xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเถื่อนต้องออกไป

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ดูเหมือนว่า การลุกขึ้นสู้ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลของระบอบทักษิณตอนนี้ ถูกกล่าวหาว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยกับฝ่ายประชาธิปไตย

นั่นคือ รัฐบาลชุดนี้อ้างว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงข้างมาก ดังนั้นพวกตัวเองจึงคือฝ่ายประชาธิปไตย และเมื่อประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อล้มล้างรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ประชาชนกลุ่มดังกล่าวจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

ทั้งๆ ที่จริงแล้วประชาชนออกมาต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย แต่มีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับความเป็นประชาธิปไตย

เพราะรัฐบาลแม้มาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่กลับใช้อำนาจนั้นอย่างไม่ชอบธรรม ใช้เสียงข้างมากโดยไม่ฟังเสียงข้างน้อย ปิดปากไม่ให้พูดจนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง รัฐบาลยังใช้อำนาจรังแกข้าราชการที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ การเติบใหญ่ของข้าราชการถูกตัดสินชี้ขาดโดยคนนอกประเทศซึ่งเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลแบ่งแยกการปกครองโดยการดูแลประชาชนที่เลือกตัวเองมา แล้วข่มขู่ประชาชนที่ไม่เลือกตัวเองว่า จะไม่ได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและสร้างความไม่เท่าเทียมกันของพลเมือง

นอกจากนั้นยังมีการทุจริตอย่างกว้างขวางในแวดวงวงศ์วานว่านเครือของระบอบทักษิณ

ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นสู้ก็เพราะเห็นว่า พฤติกรรมที่กล่าวมานี้ของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเพียงอาศัยการเลือกตั้งเข้ามาใช้อำนาจแล้วแปลงตัวเป็นฝ่ายอำนาจนิยมรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่นักโทษชายทักษิณ โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเพียงหุ่นเชิด

รัฐบาลและบริวารของระบอบทักษิณยังทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย คือจะยอมรับกฎหมายเมื่อตัวเองได้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลและบริวารของระบอบทักษิณทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย

จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ฝ่ายมวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้มีเหตุผลเพียงพอที่จะต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้คืนอำนาจให้กับประชาชน

ข้อเสนอให้ใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 ของฝ่ายมวลมหาประชาชนดูจะเป็นเป้าที่ถูกโจมตีจากนักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายระบอบทักษิณว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญ และยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมาโจมตี

มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แน่นอนครับว่า การใช้มาตรา 7 เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะที่ยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่ และเป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายทักษิณและบริวารกล่าวหาแน่นอน

แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ฝ่ายมวลมหาประชาชนเรียกร้องก็คือ การให้นายกฯคืนอำนาจให้ประชาชนลาออกจากตำแหน่ง แล้วลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดีที่จะต้องใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้ามีช่องให้ใช้มาตรา 7 ได้ มันจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไปได้อย่างไร

ฝ่ายที่เรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนก็ใช่ว่าจะเรียกร้องอำนาจการปกครองมาเป็นของฝ่ายตัวเอง แต่ต้องการให้มีรัฐบาลคนกลางขึ้นมาชั่วคราว แล้วสถาปนาสภาประชาชนของคนทุกหมู่เหล่าขึ้นมา เพื่อร่วมกันร่างกติกาของประเทศใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ใช้เงินเข้ามามีอำนาจแล้วปกครองประเทศอย่างไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป

เมื่อประเทศมีความพร้อมมีกติกาที่ประชาชนทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันก็จะกลับมาสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนทุกฝ่ายที่แท้จริง

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่ได้ยี่หระต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน อ้างเพียงว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้งและมาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่ได้สนใจว่า พฤติกรรมของตนนั้นขัดแย้งกับวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงเผด็จการเสียงข้างมาก ทำตัวเป็นรัฐบาลของประชาชนเฉพาะฝ่ายที่เลือกตัวเองมา

เมื่อรัฐบาลมีความไม่ชอบธรรมแล้ว การต่อสู้แบบอารยะขัดขืน อย่างสงบ สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธของประชาชนจึงมีความชอบธรรม การขัดขวางเพื่อให้รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมสามารถปกครองประเทศได้อีกต่อไปจึงเป็นสิทธิของประชาชนเจ้าของประเทศ

บางคนอาจโต้แย้งว่า แล้วจะเอาประชาชนที่เลือกรัฐบาลชุดนี้มาไปไว้ที่ไหน คำตอบก็คือ เมื่อประชาชนเหล่านั้นไม่เลือกที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ยินยอมให้รัฐบาลใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้อย่างไม่ชอบธรรม เพียงเพราะเชื่อว่าพวกตัวเองจะได้ประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนเหล่านั้นเลือกเอง

ถ้าบอกว่าประชาชนที่เลือกรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก คำตอบก็คือ ความผิดถูกตัดสินด้วยเสียงข้างมากไม่ได้

เมื่อรัฐบาลไม่มีความชอบธรรม การลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลจึงไม่มีทางที่เป็นความผิดได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้ในมาตรา 69 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

และศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ไปแล้วว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือเสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

รัฐบาลนี้จึงหมดความชอบธรรมไปแล้ว ตั้งแต่การออกมาปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ คือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

เมื่อปฏิเสธศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้จึงเป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมายไม่มีสิทธิใช้อำนาจในการปกครองประเทศนี้ ถ้ารัฐบาลไม่คืนอำนาจให้ประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะขับไล่รัฐบาลชุดนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐบาลในขณะนี้เป็นโมฆะไปแล้ว การใช้อำนาจของรัฐบาลในขณะนี้จึงเป็นอำนาจเถื่อนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฝ่ายประชาชนที่ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลต่างหากที่มีความชอบธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น