xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปประเทศ : กับดักที่นักการเมืองเลี่ยง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ กระแสคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งได้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อนอดีต ส.ส.จากพรรคเดียวกันอีก 8 คน

นอกจากเวทีที่อนุสาวรีย์แล้ว ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีก 2 กลุ่มคือ ที่สะพานผ่านฟ้านำโดย สมณโพธิรักษ์ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และที่สะพานมัฆวานฯ นำโดยนายอุทัย ยอดมณี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เหมือนกันหนึ่งประการคือ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ 2 กลุ่มหลังมีวัตถุประสงค์เพิ่มขึ้นจากกลุ่มแรก หนึ่งประการคือ จะต้องปฏิรูปประเทศหลังจากโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้แล้ว ในขณะที่กลุ่มแรกไม่ชัดเจนในข้อนี้ จะเห็นได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมภายในพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีความขัดแย้งในกรณีที่มีผู้เสนอให้พรรคทำการปฏิรูปเพื่อชนะคู่แข่งทางการเมืองคือพรรคเพื่อไทย แต่ ส.ส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และทำให้ผู้เสนอเรื่องนี้เกิดอาการน้อยใจจนเป็นข่าวปรากฏทางสื่อ

2. ในการพูดบนเวทีอนุสาวรีย์ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 เวทีหลังซึ่งพูดชัดเจนว่าจะปฏิรูปประเทศ โดยให้นักการเมืองยุติบทบาทสักระยะหนึ่ง แล้วจัดให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาทำการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพียงแต่ยังไม่มีรายละเอียดลงลึกถึงขั้นปฏิบัติในแต่ละด้านว่าจะทำอย่าง และใครจะเป็นคนทำ แต่เพียงแค่นี้ก็ยังดีกว่าไม่ได้คิด ไม่ได้แสดงออกให้รับรู้ ดังเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นอยู่ในขณะนี้ และถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมอยู่ในขณะนี้มีความหวังเพิ่มขึ้นจากการเอาชนะรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้พูดถึงการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ตามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะดำเนินการหลังจากโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาจะได้อะไรตอบแทนจากการมาร่วมต่อสู้นอกเหนือไปจากการขับไล่ระบอบทักษิณออกไป ถ้าทำได้เช่นนี้เชื่อได้ว่า ประชาชนจะเข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นมากกว่านี้แน่นอน

จากการที่ผู้ชุมนุม 3 กลุ่มจะเห็นได้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ณ จุดเริ่มต้นคือการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นศัตรูร่วม แต่เป็นที่กังขาว่าถ้า พ.ร.บ.นี้ถูกทำให้ตายไปจากสภาฯ และไม่มีโอกาสเกิดอีก เวทีของพรรคประชาธิปัตย์จะยุติลงหรือไม่ หรือจะยกระดับถึงขั้นไล่รัฐบาล และที่สำคัญจะก้าวล่วงไปถึงขั้นปฏิรูปประเทศในทำนองเดียวกันกับ 2 กลุ่มหรือไม่ เป็นข้อปริศนาที่หลายคนตั้งเป็นคำถามอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแกนนำเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะต้องให้คำตอบในประเด็นนี้เพื่อให้ผู้ที่มาชุมนุมด้วยคาดหวังว่า เมื่อล้มรัฐบาลชุดนี้แล้ว จะก้าวต่อไปถึงขั้นการปฏิรูปประเทศหรือไม่ หรือจะหยุดแค่ล้มรัฐบาล และรอลงสมัครรับเลือกตั้งในกรณีที่มีการยุบสภา หรือรอให้มีการเปลี่ยนขั้วในกรณีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และมีอันต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาล ถ้าหยุดแค่การโค่นล้มรัฐบาล และรอการเลือกตั้งเชื่อได้ว่าคนส่วนหนึ่ง และอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำจะผิดหวัง เพราะพวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบด้วยการปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งในด้านการเมืองและสังคม อันเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นตัวกำหนดทิศทางในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้วย

ทำไมต้องปฏิรูปประเทศ และจะปฏิรูปด้านใดก่อน?

คำว่า ปฏิรูป (Reform) หมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปร่างหรือโครงสร้างให้แตกต่างไปจากเดิมในทิศทางที่ดีขึ้น และเกิดประโยชน์มากกว่าเก่า

ดังนั้น การปฏิรูปประเทศในที่นี้ก็หมายถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในแต่ละด้าน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการปกครองประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ส่วนประเด็นว่า จะปฏิรูปในด้านใดก่อนนั้น ถ้าดูจากปัจจัย 4 ประการ ตามแนวทางของการบริหารคือ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการแล้ว จะเห็นได้สิ่งแรกที่จะต้องปฏิรูปก็คือ คน อันเป็นตัวการในการขับเคลื่อนให้ปัจจัย 3 ประการที่เหลือดำเนินไปได้ และการปฏิรูปคนก็จะเริ่มด้วยการให้การศึกษาเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิถีทางดำเนินชีวิตในสังคม รวมไปถึงการเมืองการปกครองด้วย และในขณะเดียวกัน ควรปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อนำมากำกับและควบคุมการใช้ความรู้ ความสามารถให้ดำเนินไปตามทำนองคลองธรรม

เมื่อคนมีคุณภาพและคุณธรรมแล้ว ปัจจัยอื่นที่เหลือก็จะเกิดขึ้นด้วยศักยภาพของคน เช่น เงินก็จะเกิดจากการผลิตการขาย วัสดุอุปกรณ์ก็จะเกิดจากการซื้อหรือการจัดทำขึ้น และสุดท้ายการจัดการก็จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมดูแลให้ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเป็นระบบ และเกิดความมั่นคงในที่สุด

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนในประเทศส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรม จริยธรรม กำกับการใช้ความรู้ ความสามารถได้เป็นอย่างดีแล้ว ประเทศก็จะก้าวไปอย่างมั่นคงในทุกด้าน ไม่ต้องลองผิดลองถูกเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีศักยภาพในการคิด การพูด และในการทำแล้ว เชื่อได้ว่า ประชาธิปไตยในระบบตัวแทน หรือประชาธิปไตยทางอ้อมก็จะเกิดขึ้น และก้าวไปอย่างมั่นคงถาวรและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น