การชุมนุมขับไล่ “ระบอบทักษิณ” นั้นถ้ามองให้ดีถือเป็นการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงให้เห็นว่ารัฐล้มเหลวไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ผ่านสัญลักษณ์ทั้งสี่กล่าวคือ
ประชาชน = มวลมหาประชาชนที่ไม่เอาด้วยกับระบอบทักษิณอีกต่อไป พากันขับไล่รัฐบาล ยึดสถานที่ราชการ
ข้าราชการพลเรือน = การปฏิเสธการรับคำสั่งจากรัฐบาล หรือ การไม่สามารถเข้าไปรับคำสั่งจากรัฐในสถานที่ราชการได้
ตำรวจ-ทหาร = การหันมาร่วมมือกับประชาชน หรือหยุดแสดงท่าทีที่ปกป้องพื้นที่ราชการตามคำสั่งรัฐบาล
กองบัญชาการ = ทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่เป็นศูนย์บัญชาการหลักของรัฐบาล และกองกำลังพิทักษ์รัฐบาล
ความก้าวหน้าของเหตุการณ์นับจากวันที่ 1 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเมื่อวาน 3 ธ.ค. 2556 ต้องถือว่า การต่อสู้ของประชาชนได้บรรลุเป้าหมายผ่านสัญลักษณ์ทั้งสี่ข้างต้นแล้ว จึงต้องถือว่ารัฐบาลหมดอำนาจในการสั่งการโดยสิ้นเชิง = การปฏิวัติโดยประชาชนได้รับชัยชนะ
ถึงแม้ว่าสมการการเมืองจะออกมาดูแล้วเป็นคุณต่อมวลชนดังที่แสดงให้เห็น แต่ท่าทีการยุติการขัดขวางของตำรวจให้ประชาชนเข้าพื้นที่ทำเนียบและ บช.น.โดยตำรวจเป็นคนอำนวยความสะดวกให้ดูเหมือนจะเป็นหนังคนละม้วนกับการยันกันของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมาที่ประชาชนยังไม่สามารถรุกคืบเข้าไปได้เลยแม้แต่น้อยและไม่มีวี่แววจะสำเร็จได้ง่ายๆ ราวกับว่าวงในของทั้งรัฐบาล ทหาร และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มีการเปิดฉากเจรจาหาทางลงให้กันทุกฝ่ายชั่วคราว
เมื่อผนวกเข้ากับการคืนพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในเวลาอันสั้น และการไม่ประกาศตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาปฏิรูปหากแต่มีการถอนกำลังกลับไปที่มั่นที่เวทีเดิมเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ภาพที่ออกสู่สาธารณะจะได้ชัยชนะเหนือรัฐบาลกบฏผ่านสัญลักษณ์ทั้งสี่แท้ๆ แต่กลับไม่ใช้ภาพที่ได้เปรียบเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์สร้างแต้มต่อให้การเคลื่อนไหวของการชุมนุม
จุดนี้ได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนโดยรวมไม่น้อย จนมีการตั้งคำถามกันให้ว่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์กกันว่า แล้วตอนแรกจะให้ยึดทำเนียบรัฐบาลและ บช.น.ไปเพื่ออะไร? แล้วยังไงต่อไป? แม้ว่าจะมีการใช้เหตุผลในการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นข้ออ้างแต่คำถามเหล่านั้นก็ยังคงคาใจมวลชนอยู่เช่นเคยว่าเกิดอะไรขึ้น? และสมควรแล้วหรือที่จะยอมให้รัฐบาลกบฏที่ถือว่าหมดความชอบธรรมและหมดสภาพแล้วเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสโมสรสันนิบาตเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทำเนียบรัฐบาล?
