xs
xsm
sm
md
lg

MSCIรับ2หุ้นใหม่ทีเอ็มบี-บีทีเอสเข้าวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผุ้จัดการรายวัน - MSCI เพิ่มหุ้น BTS และ TMB ในการคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices 2 หลักทรัพย์มีมาร์เก็ตแคปรวม 225,431 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12 %เข้าเกรณ์ พร้อมเพิ่มหุ้น ASP CHG CKP CGD DRT DSGT ERW KCE MBK MC M MONO NOK RS และ TUF ในการคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap Indices มีผล 27 พ.ย.นี้


นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า MSCI ได้ทบทวนและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 พบหุ้นไทย 2 หลักทรัพย์ในกลุ่ม SET 50 ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices คือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ. ธนาคารทหารไทย (TMB) มาร์เก็ตแคปรวม 225,431 ล้านบาท โดยไม่มีหุ้นที่ถูกคัดออก นอกจากนี้ยังมีหุ้นไทยอีก 15 หลักทรัพย์ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดัชนี MSCI Small Cap Indices เป็นหลักทรัพย์ใน SET 13 หลักทรัพย์ และ mai 2 หลักทรัพย์ มาร์เก็ตแคปรวม 260,954 ล้านบาท และมี 2 หลักทรัพย์ถูกคัดออก มีผล 27 พฤศจิกายน 2556



“ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 จำนวนหลักทรัพย์ไทยที่ MSCI ใช้คำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องการซื้อขายเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันให้ผู้ลงทุนต่างประเทศสนใจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป จะมีหุ้นไทยคำนวณอยู่ในดัชนี MSCI Global Standard Indices รวมทั้งสิ้น 30 หลักทรัพย์ ขณะที่ 15 หลักทรัพย์ที่ถูกนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap Indices ในจำนวนนี้เป็นหุ้นเข้าใหม่ (IPO) ในปีนี้ถึง 6 หลักทรัพย์ หรือ 40% ของหลักทรัพย์ที่เข้าคำนวณใหม่ทั้งหมด โดยเป็น SET 5 หลักทรัพย์ คือ CHG CKP M MC และ NOK คือ และ mai 1 หลักทรัพย์ คือ MONO สะท้อนว่าหุ้น IPO ที่เข้ามามีขนาดและสภาพคล่องการซื้อขายที่ดี ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน” นายจรัมพรกล่าว



สำหรับ การทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI รอบนี้ หลักทรัพย์จากอาเซียนที่เพิ่มขึ้นสุทธิ (Net Added) มาจากตลาดหุ้นไทยมากที่สุด โดย MSCI Global Standard Indices มีหลักทรัพย์จากอาเซียนเพิ่มขึ้นสุทธิ 4 หลักทรัพย์ มาจากตลาดหุ้นไทย 2 หลักทรัพย์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ประเทศละ 1 หลักทรัพย์ ส่วนดัชนี MSCI Small Cap Indices เพิ่มขึ้นสุทธิ 37 หลักทรัพย์ มาจากตลาดหุ้นไทย 13 หลักทรัพย์ สิงคโปร์ 9 หลักทรัพย์ มาเลเซีย 8 หลักทรัพย์ อินโดนีเซีย 5 หลักทรัพย์ และฟิลิปปินส์ 2 หลักทรัพย์



ทั้งนี้ดัชนี MSCI หรือ MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้ลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้วัดการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนี MSCI แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีระดับภูมิภาคหรือประเทศ หรือแบ่งตามอุตสาหกรรม ตามประเภทของตลาด หรือตามขนาดของหลักทรัพย์ จะไม่ได้นำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทุกตัวเข้าไปคำนวณดัชนี แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาในหลายด้าน เช่น มูลค่าตลาดรวม สภาพคล่องการซื้อขาย จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศมาก เพราะต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปรับพอร์ตหรือเพิ่มการลงทุนตาม

ก่อนหน้านี้ บล.กรุงศรี จำกัด ระบุว่า นักลงทุนควรติดตาม การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตดัชนี MSCI Morgan Stanley Capital International หรือ MSCI ที่จะมีการปรับอีกครั้งในเดือนนี้ ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า ตั้งแต่ปี 2551-2556 หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าMSCI Global Standard มักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 12% นับแต่วันที่ถูกประกาศรายชื่อจนถึงวันที่ถูกนำเข้าคำนวณ (ประมาณ2สัปดาห์)

ส่วนหุ้นที่ถูกนำเข้าในดัชนี MSCI Global Small Cap มักดึงดูดนักลงทุนได้น้อยกว่าตลาด โดยปรับเพิ่มเพียง 1.36% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ถูกคัดออกจะถูกปรับตัวลดลง 10% และ 6.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ในดัชนี MSCI ทำได้ยาก จึงแนะนำให้รอประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพ.ย. (ปนะมาณ วันที่ 7-8 พ.ย.) และจึงซื้อหุ้นเก็งกำไรตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น