พิษณุโลก - เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางแห่งโผล่รับรองสิทธิที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ให้ชาวสวนยางพารา 98 รายทำสวนในเขตป่าได้ ใช้มติ ครม.ผ่อนผัน 30 มิ.ย. 41 กรุยทางรับเงินชดเชยสวนยาง 2,520 บาท/ไร่
วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิษณุโลกว่า หลังนายสุรพล ฝันเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์กองทุนสวนยาง (สกย.) จังหวัดพิษณุโลก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ตามโครงการแก้ไขยางพาราครบวงจรทั้งระบบยืนยันว่า ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ โดยเฉพาะใบ ภบท.5 จะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการชดเชยค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท เว้นแต่กรมป่าไม้รับรองสิทธินั้น
ล่าสุดปรากฏว่าสำนักงานป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย หมู่ 7 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง ลงนามรับรองสิทธิที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้แก่ชาวบ้านบางกลุ่มแล้ว โดยนายสมชาย ฉิมแย้ม เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือลงวันที่ 9 ตุลาคม 2556 แจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านห้วยเดื่อ เรื่องขอรับรองสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกร
หนังสือดังกล่าวอ้างถึงหนังสือผู้ใหญ่บ้าน ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่แนบรายชื่อและผังแปลงที่ดินราษฎรจำนวน 2 ชุด ระบุว่า ตามที่ได้แจ้งสำนักงานป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายขอให้ตรวจสอบสิทธิและรับรองแปลงที่ดินราษฎรในหมู่ 12 บ้านห้วยเดื่อ เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยางพาราในหมู่ 12 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง
สำนักงานได้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2551-2552 ปรากฏข้อมูลแปลงที่ดินราษฎรดังกล่าว 98 รายได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และอยู่ในขั้นตอนเตรียมรับรองสิทธิในรูปแบบสิทธิที่ทำกิน (สทก.)
อย่างไรก็ตาม จังหวัดพิษณุโลกมีสำนักงานป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง คือ ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำสองฝั่งลำน้ำแควน้อย ป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย โดยอีก 2 ลุ่มน้ำยังไม่ออกใบรับรองให้แก่เกษตรกร
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ถึงกรณีใบรับรองดังกล่าว หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีอำนาจออกหนังสือรับรองสิทธิในที่ดินทำกินในป่าสงวนได้จริงหรือ