เมื่อเอาสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายเป็นตัวตั้งมาวิเคราะห์ เราจะได้เห็นตัวละครหลักๆด้วยกันสามฝั่งในเกมการเมืองขณะนี้กว่าคือ
ในฝั่งผู้ชุมนุม :
ทั้งๆที่ระดมคนมาได้เป็นเรือนล้านในการประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 24-25 พ.ย. 2556ที่ผ่านมา แต่เมื่อประกาศแบ่งทัพเข้ายึดที่มั่นตั้งแต่วันที่ 1-2 ธ.ค.จนเข้าถึงช่วงสายวันที่ 3 ธ.ค. 2556 แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ทั้งสองวันก็ยังไม่อาจฝ่าด่านสกัดกั้นอันเหนียวแน่นของชุดตำรวจคุมฝูงชนที่ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา สารเคมี กระสุนยาง+กระสุนจริง เข้าไปยึดพื้นที่ๆ ประกาศไว้ได้ ยิ่งสู้ก็ยิ่งยืดเยื้อ มวลชนยิ่งอ่อนล้า และมีทีท่าว่าอาจเกิดการสูญเสียนองเลือด จึงจำเป็นต้องหาทางลงที่ให้มวลชนได้พักรวมกำลังใหม่
ซึ่งหากดูจากบทเรียนของพันธมิตรที่ผ่านมาแม้จะระดมคนและยึดกองบัญชาการรัฐบาลได้แต่ก็ไม่สามารถไล่รัฐบาลได้หากทหารไม่เล่นด้วย ประกอบกับเวลานี้สุเทพ เทือกสุบรรณและแกนนำทุกคนเท่ากับมีชนักทางกฏหมายความมั่นคงติดตัวกันทุกคนที่ต้องพิจารณาทุกก้าวย่างให้ดี ถึงแม้จะโดนทหารเบี้ยวกี่ครั้งก็ต้องอดทนกัดฟันเดินหน้าต่อไปจนกว่าเงื่อนไขเหตุการณ์จะลงตัว
ทางฝั่งรัฐบาล :
รัฐบาลเสียภาพลักษณ์มหาศาลในการใช้ความรุนแรงจากกรณีการ์ดเสื้อแดงภายใต้การขยิบตาของตำรวจให้ปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหงไล่ยิงนักศึกษารามฯ ที่มีเรื่องกระทบกระทั่งจนมีนักศึกษาเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมจนสร้างกระแสต่อต้านแก่คนในสังคม และเป็นแรงจูงใจให้ม็อบสู้ยิบตาจนมีทีท่าว่าเรื่องจะบานปลาย ขนาดที่ต้องเปลี่ยนตัวคนบัญชาการ ศอ.รส. จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ขี้ข้าเต็มตัวของทักษิณ ชินวัตร ที่กล้าทำทุกเรื่องที่นายใหญ่สั่ง เตรียมทิ้งทวนเต็มที่ฝากรอยแผลไว้ให้กับประเทศไทยหากจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายต่อมวลชนดังที่เตรียมการไว้
ซึ่งหากมีการนองเลือด ทหารย่อมจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์อันอาจไม่เป็นคุณแก่รัฐบาล ดังนั้นก่อนจะไปถึงจุดนั้นการเจรจาหาทางออกกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และทหารจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเสมอๆ และยุบสภาก็ยังมีน้ำหนักในการยกขึ้นมาเป็นไม้ตายทางเลือกฉุกเฉินเมื่อไรก็ได้
ทางฝ่ายทหาร :
ได้วางยุทธศาสตร์ตัวเองไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องการเข้าข้างฝ่ายใด ก็ยิ่งสามารถสร้างราคาต่อรองให้กับตัวเองได้ในแง่ของ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะก๊วนของ ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มก๊วนลูกพี่บูรพาพยัคฆ์อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
หากมีการนองเลือดโดยที่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ทหารย่อมต้องถูกแรงกดดันจากสังคมให้ต้องเลือกข้าง ทั้งๆ ที่ควรจะแสดงท่าทีความชัดเจนแล้วตั้งแต่ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ละเมิดรัฐธรรมนูญ และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งถือเป็นรัฐบาลที่เป็นกบฏต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ทั้งนี้ลึกๆ แล้วรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยมวลมหาประชาชน และสภาปฏิรูป ก็ไม่เป็นที่ต้องการของบิ๊กเนมเหล่านี้สักเท่าไร ไม่เอื้อประโยชน์เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ต้องง้อทหารอย่างเต็มที่ เพราะไร้ซึ่งการตรวจสอบในการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเชิง อยากจะซื้อไม้ล้างป่าช้าหรือเรือเหาะที่บินไม่ขึ้นมากี่พันล้านมาใช้ในปฏิบัติการก็ไม่มีใครกล้าแตะ
