xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศอ.บต.ให้โอวาท นร.ไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอียิปต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้โอวาทนักศึกษาไทยก่อนเดินทางกลับไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ เชื่อการศึกษาคือการสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ห้องน้ำพราว โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปะ และให้โอวาทเพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาไทยก่อนไปศึกษาต่อในประเทศอิยิปต์ ซึ่งจะเดินทางในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 นี้ โดยมี นายวิทยา พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดร.มะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี นายต่อพงษ์ กนิษฐกุล ผู้จัดการบริการสนามบิน บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)

หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ผู้ปกครอง และนักศึกษาไทยที่จะไปเรียนต่อในประเทศอียิปต์เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 1,200 คน นอกจากนี้ ยังมีการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัรกุลอาน โดยนายซุลกิฟลี สาเม๊าะ ผู้แทนนักศึกษาไทยในประเทศอิยิปต์ การเสวนาในหัวข้อ “การส่งเสริมการศึกษาไทยในต่างประเทศ” โดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

ที่ผ่านมา เราจัดระบบการศึกษาตามกระแสหลัก เช่น การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู พัฒนาเด็ก พัฒนาพัสดุอุปกรณ์ แต่วันนี้โดยความเป็นบริบทของพื้นที่ที่พื้นที่อื่นไม่มีคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากการพัฒนาเป็นความร่วมมือทางการศึกษา ซึ่งผู้ปกครองต่างต้องการให้ลูกหลานไปเรียนในสถาบันที่ได้มาตรฐานสูง เมื่อเรียนจบมาแล้วจะได้นำความรู้ไปพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงควรมียุทธศาสตร์ และนโยบายในการส่งเสริมนักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศ

 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เราให้เกียรตินักศึกษาไทย โดยส่งน้องๆ นั่งเครื่องบินของสายการบินไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปส่งนักศึกษาที่ประเทศอียิปต์มาแล้ว เพื่อเดินทางไปสอบภาษาอาหรับ ผมรู้สึกภูมิใจต่อการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งสำคัญ คือ โอกาส เวลา และคำพูด ซึ่งไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ลูกหลานในพื้นที่ที่ไปเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอียิปต์เป็นประเทศที่มีแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่

วันนี้รัฐบาลไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เรากลับมองว่าคนไปเรียนเมืองนอกคือโอกาส และสิ่งท้าทาย เพราะภาษาเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโอกาสไม่ได้มีมาบ่อย สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความเจริญที่จะกลับคืนสู่พื้นที่ โดยเฉพาะคนที่ไปศึกษาต่อและคนที่ไปอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โอกาสในการได้รับการศึกษา ซึ่งวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นการรับปริญญาของน้องๆ ที่เรียนจบ

ซึ่งอยากให้มีตัวแทนของครอบครัวได้ไปร่วมแสดงความยินดีด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยประเทศอียิปต์มีนักศึกษาให้ความสนใจไปเรียนต่อมากที่สุด และภาษาอาหรับก็เป็นภาษาระดับต้นๆ ที่ใช้ในการสื่อสาร หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศอียิปต์ ทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของโอกาสทางการไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์มากขึ้น

 
โดยเฉพาะในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งแต่ละประเทศจะมีจุดแข็ง และจุดอ่อนต่างกัน เช่น ประเทศอียิปต์ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่ำ และเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเหมาะกับบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะด้านศาสนา ดังนั้น จึงเป็นอุดมการณ์ และความคิดของเด็กที่นี้ว่าจะต้องไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ โดยเฉพาะเด็กที่จบการสถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ที่สำคัญคือ ในระยะยาว อียิปต์ไม่ได้มีความสำคัญทางด้านศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ ให้ได้ศึกษา สิ่งที่ยังขาดโอกาสไป

เราจะต้องมาร่วมกันพัฒนา รัฐบาลพร้อมให้ความสำคัญเพราะมองว่าการศึกษาคือ การสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างจะต้องสร้างคนให้มีความรู้ การได้มาซึ่งความรู้คือ ได้มาด้วยการศึกษา และการศึกษาของพื้นที่จะต้องสอดแทรกไปพร้อมกับศาสนา เพราะไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งการให้ความรู้คน สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียมการต่อไปคือ เมื่อเด็กชุดนี้จบการศึกษามาแล้ว จะมีงานรองรับหรือไม่ เช่น อาชีพครู คือ การให้กลับมาสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนตาดีกา เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นหลังให้มีความรู้ เมื่อคนมีความรู้แล้วก็จะมีช่องทางในการพัฒนาให้พื้นที่มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ในการนี้ น้องๆ สมาคมศิษย์เก่าอาหรับ/สมาคมศิษย์เก่าอัลอัซฮัร ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ “การสร้างเครือข่ายนักศึกษา” ได้ข้อสรุปว่า การสร้างเครือข่ายอิสลามสอนให้เรารู้ และศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม เช่น วิชาสามัญ วิชาชีพ และวิชาศาสนา ไม่ใช่ใฝ่หาเฉพาะเพียงใบปริญญา แต่ต้องมีการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ แลกเปลี่ยนความรู้กับสังคมรอบข้าง เพราะอนาคตเราคือความหวังของสังคมที่จะกลับมาเป็นผู้นำ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้รอบด้าน และการมีความรู้ทางศาสนา เป็นการเอาวิถีชีวิตมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดคุณธรรม และจริยธรรม

ฉะนั้นเมื่อเราจบกลับมาแล้ว เราจะทำอะไรให้แก่สังคมบ้านเรา เพื่อการพัฒนาให้หมู่บ้านของเราก้าวหน้า ฉะนั้นเราอย่าศึกษาเฉพาะภาษา และศาสนา เราจะต้องศึกษาภาษาสังคมและหาประสบการณ์ด้วยการขวนขวาย สร้างความเข้าใจให้แก่มนุษย์และสังคม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น