลชนเชิงสัญลักษณ์ไปตามสถานที่ต่างๆ ก็อาจไม่เพียงพออีกต่อไป และต้องเน้นการใช้มวลชนเพื่อการปฏิบัติการมากขึ้น และให้ “การปฏิบัติการมวลชน” เป็นตัวกำหนดท่าทีกองทัพให้เลือกข้าง

ต้องไม่ลืมว่าการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย. 56 และวันที่ 9 ธ.ค. 56 มีการระดมมวลชนมามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังอยู่ในระดับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่ามวลชนเพื่อปฏิบัติการ จึงทำให้รัฐบาลที่มีภูมิต้านทานสูง หน้าด้านหน้าทนเพิกเฉย และกองทัพก็ไม่มีแรงกดดันใดๆ เพราะเลือกที่จะเป็นคนกลางที่ถือดุลอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มตัวเองเท่านั้น

ตอนนี้เหลือเวลาไม่มาก แต่จำเป็นต้องตัดสินใจให้เป็นเอกภาพทางใดทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้น กปปส. และประชาธิปัตย์ จะพ่ายแพ้ทั้งคู่ และอาจทำให้ประเทศไทยพ่ายแพ้ไปด้วยนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น