ดังนั้นเมื่อเอาเงื่อนไขข้อได้เปรียบเสียเปรียบของทั้งสามฝั่ง และเมื่อคอนเฟิร์มกับข่าววงในว่ามีการเจรจากันที่เซฟเฮาส์ของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์มารวมกัน จึงเกิดเหตุการณ์อันพิลึกพิลั่นอันเป็นปริศนาที่กล่าวในข้างต้น ให้ทุกฝ่ายได้ถอยกันไป set zero ใหม่กันอีกครั้ง
นี่จึงเป็นที่มาของการที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณทั้งๆ ที่ดูเหมือนชนะในเชิงสัญลักษณ์ในทุกองค์ประกอบแบบงงๆ ชนิดจู่ๆ ก็ง่ายพลิกความคาดหมายแก่มวลชนที่ร่วมฝ่าดงแก๊สน้ำตา แต่กลับไม่สามารถประกาศชัยชนะเหนือรัฐบาลได้ จึงต้องกัดฟันคืนพื้นที่ที่ได้รับการส่งมอบผ่านการเจรจากลับไปให้ฝั่งรัฐบาลผ่านการเห็นชอบจากทหารตามที่ตกลงกัน เพื่อกลับไปตั้งหลักและรวบรวมมวลมหาประชาชนสร้างเงื่อนไขและวางยุทธศาสตร์ใหม่
อันที่จริงถ้าหากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล้าที่จะหักคอทหาร ประกาศตั้งรัฐบาลและสภาปฏิรูปในทำเนียบสักนิด ถึงแม้จะทำให้บิ๊กทหารไม่พอใจ แต่ก็ยังดีกว่าที่จำเป็นต้องเดินตามเกมอยู่ฝ่ายเดียว และหากยิ่งประวิงเวลาไปอาจยิ่งเสียเปรียบถ้ารัฐบาลประกาศยุบสภา เท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุมสู้ไปได้ไม่สุดซอย แต่ก็ถือว่าไม่เสียเปล่าเพราะอย่างน้อยจำนวนคนที่ตื่นรู้และต้องการปฏิรูปการเมืองก็เพิ่มขึ้น และก็ถือว่าได้ดับฝันทักษิณ ชินวัตรในการนิรโทษกรรมตัวเองอย่างถาวรแล้ว
อย่างไรก็ดี หากมีดราม่ากระชากน้ำตาคนดู เกมอาจพลิกเข้าทางสุเทพ เทือกสุบรรณอีกครั้งก็ได้ เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองของมวลมหาประชาชนไปถึงฝั่งฝัน เชื่อว่าคราวนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณต้องไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดไปอีกอย่างแน่นอน
ขณะที่รัฐบาลก็ถอยเพื่อรุกกลับในการผ่อนกระแสกดดันอันร้อนแรงจากม๊อบ โดยอ้างว่าถอยสุดซอยแล้วทั้งถอน พ.ร.บ.นิรโทษทั้งยอมให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังบริเวณ บช.น.และทำเนียบรัฐบาล เป็นการพลิกเกมให้กลับมาอยู่ในสถานะที่ไม่เสียเปรียบขนาดในตอนแรก เพราะก็จะมีคนบางส่วนเริ่มเรียกร้องให้เลิกรบกันและหาทางออกด้วยการเจรจาตั้งสภาปฏิรูปร่วมกัน หรือหากดูแล้วกระแสไม่ดีก็ยุบสภาได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ขัดข้องที่จะร่วมส่ง ส.ส.สมัครในเกมเลือกตั้งด้วย
ส่วนทหารก็มีแต่ได้ทั้งในแง่กระชับอำนาจให้ตัวเองโดยรัฐบาลไม่กล้าแทรกแซง หรือถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็สามารถมีส่วนในการตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว สรุปแล้วทหารไม่ได้อยู่ข้างประเทศไทยแต่ใครๆ ก็อยากให้ทหารอยู่ข้างตัวเอง
ถึงแม้จะไม่อยู่ใน “สามก๊กการเมือง” ตอนนี้อย่างเต็มตัวแต่คงต้องพูดถึงในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งยังคงซุ่มรอรองรับอุบัติเหตุทางการเมืองหากมีการสลับขั้ว หรือรอรับคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นกับการเตรียมชูสโลแกนปฏิรูปทางการเมืองล่อใจมวลชนเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
เงื่อนไขทั้งหมดของทุกฝ่ายจะเปลี่ยนไปอีกครั้งหรือไม่หลังจากวันที่ 5 ธ.ค. คงจะต้องจับตาดูกันต่อไป