xs
xsm
sm
md
lg

ขอ30ล.สร้างหอพักนศ.ในอียิปต์ "ภราดร"นัดเจรจาโจรใต้ต้นธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14พ.ย.) ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการให้สนับสนุนงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อสร้างหอพักสตรีให้กับนักศึกษาไทยมุสลิม ที่เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์ ราว 2,500 คน ตามที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ได้จัดสรรพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้รัฐบาลไทยใช้สร้างหอพักดังกล่าว โดยหลังจากนี้ จะขออนุมัติที่ประชุม ครม. เพื่อใช้งบกลางฯ ปี 2557 ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศปก.กปต. ยังอนุมัติหลักการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการการเรียนการสอนสอดคล้องอัตลักษณ์ และวิถีอิสลาม จ.ชายแดนภาคใต้ โดยมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการศึกษาฯ ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน เพื่อไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร และสถานที่จัดตั้งสถาบันดังกล่าว และที่ประชุม ศปก.กปต. ยังได้อนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10 มาตรการ เช่น การขจัดเงื่อนไขการก่อเหตุรุนแรง การขจัดความไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ การจัดโซนนิ่งสถานบันเทิงให้มีน้อยสุด เพื่อไม่ให้รบกวนการปฏิบัติทางศาสนกิจ และการสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย เป็นต้น เพื่อเป็นกรอบการทำงานของ 17 กระทรวง ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ รวมทั้งได้อนุมัติร่างยุทธศาสตร์การสื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติสุขในพื้นที่
ทั้งนี้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานให้ที่ประชุม ทราบความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ โดยระบุว่า หลักการพูดคุย คือการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ และอธิปไตยของไทย ในขณะที่ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ได้มอบนโยบาย 5 ข้อ ต่อทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ดังนี้
1. การบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย 2. ลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความแตกแยก การใช้ความรุนแรงหรือความคิดแบ่งแยกดินแดน 3. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 4. ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ เช่น เด็กและสตรี ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ และ 5. หน่วยราชการต่าง ๆ ต้องนำการพัฒนามาสู่พื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันแผนงานและโครงการต่าง ๆ
พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนธ.ค. ตนจะไปพูดคุยกับกลุ่ม บีอาร์เอ็น ซึ่งจะมีกลุ่มพูโล กลุ่มบีไอพีพี เข้าร่วมพูดคุยด้วย โดยแบ่งเป็นกลุ่มบีอาร์จะมี 4 ที่นั่ง กลุ่มพูโล 2 ที่นั่ง กลุ่มบีไอพีพี 1 ที่นั่ง ทั้งนี้ฝ่ายทหารยืนยันว่า การพูดคุยยังต้องดำเนินการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น