xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาไทยแย่ น่าขายหน้า เวียดนามแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กระทรวงศึกษาฯ ฟุ้งผลประเมิน PISA 2012 คะแนนดีขึ้น แต่ภาพรวมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวม สสวท.ชี้เด็กไทยเก่งแค่ระดับพื้นฐาน ส่วนคุณภาพวิชาการยังห่างไกลความเป็นเลิศ อึ้ง! เวียดนามเข้าประเมินครั้งแรก ผงาดขึ้นอันดับ 17 ขณะที่ไทยย่ำอยู่กับที่ ติดอันดับ 50 แถมโรงเรียนสาธิต โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย คะแนนลด

วานนี้ (4 ธ.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวผลการประเมินในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ปี 2012 ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD โดยทำการสำรวจเก็บข้อมูลไปเมื่อปี 2011 จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ประมาณ 510,000 คนจาก 65 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

ในส่วนไทย มีนักเรียนอายุ 15 ปีเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6,600 คนจาก 239 โรงเรียนทุกสังกัด กระจายทั่วประเทศ สำหรับโรงเรียนในกลุ่มพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเข้าร่วมการประเมินทุกโรงเรียน

ดร.สุนีย์ คล้ายนิล ผู้จัดการโครงการประเมิน PISA ประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยผลการประเมิน PISA 2012 ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ผลการประเมินของไทยขยับสูงขึ้นทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านการอ่าน และด้านวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่ไทยเข้าร่วมโครงการประเมินในปี 2000 ผลการประเมินลดลงในทุกครั้ง กระทั่งปี 2009 ผลการประเมินเริ่มทรงตัว มาครั้งนี้ ปี 2012 พบว่า ผลการประเมินด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์สูงขึ้นชัดเจน ขณะที่คณิตศาสตร์สูงขึ้นเล็กน้อย

สำหรับผลการประเมิน PISA 2012 ของไทยนั้น ด้านการอ่าน อยู่ในอันดับที่ 48 ได้ 441 คะแนน ค่าเฉลี่ย PISA อยู่ที่ 496 คะแนน สูงขึ้นจากคะแนนการอ่านในปี 2009 ซึ่งได้ 421 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่อันดับที่ 47 ได้ 444 คะแนน ค่าเฉลี่ย 501 คะแนน สูงขึ้นจากคะแนนปี 2009 ซึ่งอยู่ที่ 425 คะแนน ด้านคณิตศาสตร์ อยู่อันดับที่ 50 ได้ 427 คะแนน ค่าเฉลี่ย 494 คะแนน ส่วนในปี 2009 อยู่ที่ 419 คะแนน

ประเด็นที่น่าสนใจก็ คือ ผลประเมินของไทยเพิ่มสูงขึ้น เพราะคะแนนของกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเพิ่มสูงกว่า 1 ระดับ โดยปกติการทำให้คะแนนเพิ่มแค่ครึ่งระดับก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง ก็คือ ขณะที่คะแนนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่คะแนนของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนกลับลดต่ำลง ขณะที่อาชีวศึกษารัฐคะแนนอยู่กับที่ แต่ที่น่าห่วง คือ ถ้าดูภาพรวมทุกการศึกษายังทำคะแนนการอ่านได้ต่ำ และอีกประเด็น คือ โรงเรียนสาธิตและโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่ทำคะแนนสูงติดอันดับ Top Performance มาตลอดกลับมีแนวโน้มลดลงกว่าที่ผ่านมา

ดร.สุนีย์ กล่าวว่า คะแนนของแต่ละประเทศ จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ซึ่งระดับที่ 2 จะเป็นคะแนนระดับพื้นฐานสุดที่นักเรียนควรจะทำได้ (Minimum requirement) ปรากฎว่าไทยมีเด็กที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่าระดับ 2 จำนวนมาก โดยวิชาคณิตศาสตร์มี 50% การอ่าน 33% และวิทยาศาสตร์ 34% เพราะฉะนั้น ถึงคะแนนของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการศึกษาไทย ก็ยังห่างไกลจากความเป็นเลิศ แต่ไทยยังดีกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะประเทศมาเลเซีย มีนักเรียนที่ทำคะแนนต่ำกว่าระดับ 2 ของ Minimum requirement ในวิชาคณิตศาสตร์ 60% การอ่าน 53% และวิทยาศาสตร์ 46% ส่วนประเทศอินโดนีเซีย คณิตศาสตตร์ 71% การอ่าน 55% และวิทยาศาสตร์ 67%

นอกจากนี้ ยังพบว่า เวียดนาม เป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะเพิ่งเข้าร่วมการประเมินครั้งแรก แต่ทำคะแนนได้ดี ทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนติดอันดับ Top 10 ขณะที่อีก 2 วิชาที่เหลือยังทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย และอันดับโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 17 แต่ไทยประเมินทุกปี แต่อันดับอยู่ที่ 50

อย่างไรก็ตาม การประเมิน PISA 2012 ประเทศเขตเศรษฐกิจในเอเชียทำคะแนนอยู่ในอันดับ Top 10 อยู่หลายประเทศ โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทำคะแนนได้สูงมากและติดอันดับ Top 10 ทุกวิชา ขณะที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเก๊า มีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มบนสุดทั้ง 3 ด้าน ส่วนประเทศตะวันตกที่อยู่ในกลุ่มบนสุดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ลิกเตนสไตน์ สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เอสโตเนีย และแคนนาดา
กำลังโหลดความคิดเห็น