ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- บรรดาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยที่มีอยู่ 5-6 หัว “ซิงเสียนเยอะเป้า” นับเป็นหนังสือพิมพ์จีนที่มีประวัติยาวนานที่สุด และเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทย ในอดีตหนังสือพิมพ์จีนฉบับนี้ได้รับความนิยมสูงจนได้ชื่อว่าเป็น “ไทยรัฐ” ภาคภาษาจีน แต่ช่วงหลังการอ่านหนังสือพิมพ์จีนค่อยๆ ลดลงพร้อมกับความนิยมในหัวหนังสือพิมพ์จีนเหล่านั้น
กระทั่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซิงเสียนเยอะเป้ากลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน คนจีนในเมืองไทย องค์กรการค้าการลงทุนและสมาคมชาวจีน รวมถึงบริษัทและห้างร้านเชื้อสายจีนอีกครั้ง เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าแก่นี้ประกาศร่วมทุนกับ “หนานฟาง” กลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน
ซิงเสียนเยอะเป้าก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493 โดย หู เหวิน หู่ และหู เหวิน เป้า สองพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลผู้มีชื่อเสียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเจ้าของกิจการยาหม่องตราเสือ กิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าตกทอดมาสู่ลูกหลาฯตระกูลหูเรื่อยมาก กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 “สดาวุธ เตชะอุบล” ประธานกรรมการบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทกโอเวอร์
“ผมเข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์จีนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ผมเข้ามาเพื่อปรับปรุงให้ซิงเสียนเยอะเป้ามีเทคโนโลยี มีเนื้อหา และมีกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น และทันสมัยมากขึ้น” สดาวุธกล่าว
การปรับตัวของซิงเสียนเยอะเป้าในครั้งนั้น เริ่มจากการสร้างสำนักงานใหม่ และจ้างมืออาชีพ (outsouce) ดูแลการผลิต ว่าจ้างผู้บริหารใหม่จากจีน และขยายช่องทางขาย โดยเฉพาะการเข้าร้าน 7-11 สายการบินไทยและสายการบินจีน และโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีน เป็นต้น รวมถึงการเป็นหนังสือพิมพ์จีนฉบับแรกของเมืองไทยที่ใช้อักษรจีนแบบย่อ
“เพื่อพัฒนาซิงเสียนเยอะเป้าให้เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัย และมีคุณภาพ เพื่อขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งของไทย และในอนาคตอันใกล้ เรายังมีเป้าหมายจะเป็นหนังสือพิมพ์จีนอันดับหนึ่งในภูมิภาค ดังนั้นเราจึงต้องร่วมทุนกับสื่อจีนยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มหนานฟาง เพราะถ้าให้คนไทยทำเอง ยังไงก็คงสู้เขาไม่ได้” สดาวุธยอมรับว่าการหานายทุนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว ตั้งแต่แรกเริ่ม
หนานฟาง มีเดีย กรุ๊ป ถือเป็นกลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่อันดับต้นของจีน ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2492 โดยพัฒนามาจากหนังสือพิมพ์หนานฟางรายวันของหน่วยงานรัฐบาลในมณฑลกวางตุ้ง ปัจจุบัน มีหนังสือพิมพ์ในเครือทั้งหมด 14 ฉบับ มีนิตยสาร 9 เล่ม มี 6 เว็บไซต์ และอีก 1 สำนักพิมพ์ โดยกลุ่มหนานฟางได้รับการจัดอันดับอยู่ใน “500 แบรนด์ที่มีคุณค่ามากที่สุดของจีน” และเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์จีน
“สิ่งที่หนานฟางจะเอามาให้เราคือประสบการณ์ ความรู้ และระบบการบริหารจัดการในธุรกิจสื่อ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ของจีนที่ต้องการโฆษณาระหว่างประเทศ หรือกลุ่มธุรกิจที่จะขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะเข้ามาโฆษณากับเราด้วย อีกด้านก็คือ บริษัทของไทยที่ต้องการทำธุรกิจกับคนจีนต้องการขยายการรับรู้ (Awareness) ไปสู่ลูกค้าจีน เขาก็จะมาลงโฆษณากับเราเพิ่มขึ้น”
ทอมมี่ เตชะอุบล บุตรชายของสดาวุธ และเป็นประธานกรรมการบริหารของซิงเสียนเยอะเป้า กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มหนานฟางได้ส่งผู้บริหารชาวจีนเข้ามา 6 คน เพื่อมานั่งคุมทุกสายงานในซิงเสียนเยอะเป้า
ในอีกไม่นาน ซิงเสียนเยอะเป้าจะมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และนิตยสาร รวมถึงรายการโทรทัศน์และสื่อใหม่ (new media) ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ และในอนาคตอาจจะได้เห็นซิงเสียนเยอะเป้าออกไปวางขายในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือร่วมทุนกับหนานฟางเพื่อตั้งกิจการสื่อจีนในประเทศเพื่อนบ้าน
“ผมเชื่อว่าโอกาสจาก AEC จะทำให้มีจำนวนคนที่ใช้ภาษาจีนเข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ของเรา คือนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับเมืองไทย และคนต่างชาติที่เรียนภาษาจีน ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ทอมมี่กล่าว
ทั้งนี้ หวงเสี่ยวตง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทหนานฟางมีเดีย กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า หลังจากที่หัวเรือใหญ่ของซิงเสียนเยอะเป้าชักชวนให้ร่วมทุน เขามีความสนใจทันที ส่วนหนึ่งเพราะประวัติศาสตร์และการปรับใช้อักษรจีนแบบย่อ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือ การที่กลุ่มธุรกิจจีนและนักท่องเที่ยวคนจีนที่ให้ความสนใจเมืองไทยมากขึ้น โดยเขามองว่าในอนาคต เขาอาจนำซิงเสียนเยอะเป้าไปขายในจีนด้วย
ปัจจุบันกลุ่มหนานฟางถือหุ้นในซิงเสียนเยอะเป้า 20% โดยตั้งเพดานไว้ที่ 30% โดยทอมมี่กล่าวว่าอาจจะมีการเพิ่มทุนอีกครั้งในปีหน้า เพื่อผลักดันบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยก่อนหน้านี้มีคู่แข่งสำคัญอย่าง “ตงฮั้ว” หนังสือพิมพ์จีนรายวันอายุกว่า 40 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ไปก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือ วิชัย ทองแตง
ไม่เพียงธุรกิจสื่อ กลุ่มหนานฟางยังมีธุรกิจตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ กิจการธนาคารและการเงิน และธุรกิจผลิตหนังสั้นให้กับสถานีโทรทัศน์ในเมืองจีน
บางทีขณะที่เรากำลังจับตาดูความเติบโตของซิงเสียนเยอะเป้าอย่างใกล้ชิด เราอาจได้เห็นความร่วมมือระหว่างหนานฟางและ “เตชะอุบล” ในธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งนักธุรกิจจีนให้ความสนใจลงทุนในเมืองไทยเป็นของแถมก็ได้